หลังจากที่งงกันอยู่สักพักว่าไอศกรีม “ไผ่ทอง” ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นของจริงหรือเปล่า วันนี้เราได้สรุปเหตุการณ์ดราม่าที่เกิดขึ้นมาให้แล้ว
สืบเนื่องจากดราม่าว่าไอศกรีมไผ่ทองที่เรากินกันอยู่นั้น เป็นของจริงหรือปลอม จากโพสต์บนเฟซบุ๊กของเพจ “ไผ่ทองไอสครีม” ที่อ้างว่าไอศกรีมไผ่ทองของแท้ โลโก้จะไม่มีรูปต้นไผ่ และใช้ ส.เสือ ในคำว่า ไอสครีม ซึ่งโลโก้แบบเก่าที่มีรูปต้นไผ่และใช้ ศ. ศาลานั้น เป็นการแอบอ้าง โดยสรุปใจความได้ดังนี้
- 2526 เริ่มขายไอศกรีม “ไผ่ทอง” ครั้งแรก ด้วยสูตรต้นตำรับจากอาม่าน้ายเฮียง แซ่ซี โดยยังใช้โลโก้แบบเก่าอยู่
- 2541 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไผ่ทองซีกิมเช็ง จดทะเบียนด้วยชื่อ “ไผ่ทองไอสครีม” โดยมีหุ้นส่วนเป็นเจ้าของเดิมรวมถึงอาม่าด้วย
- 2542 ไผ่ทองไอสครีม เปลี่ยนโลโก้จากเดิมที่มีต้นไผ่ เนื่องจากไปซ้ำกับแบรนด์น้ำปลาแบรนด์หนึ่ง โดยปรับให้สระไอในชื่อแบรนด์มีลักษณะเหมือนต้นไผ่แทน
- 2546 บริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด จดทะเบียนในชื่อ “ไอศครีมไผ่ทอง” โดยเจ้าของเป็นพี่น้องกับอีกบริษัท ซึ่งยังคงผลิตไอศกรีมอยู่ที่โรงงานเดิม แและใช้โลโก้แบบเก่าที่มีต้นไผ่
- 2561 เกิดดราม่ายกใหญ่ที่ทำให้เรางงไปตามๆ กันว่าไอศกรีมที่เรากินกันอยู่นี่มันจริงหรือปลอม เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “ไผ่ทองไอสครีม” (ไม่มีต้นไผ่) โพสต์แจ้งว่าไอศกรีมของไผ่ทองของแท้จะต้องใช้โลโก้แบบในเพจเท่านั้น หากโลโก้เป็นรูปต้นไผ่คือของปลอม พร้อมแนบหนังสือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซะด้วย
นอกจากการแย่งชิงแบรนด์ระหว่างคนในครอบครัวกันเองแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สงครามไอศกรีมรถเข็นนี้ มีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทเลยทีเดียว
สรุปแล้วอันไหนของจริงหรือของปลอมก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะมาจากต้นกำเนิดเดียวกันทั้งคู่ แต่งานนี้แบรนด์ไหนจะได้ใจลูกค้าไปต่อจากนี้ ก็คงต้องตัดสินที่รสชาติกันอีกทีนะ