กลับมาแล้วกับเทศกาลปล่อยผี หรือที่เรียกกันว่า Halloween นั่นเอง ใครหลายๆ คนคงตั้งตารอและตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสประสบการณ์หลอนที่ทางสถานที่ต่างๆ จัดตกแต่งไว้ให้เยี่ยมชม หรือสนุกไปกับการแต่งตัวเป็นเหล่าโกสสุดเก๋ แต่อย่าลืมว่า ยังมีคนอีกกลุ่มนึงที่บอกเลยว่า “สนุกมากมั้ยที่ปล่อยผี แต่คนที่กลัว ไม่ สนุกด้วย” คนชอบเรื่องผีมีมากมายฉันท์ใด คนกลัวผีก็มีมากมายไม่แพ้กัน ทั้งๆ ที่บางทีเราก็ไม่ได้เห็นหรือสัมผัสได้จริงๆ เสียด้วยซ้ำ เป็นเพียงแค่การได้รับสารบางอย่างจนทำให้เกิดความกลัว หรือคิดมากไปเองจนบางครั้งก็จิตตกถึงขั้นเก็บไปหลอนเป็นวันๆ แล้วเพราะอะไรล่ะ ทำไม๊ทำไม หลายๆ คนถึงกลัวผี วันนี้ ! แมงโก้ มีคำตอบ จากงานวิจัยสู่เหตุผลของความกลัว ถ้าพูดลอยๆ อาจจะดูไม่มีที่มาที่ไปมากนัก เราจึงขออ้างอิงถึงวิจัยที่ได้ทำการรวบรวมไว้แบบง่ายๆ ก่อนสำหรับ “อาการกลัวผี” นั้น มีงานวิจัย 2 ชิ้นที่น่าสนใจ นั่นคือ ทฤษฎี ‘Freud’s Uncanny Theory’ และ ‘Emotional Anxiety’ ทฤษฎีตั้งต้นอย่าง Freud’s Uncanny Theory เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องลึกลับของนักจิตวิทยาที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักกันดีอย่าง Sigmund Freud (ซิกมันด์ ฟรอยด์) โดยทฤษฎีนี้กล่าวว่า ความกลัวมักจะเกี่ยวข้องกับ “ความเชื่อในวัยเด็ก” ที่เรากดมันเอาไว้ปิดกั้นความกลัวเหล่านั้น เพราะความหวาดกลัวฝังลึกเอาไว้ และนำไปสู่ความกลัวในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอีกงานวิจัยหนึ่งที่มารองรับเพิ่มเติม ของ Gill & Burow ในปี 2017 กล่าวถึงเรื่องของสิ่งลี้ลับเหล่านี้เรียกว่า ‘Emotional Anxiety’ คือ ความวิตกกังวลทางอารมณ์ มีความสัมพันธ์ทางใกล้ชิดกับความกลัว ซึ่งเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการรับรู้ถึงภัยคุกคามที่มนุษย์เหนือควบคุมได้ หรือก็คือความวิตกกังวลทางอารมณ์เนื่องจากไม่สามารถควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง ซึ่งโดยสรุปจากการวิจัยระบุเหมือนกันไว้ว่า “ความกลัวเป็นเหตุ” หรือ “Psychology of Fear” ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ ความกลัวทางร่างกาย เกิดจากความกลัวทางร่างกาย หรือ Fear in the body ความกลัวลักษณะนี้เกิดจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนต่อสิ่งที่เราหวาดกลัว ซึ่งสงผลอาการทางร่างกายและความกังวล โดยนักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ มองว่าความกลัวเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อภัยคุกคามเพื่อปกป้องตัวเองจากอันตราย ความกลัวทางจิตใจ เกิดจากความกลัวในใจ หรือ Fear in the mind ตัวอย่างนี้จะคล้ายกับทฤษฎีของ Freud’s Uncanny ที่ความกลัวในใจยังคงกัดกินในวัยเด็ก ต่อให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เราก็ยังกลัวอยู่ดี แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรามีเหตุและผลรองรับต่อความกลัวในแต่ละเรื่อง ความกลัวทางพฤติกรรม ความกลัวในพฤติกรรม หรือ Fear in the behavior ความกลัวลักษณะนี้เกิดมาจากการเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม เราจะพยายามปรับตัว โดยปฏิกิริยาของร่างกายเราจะต่อต้านโดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นกลไกการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อช่วยให้เรารอดชีวิตจากอันตราย แล้วทำไมคนกลัวผีถึงชอบดู/ฟังเรื่องผี สังเกตไหมว่า ใครหลายๆ คนที่แม้จะกลัวผีจนขึ้นสมอง