Mango Zero

#loveislove พาไปส่องกฎหมายเกี่ยวกับ LGBT ใน 9 ประเทศทั่วโลก

ทุกวันนี้ LGBT เป็นอีกหนึ่งกระแสที่มาแรงในบ้านเราและทั่วทุกมุมโลก ด้วยความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพทางเพศ ทำให้สิทธิทางกฎหมายต่างๆ ถูกยกขึ้นมาสนับสนุน หลายประเทศเริ่มหันมาตระหนักถึงประเด็นนี้ หลายประเทศมีการแก้ไขและบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้อย่างจริงจังมานานหลาย 10 ปี วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับ LGBT ที่น่าสนใจจาก 9 ประเทศทั่วโลกกันจ้า

ไทย

บ้านเราถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดกว้างให้กับชาว LGBT พอสมควร เห็นได้ว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดให้นิสิตนักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศที่ตนต้องการได้ ทั้งในตอนมาเรียนและตอนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร และที่เพิ่งมีข่าวกันไปหมาดๆ เลยสำหรับพ.ร.บ. คู่ชีวิต ข้อกฎหมายที่ว่าด้วยการอยู่กินอย่างถูกกฎหมายของคนที่เป็น LGBT และการได้รับสิทธิตามกฎหมายแบบเดียวกับคู่ชายหญิง โดยหลังจากที่ในปี 2561 ที่ผ่านมา บ้านเราได้มีการผลักดันกฎหมายดังกล่าวจนล่าสุดพ.ร.บ. คู่ชีวิตก็ผ่านการเห็นชอบแล้วเรียบร้อย

แม้ว่าจะยังมีข้อสังเกตก็คือกฎหมายนี้ไม่ได้ให้สิทธิกับคู่รัก LGBT แบบ 100% ยังคงมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายอย่างที่ต้องรอการแก้กฎหมายกันต่อไป เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ การรับบุตรบุญธรรม เป็นต้น แต่ก็นับว่าเป็นอีกก้าวของความเท่าเทียมทางเพศของสังคมไทย

สหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่การต่อสู้เรื่องกฎหมายของ LGBT มีมาอย่างยาวนาน  เร่ิมตั้งแต่ประมาณปีค.ศ. 1970 ที่ในคำตัดสินคดีเกี่ยวกับ LGBT นั้นยังคงเป็นความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในตอนนั้นเกิดการประท้วงของชาวเกย์ภายหลังการเข้าบุกค้น Stonewell Inn ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเริ่มอย่างยิ่งใหญ่ของ Pride ในสหรัฐฯ ตอกย้ำด้วยการที่ผลสำรวจในปี 2011 เผยว่าชาวอเมริกันเกินครึ่งสนับสนุนให้การรักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย จนทำให้เกิดการสนับสนุนในเรื่องนี้ตามมาและมีกฎหมายสมรสเพศเดียวกันออกมาในปี 2012 ยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

เยอรมนี

มาที่ฝั่งยุโรปกันบ้าง เยอรมนีเป็นประเทศที่ 27 ของโลกที่ LGBT สามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยนับว่าเป็นอีกประเทศน้องใหม่ เนื่องจากเพิ่งมีการผ่านร่างกฎหมายไปเมื่อ 2 ปีก่อน โดยคู่สมรสเพศเดียวกันสามารถมีสิทธิตามกฎหมายเทียบเท่ากับคู่สมรสต่างเพศ

สหราชอาณาจักร

ที่สหราชอาณาจักรโดยเฉพาะอังกฤษและเวลส์ การเคลื่อนไหวของ LGBT ค่อนข้างจะคึกคัก จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายอยู่หลายฉบับที่สนับสนุนและให้ความเท่าเทียมแก่ชาว LGBT แถมในทุกๆ ปียังมีเทศกาลสำคัญอย่าง Pride London ที่จัดมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี เป็นการเฉลิมฉลองให้กับการรักเพศเดียวกันโดยถูกกฎหมาย

