“วินมอเตอร์ไซค์” หรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่า พี่วิน ตำนานแห่งความเร็วที่มีชีวิต ม้าเร็วที่พาเราไปส่งทันในเวลาที่เร่งรีบเสมอ พอนึกถึงทีไรก็จะได้ยินเสียงเรียก ที่มาพร้อมกับท่าทางการเรียกพี่วิน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคนลอยมาเสมอ แต่เคยสังเกต หรือสงสัยกันไหมว่า คำนี้มีความเป็นมาอย่างไร และกลายมาเป็นคำเรียกผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะในบ้านเราได้อย่างไร Mango Zero ขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับวินมอเตอร์ไซค์ให้มากขึ้น พร้อมเกร็ดสาระเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณอาจคาดไม่ถึง! ‘วิน’ คืออะไร ทำไมจึงกลายมาเป็นคำนี้? เดิมทีแล้ว วิน เป็นคำทับศัพท์เดิมมาจาก ‘Win’ ซึ่งหมายถึงชัยชนะตามความหมายภาษาอังกฤษทั่วไป แต่การนำมาใช้กับบริการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะนั้น เกิดมาจากความคิดเชิงเปรียบเทียบว่าการที่ผู้ขี่รถรับจ้าง จะต้องจอดรถรอรับผู้โดยสารเรียงตามลำดับการมาถึงก่อน – หลัง และลูกค้าก็ต้องเข้ารับบริการรถรับจ้างจากคันที่มาถึงก่อนแรกสุดในขณะนั้น ซึ่งการจอดรถรอรับผู้โดยสารตามลำดับการมาถึงนี้ เปรียบได้เหมือนกับการแข่งขันวิ่งหรือการแข่งขันต่าง ๆ ที่มีการจัดรางวัลชัยชนะตามอันดับการเข้าถึงเส้นชัย ซึ่งก็คือ ‘เข้าวิน (Win)’ แต่หากแปลงกลับมาเป็นคำอังกฤษอีกรอบ วินในที่นี้จะคล้ายเป็น ‘คิว (Queue)’ เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วคำว่า วิน ที่คนไทยเราเรียกกัน จะหมายถึง ‘สถานที่’ ซึ่งผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างหรือรถตู้โดยสารนำรถมาจอดคอยผู้โดยสารตามลำดับนั่นเอง เสื้อวินประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? ในเสื้อผู้ขับวินมอเตอร์ไซค์นั้น มีองค์ประกอบการทำเสื้อ ดังนี้ – หมายเลขคิววิน – ใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ซึ่งจะมีแนบเอกสารไว้ในเสื้อทั้งด้านหน้าและด้านหลัง – ชื่อสังกัดวินและเขตขับขี่ เช่น วิน Mango Zero เขตปทุมวัน และเกร็ดอีกอย่างคือ ป้ายทะเบียนขับขี่ต้องตรงกับเลขบนเลขบนใบอนุญาตขับขี่ด้วยนะ! แล้ววินที่ถูกกฎหมายจะต้องมีอะไรบ้างล่ะ? ผู้ขับขี่วินฯ จะต้องมีเอกสาร ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ที่ไม่หมดอายุ) และต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ ผ่านการบันทึกข้อมูลลงในศูนย์ข้อมูลและศูนย์ประวัติของผู้ขับรถสาธารณะ ประเทศไหนบ้างที่มีวิน? ประเทศในเอเชียเราที่มีวินมอเตอร์ไซค์นั้นมีหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย เพียงแต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีเสื้อวินเจ๋ง ๆ อย่างประเทศไทยบ้านเราเท่านั้นเอง อัตราค่าโดยสารวินมอเตอร์ไซค์ตามกฎหมาย อัตราค่าโดยสารของวินมอเตอร์ไซค์นั้นคิดจากระยะทางความห่างระหว่างจุดหมายปลายทางกับสถานที่วิน ซึ่งมีเกณฑ์คำนวณค่าเดินทางดังนี้ ระยะทาง : ภายใน 2 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาท ระยะทาง : 3 – 5 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสารกิโลเมตรละไม่เกิน 5 บาท ระยะทาง : 5 – 15 กิโลเมตร อัตราค่าโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท ระยะทาง : ตั้งแต่ 15 กิโลเมตรขึ้นไป อัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามที่กำหนดกันไว้ หรือต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท ข้อห้ามสำคัญเกี่ยวกับเสื้อวิน ห้าม! ปล่อยเช่า ห้าม! ซื้อ – ขาย ห้าม! ส่งต่อให้ผู้อื่นหรือสืบทายาท ห้าม! พิมพ์เลขเพิ่มจำนวนวิน ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเสื้อวินมอเตอร์ไซค์สุดเจ๋งที่มีแค่ในไทยแบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมวินมอเตอร์ไซค์ยังคงเป็นบริการรถรับจ้างที่เป็นที่นิยมจนถึงในทุกวันนี้ เพราะทั้งเข้าถึงง่าย รวดเร็วและเป็นกันเองแบบนี้นี่เอง