ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงนี้วงการเหรียญคริปโตในบ้านเราคึกคักเป็นพิเศษ และแน่นอนว่า วงการ NFT หรือ Non-Fungible Token ก็เรียกว่ากำลังมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนก็เริ่มสนใจที่จะมาทำเงินกับ NFT กันมากขึ้น เพราะฉะนั้นวันนี้ ทีม MangoZero จะขอมาเล่าและอธิบายแบบคร่าวๆ ว่า เจ้า NFT คืออะไร ทำไมคนถึงสนใจ และถ้าจะหันมาลงทุนสายนี้ ควรเตรียมตัวอะไรยังไงบ้าง ไปดูกันได้เลยครับผม ทำความรู้จักกับ NFT กันก่อน ก่อนที่จะเริ่มต้นมาแจมวงการ NFT กัน ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักและเข้าใจกันก่อนว่า NFT ที่ว่าเนี่ย คืออะไรกันแน่ฮะ NFT หรือ Non-Fungible Token คือ Cryptocurrency ประเภทหนึ่งบน Blockchain ที่มีหน้าที่แสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพท์ดิจิตัล ซึ่ง NFT แต่ละชิ้นก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวมากๆ และแตกต่างจากเหรียญคริปโตอื่นๆ ถ้าจะให้อธิบายให้ลึกกว่านี้อีกนิดนึงก็คือ สมมติว่าเรามีสมุดจดเล่มหนึ่ง แล้วเพื่อนมายืมสมุดเล่มนี้ไป ก็ต้องเอาเล่มนี้กลับคืนมา จะเอาเล่มอื่นมาคืนก็ไม่ได้ เพราะว่าถึงจะเอาเล่มใหม่มาคืน แต่ก็ไม่ใช่เล่มเดิมที่เป็นของเรานั่นเอง ซึ่งหลายๆ คนก็น่าจะคุ้นเคยเวลาเห็นครีเอเตอร์สายวาดมาลงงานขายกันบ่อยๆ ในช่วงนี้ โดยลักษณะการซื้อ-ขาย งาน NFT จะเป็นรูปที่เราเอาเหรียญ หรือ Token ต่างๆ มาซื้อผลงาน NFT ชิ้นนั้นๆ ซึ่ง ส่วนมากจะใช้เหรียญ ETH กันเป็นหลักๆ ซึ่งเจ้า NFT จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถระบุได้ว่าชิ้นงานที่ถูกอัปให้คนมาซื้อ-ขาย-ประมูลกัน มีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยที่จะใช้เหรียญคริปโตอะไรมาซื้อ-ขาย-ประมูล-เทรด ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและความพึงพอใจของเจ้าของผลงาน และโดยส่วนใหญ่เท่าที่เห็นก็มักจะใช้เหรียญ Ethereum หรือ ETH (ซึ่ง ณ ตอนที่เขียน 1 ETH มีมูลค่าประมาณ 3,900 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 126,740 บาทไทย (อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2564 ตอน 20.33 น.(เทียบค่าเงินจาก Google) NFT ไม่ได้มีแค่งานวาดเท่านั้น หลายๆ คนอาจจะมองว่า วงการ NFT นั่นมีแค่งานศิลปะอย่างเดียวจริงๆ เหรอ เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่นักวาด ครีเอเตอร์ที่ทำงานที่เกี่ยวกับกราฟิกมาลงผลงานใน NFT กันเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเว็บ foundation.app หรือ opensea.io แต่จริงๆ แล้ว NFT ถูกใช้งานกันอย่างกว้างขวางกว่านั้นเยอะเลย อ้างอิงจากเว็บ opensea.io หนึ่งในเว็บไซต์ที่ชาว NFT ทั้งครีเอเตอร์และคอลเลกเตอร์ (ผู้สะสม) ให้ความสนใจมากๆ อีกเว็บหนึ่งบนโลกนี้ มีหมวดหมู่ในส่วน Marketplace ที่แบ่งเป็น Art (งานศิลปะ), Music (เพลง), Domain Names, Virtual Worlds, Trading Cards, Collectibles, Sports, และ Utilliy ยกตัวอย่างเช่น เกม The Sandbox ถ้าใครอยากสร้างเมืองในฝันบนโลกเสมือน ก็อาจจะต้องเริ่มต้นจากการหาซื้อพื้นที่ของเกม ซึ่งหาได้ในเว็บ opensea.io โดยที่พื้นที่ที่ขายกันในเว็บนี้ ใช้เหรียญ ETH ในการซื้อ-ขาย ซึ่งไม่ใช่แค่ที่ดิ แต่ยังรวมถึงของต่างๆ ที่จะเอามาตกแต่งเมืองของคุณ ก็สามารถหาในนี้ได้เช่นกัน หรือถ้าใครเป็นสาย Trading Card หรือ ชอบสะสมการ์ดต่างๆ ก็อาจจะซื้อการ์ดมาเปิด มาสะสม และเทรด-ซื้อ-ขาย กัน อย่าง Panini บริษัทชื่อดังที่สายสะสมการ์ดกีฬาน่าจะรู้จักกัน ก็เปิดการ์ด Blockchain