สเปน

หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว ในการประกวด Miss Universe 2018 แองเจล่า พอนซ์ ที่เป็น ผู้เข้าประดวกจากสเปน ซึ่งเป็น Transgender คนแรกของเวทีจักรวาลแห่งนี้ ได้เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการถอดสายสะพายพร้อมด้วยวลีเด็ดที่ว่า “ฉันไม่ได้มาในฐานะตัวแทนสเปน แต่ฉันมาในฐานะตัวแทนของมนุษยชาติ” นั่นทำให้เราต้องไปเปิดดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับ LGBT ของสเปน และแน่นอนว่าสเปนนั้นเปิดกว้างให้กับเพศที่หลากหลาย โดยที่นี่เปิดให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้มาตั้งแต่ปี 2547 หรือประมาณ 14 ปีที่แล้ว

ไต้หวัน

ไต้หวันนับว่าเป็นประเทศที่เอื้อต่อ LGBT มากที่สุดในเอเชียเลยก็ว่าได้ เพราะประชากรกว่า 80% ค่อนข้างเปิดกว้าง แต่ไม่นานมานี้ ได้มีการตัดสินโดยศาลว่าจะออกกฎหมายให้คู่รัก LGBT สามารถแต่งงานกันได้ ในทางกลับกัน กฎหมายนี้กลับถูกคัดค้านโดยเสียงส่วนใหญ่ของชาวอนุรักษ์นิยมชาวไต้หวัน นั่นทำให้แม้ว่ากฎหมายนี้จะยังดำเนินต่อตามคำสั่งของศาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ คือยังให้คู่รัก LGBT แต่งงานกันได้ แต่ก็อาจจะมีผลบังคับใช้ช้ากว่ากำหนดเดิมคือปีเดือนพ.ค. ปีนี้

เกาหลีใต้

เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ แม้ว่าเกาหลีในสายตาชาวต่างชาติ ดูเหมือนว่าจะมีการเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเพศอยู่พอสมควร ทั้งจากภาพลักษณ์ของไอดอล นักแสดง หรือนักร้องในวงการบันเทิงเกาหลีบางคนที่ไม่ได้ยึดติดในความเป็นหญิงหรือชาย (Androgynous) แต่เมื่อมองไปถึงข้อกฎหมายของประเทศแล้ว กฎหมายส่วนใหญ่นั้นยังไม่ได้ยอมรับการรักเพศเดียวกันสักเท่าไหร่ นั่นทำให้ชาว LGBT ในประเทศนี้มักไม่มีการเปิดเผยตัวตนกันมากนัก

ญี่ปุ่น

แม้ว่าสังคมญี่ปุ่นจะไม่ได้เป็นมิตรต่อ LGBT มากนัก แต่เมื่อมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่นี่นับว่ามีพัฒนาการต่อความเท่าเทียมกันทางเพศที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนคำระบุเพศจากชายเป็นหญิงในทะเบียนบ้านเป็นครั้งแรก และต่อมาในปี 2561 โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นก็ได้เปิดให้นักเรียนสามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบตามรสนิยมเพศของตัวเองได้

อินเดีย

เฉลิมฉลองไปแล้วอย่างยื่งใหญ่เมื่อกลางปีที่แล้ว เมื่ออินเดียได้ประกาศยกเลิกกฎหมายห้ามรักคนเพศเดียวกันที่มีโทษจำคุกนานถึง 10 ปี และเคยบังคับใช้มานานถึง 157 ปี โดยหลังจากนี้ให้ถือว่าการร่วมเพศระหว่างคนเพศเดียวกันไม่ถือเป็นอาชญากรรมอีกต่อไป เป็นอีกก้าวที่น่ายินดีของอินเดียที่สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีมากขึ้น

ที่มา : LGBTThai, Workpoint, MGRonline, wikipedia, BBC Thai