ทำไมคนเราต้องมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent)

Writer : Patta.pond

: 1 กันยายน 2563

ทักษะที่สำคัญและมีความจำเป็นในยุคนี้ ไม่ใช่ความรู้เฉพาะด้านแต่อย่างใด แต่เป็นทักษะทางอารมณ์ หรือที่เราเรียกกันว่า Soft skill ซึ่งเป็นทักษะในการเข้าสังคมต่างๆ ที่เราคยได้ยินกันบ่อยๆ นั่นเอง ดังนั้นคราวนี้เราจะมาพูดถึงอีกหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นต้นเหตุของ Soft Skill นั่นก็คือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือ EQ กันบ้าง ทำไมเจ้าสิ่งนี้ถึงสำคัญ และต้องทำอย่างไรจึงจะได้มันมา

ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) หรือ EQ คือความสามารถในการเรียนรู้ เข้าใจ และควบคุมอารมณ์ของตัวเองในการบรรเทาความเครียด สื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ หรือรับมือกับเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างมีสติ และไม่ตื่นตระหนก ทำให้ผลลัพธ์ออกมาในทางที่ดี

การใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข คือการทำงานร่วมกันอย่างกลมกล่อมระหว่างการทำงานแบบใช้ทักษะเฉพาะด้านอย่าง IQ และการควบคุมอารมณ์ในการสื่อสารและตัดสินใจอย่าง EQ นั่นเอง

ประเภทของ EQ

การรู้จักตน (Self-Awareness)

เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของ EQ นั่นก็คือการรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ โกรธ เศร้า ไม่พอใจ หงุดหงิดเพราะตัวเอง หรือคนอื่น รวมไปถึงสิ่งที่แสดงออกมาระหว่างที่เกิดอารมณ์ดังกล่าวอยู่ หากเรารู้สาเหตุที่แน่ชัด ก็จะง่ายต่อการจัดการอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถรับมือได้ และเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองนั่นเอง

การรู้จักตัวเอง แบ่งเป็นสองด้าน คือการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง และความเชื่อมั่นในตัวเอง

การกำกับตัวเอง (Self- Regulation)

เรามักสูญเสียการควบคุมตัวเองเมื่อเจอเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งหากไม่สามารถจัดการในระยะยาวได้ อาจส่งผลต่อการเกิดสารเคมีที่ผิดปกติในสมอง อาทิ โรคซึมเศร้า หรือโรคตื่นตระหนก ดังนั้นหากเรามีการกำกับตัวเองที่ดี ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

การกำกับตัวเอง ประกอบไปด้วย การควบคุมอารมณ์ ความไว้วางใจ การปรับตัวในที่ต่างๆ และความยืดหยุ่นที่ไม่ยึดติด

การรู้จักสังคม (Social Awareness)

การรู้จักสังคมในที่นี้ คือความสามารถในการอ่านสถานการณ์ของวงสนทนา การรับมือกับคู่สนทนาใหม่ที่อาจเข้า หรือไม่เข้ากับเรา รวมไปถึงการรับฟังอย่างเข้าใจ และรับรู้ถึงวิธีอยู่ในสังคมต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน

การจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management)

ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ขนาดเล็กอย่างคนรักหรือครอบครัวเท่านั้นที่ต้องจัดการ แต่ยังหมายถึงทีมงาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างที่เรารู้จัก ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และเป็นแหล่งพลังงานบวก รวมไปถึงสามารถจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีสติและคิดถึงทุกคน

วิธีการเพิ่มทักษะ EQ

หลังจากรู้ว่า EQ มีรูปแบบไหนแล้ว มาดูกันว่า วิธีการเพิ่มทักษะในแต่ละด้านมีอะไรบ้าง

เพิ่มทักษะการควบคุมตัวเอง

อารมณ์ เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญที่บอกความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น หรือแม้แต่กับตัวเอง ลองนึกถึงตอนที่ตัวเองมีความโกรธพุ่งปรี๊ด หรือเสียใจมากอย่างควบคุมไม่ได้จนต้องฟูมฟายออกมา สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรารู้เท่าทันตัวเอง และสามารถรับมือกับมันได้

ดังนั้น ในทุกครั้งก่อนจะลงมือทำอะไรเพื่อตอบโต้ ค่อยๆ จัดการกับทุกความรู้สึกที่เข้ามา ทั้งจากคนอื่นและตัวเอง ในช่วงแรกๆ อาจรู้สึกขัดใจและทำได้ยาก แต่อีกไม่นานจะรู้สึกคุ้นเคย และสามารถพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้