แต่ก็ยังชอบที่จะฟังหรือดูเรื่องผีอยู่ตลอด นั่นก็เพราะว่า เรื่องผีที่สร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะมีเอกลักษณ์ที่เห็นได้นั่นคือ การเล่าเรื่องราวด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ดึงความสนใจ คอยบิลด์อารมณ์ให้ผู้คนเคลือบแคลสงสัยและเกิดความกลัวเข้ามาในจิตใจทีละเล็กละน้อย จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงไคลแม็กซ์และจบด้วยการเฉลยเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความระทึกจนส่งผลให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนออกมา รวมไปถึงกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความเครียดอย่าง คอร์ติซอลให้ทำงาน เมื่อถึงจุดคลี่คลายของเรื่องจึงรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาทันที และถูกแทนที่ด้วยสารแห่งความสุขอย่างโดพามีนและเอ็นโดรฟิน แต่นอกจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยังรวมไปถึงอีกเหตุผลนั่นคือ “การเผชิญความกลัว” เพราะเหมือนเป็นการจำลองสถานการณ์ให้เราเผชิญกับความกลัวที่ยังรู้สึกปลอดภัย เรารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเพียงการดูหรือฟังอยู่เท่านั้น ไม่สามารถทำอันตรายเราได้ ซึ่งพอผ่านเรื่องราวไปก็เหมือนทำให้เรารู้สึกว่าเราเอาชนะความกลัวตรงนั้นได้ เสมือนการฝึกร่างกายให้พร้อมรับมือกับภัยอันตรายทางอ้อมนั่นเอง โรคกลัวผีมีจริงไหม ? จากงานวิจัยด้านจิตวิทยา คนไข้ที่กลัวผีหลายๆ คนนั้นเกิดมาจากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือ ความกลัวที่เกิดจากวัยเด็ก จนทำให้พัฒนาส่งผลถึงความรู้สึกในปัจจุบัน ซึ่งในบางครั้งความกลัวเหล่านี้ก็มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันจริงๆ จนต้องได้รับการบำบัดเพื่อให้สามารถควบคุมความรู้สึกได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะทางร่างกายอื่นๆ ที่จะทำให้เราอาจมองเห็นสิ่งประหลาดๆ ได้ เช่น ภาวะสมองขาดออกซิเจน หรือการอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เห็นภาพหลอน และอีกเหตุผลที่อาจเป็นไปได้คือเรื่องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เกิดเสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดภาพหลอน หรือได้ยินเสียงแปลกๆ ซึ่งเป็นผลกระทบที่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งสิ้ ดังนั้นโดยสรุปแล้ว อาการกลัวผี ก็เหมือนภาวะหนึ่งทางอารมณ์ที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากความทรงจำ หรือการถูกปลูกฝังว่าสิ่งที่พบเจอนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวจนต้องกดความรู้สึกนั้นไว้ในส่วนลึก ทั้งที่จริงแล้ว ความกลัวนั้นไม่ได้หายไปไหน ซ้ำยังทำให้มีความรู้สึกกลัวมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเผชิญกับความกลัวที่ถูกกดไว้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่คนคิดว่ามันคือเรื่องลี้ลับ ก็ถูกพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่หลายๆ คนก็ยังคงรู้สึกกลัว และเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นอยู่ จนนำไปสู่ความเชื่อต่างๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องภูตผีปีศาจ บ้างก็ศรัทธาบูชา บ้างก็เกรงกลัวและหาเครื่องรางมาป้องกัน ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นแล้วแต่วิจารณญาณส่วนบุคคล ที่มีมุมมองในความเชื่อนั้นแตกต่างกันออกไปนั่นเอง อ้างอิง : thestandard creativetalk step.cmu