เพิ่มทักษะการรู้จักตัวเอง

การควบคุมความเครียดเป็นเพียงก้าวแรกในการสร้าง EQ มีงานวิจัยกล่าวว่าการโต้ตอบด้วยอารมณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มาจากประสบการณ์ที่ถูกสั่งสมจากอดีต ดังนั้นถ้าเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะทำให้ EQ ของเราแข็งแรงและรับมือได้ถูกต้อง

เพื่อที่จะสามารถเชื่อมต่อกับความรู้สึกของตัวเอง ต้องรู้เท่าทันทุกความรู้สึกว่าตัวเองกำลังคิดและรู้สึกอย่างไรอยู่ สังเกตตั้งแต่ความรู้สึกเริ่มเกิดขึ้น สาเหตุที่เกิด และทำอย่างไรความรู้สึกนั้นจึงจะหายไป ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้เพื่อรู้จักตัวเองมากขึ้น

เราสามารถรับมือกับความรู้สึกที่คิดว่าหนักและท่วมท้นได้หรือไม่

ความรู้สึกนั้นดึงความสนใจเราจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ และคนอื่นรับรู้ได้ถึงความรู้สึกนั้นหรือไม่

เราสามารถให้คำจำกัดความกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

เป็นความรู้สึก เศร้า เหงา โกรธ ตะขิดตะขวงใจ หรือหากเป็นความรู้สึกที่หลากหลาย มีอะไรปะปนอยู่บ้าง

ความรู้สึกนั้นส่งผลอะไรต่อร่างกายเราบ้าง

อึดอัดซะจนหายใจไม่ออก มวลความโกรธแล่นพล่านไปทั่วร่าง หรือดีใจจนน้ำตาคลอ สังเกตอาการเหล่านี้และหาทางควบคุมไม่ให้เป็นมากจนเกินไป

เพิ่มทักษะการเข้าสังคม

ความสามารถในการเข้าสังคม คือการที่เราสามารถแปลความหมายท่าทางในวงสนทนา เดามวลอารมณ์คนส่วนใหญ่ในกลุ่ม รวมไปถึงการมีบทสนทนาที่กลมกลืนกันได้นั่นเอง

เพื่อสร้างทักษะในการเข้าสังคม ต้องมีความช่างสังเกตและมีสมาธิ เพราะหากเรามัวแต่ง่วนอยู่กับความคิดตัวเอง อาจทำให้ไม่รู้ว่าเพื่อนๆ มีบทสนทนาถึงไหนกันแล้วบ้าง ที่สำคัญเลยคือหากอีกฝ่ายกำลังพูดคุยกับเราอยู่ ควรรับฟังอย่างตั้งใจ และไม่แบ่งความสนใจไปกับสิ่งอื่นอย่างเล่นโทรศัพท์ หรือเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์อื่นๆ

เพิ่มทักษะการจัดการความสัมพันธ์

การจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี เริ่มจากการเข้าใจในความรู้สึกของคนรอบตัว เมื่อเริ่มต้นจับจุดความรู้สึกของคนอื่นๆ ได้ ก็จะง่ายต่อการพูดคุย และพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

สื่อสารด้วยท่าทางอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จะฝืนกล้ามเนื้อบนใบหน้าให้เรียบตึงสักแค่ไหน หรือเก็บไม้เก็บมือให้อยู่นิ่งเพียงใด ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสื่อสารกับคนอื่นโดยหลีกเลี่ยงการแสดงท่าทางที่สื่อถึงการคิดและการพูด ลองฝึกท่าทางการสื่อสารที่ถูกต้องหน้ากระจก ไม่ว่าจะเป็นสีหน้ายิ้มแย้ม เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย เพื่อการสนทนาที่ราบรื่นขึ้น

ใช้อารมณ์ขันเข้าช่วย

“คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง” แม้จะไม่รู้ว่าใครเป็นคนกล่าวคำนี้ แต่ก็เห็นคล้อยตามได้ไม่ยาก ผู้ที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนรอบตัว มักเป็นดาวเด่นในงานเลี้ยง และถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนเสมอ เสียงหัวเราะช่วยลดความเครียด เปลี่ยนบรรยากาศให้สดใส และทำให้เรามีเมตตามากขึ้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ทริคนี้กับการทำความรู้จักคนใหม่

ที่มา: psychcentral, helpguid

 

 

 

Writer Profile : Patta.pond
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save