ให้ทุกคนได้ซื้อ ได้สะสมกัน ถ้าใครสนใจที่จะแวะเวียนเข้าชมวงการ NFT สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://nonfungible.com/ เว็บไซต์ที่รวบรวมเว็บไซต์ที่มีตลาด NFT ไว้อีกทีนั่นเองฮะ กระเป๋าตังค์คริปโต ของที่ทุกคนควรมี! แน่นอนว่าการจะซื้อขายของกัน ก็ต้องมีกระเป๋าตังค์เป็นของตัวเอง วงการ NFT ก็เช่นกัน เนื่องจากงาน NFT แต่ละชิ้น ส่วนใหญ่จะใช้สกุลเงินปกติมาซื้อ-ขาย-ประมูลไม่ค่อยได้ ส่วนมากจะใช้เหรียญคริปโตฯ กัน ซึ่งเหรียญคริปโตฯ ที่ถือกันของแต่ละคน ก็ไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์ม exchange เพียงแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งปัจจุบันก็มีแพลตฟอร์มทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการมีอยู่ของ Cryptocurrency Wallet หรือกระเป๋าตังค์ดิจิตอลที่เก็บพวกสกุลเงินคริปโต ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเจ้ากระเป๋าใบนี้จะเป็นตัวกลางสำหรับการซื้อ-ขาย-ประมูล-เทรด กับงาน NFT ตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งเว็บใหญ่ๆ อย่าง foundation.app หรือ opensea.io ใช้ Metamask เป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อบัญชีส่วนตัวในเว็บ และการทำธุรกรรมในเว็บด้วย โดยวิธีการเตรียมสมัครกระเป๋าตังค์คริปโตก็คือ ต้องมีบัญชี Exchange เว็บต่างๆ ก่อน เช่น Binance, Bitkub, Zipmex, ฯลฯ และเมื่อมีบัญชีปั๊ป ก็ค่อยไปสมัครกระเป๋าตังค์คริปโตต่อ หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ แปลงเงินจริงเป็นเหรียญคริปโต แล้วเอาเหรียญคริปโตใส่กระเป๋าตังค์ดิจิตอลนั่นเอง และถ้าใครจะถอนเงินก็ทำย้อนกลับ ซึ่งสิ่งที่ควรระมัดระวังและ “ห้ามทำ” โดยเด็ดขาดในการสมัครหรือใช้งาน Crypto Wallet ทั้งหลายแหล่ ก็คือ การก็อปพาสเวิร์ดและ Secret Recovery Phrase หรือชุดคำศัพท์สำหรับกู้บัญชีไว้ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการก็อปไว้ในมือถือ ส่งเมล์เข้าหาตัวเอง หรือกระทั่งการถ่ายรูปเก็บไว้ก็ถือว่าเสี่ยงต่อการโดนแฮคมากๆ ครับ เพราะฉะนั้น วิธีที่ปลอดภัยที่สุด (และทาง Metamask ก็แนะนำไว้ระหว่างในการเปิดบัญชีของ Metamask เอง) ก็คือ การจดใส่ในกระดาษและเก็บไว้กับตัวนั่นเองฮะ (เพิ่มเติม บัญชี Exchange คือบัญชีที่สามารถแปลงสกุลเงินปกติให้กลายเป็นเหรียญในระบบ blockchain เช่น ใช้เงิน 1,000 บาท ไปเติมเหรียญ DOGE เป็นต้น) ค่าแก๊ส (Gas Fee) คืออะไร ทำไมถึงต้องรู้ แน่นอนว่าการซื้อขาย NFT ไม่ได้มีแค่ โยนเหรียญ ETH ลงในกระเป๋าตังค์คริปโต (Metamask) แล้วก็ค่อยไปช้อปปิ้ง NFT ตามเว็บไซต์ก็จบปิ๊ง แต่ว่ายังมีสิ่งที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่เรียกว่า Gas Fee หรือ ค่าแก๊ส นั่นเอง ถามว่าค่าแก๊สสำคัญยังไงกับการซื้อ-ขาย-ประมูล งาน NFT ขนาดไหน ให้ลองจินตนาการว่า ค่าแก๊สที่ว่าก็เหมือนน้ำมันที่ใส่ไว้ในรถยนต์นั่นแหละ เช่น เราจะลงงาน NFT สักแห่ง เราก็ต้องเดินทางเอางานตัวเองไปแปะไว้ในเว็บไซต์เว็บหนึ่ง ซึ่งระหว่างที่เราจะไปที่เว็บไซต์นั้น เราก็ต้องโบกรถยนต์เพื่อขึ้นไปและนั่งกอดงานไปเว็บไซต์นั้น ซึ่งแน่นอนว่า รถจะขยับได้ น้ำมันก็ต้องมี ค่าแก๊สก็จะทำหน้าที่ที่ว่าในการทำให้รถออกเดินทางไปยังปลายทางที่กำหนด ใครใส่เงินค่าแก๊สเยอะ ก็อาจจะไปถึงเร็วขึ้น ใครใส่น้อยก็อาจจะไปถึงช้าหน่อย แต่ถ้าใครใส่ค่าแก๊สน้อยเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดอาการ “แก๊สหมด” รถไม่ขยับต่อและไปไม่ถึงจุดหมายก็เป็นได้ และที่สำคัญ ค่าแก๊สที่เราใส่ไปก่อนหน้าก็ไม่ได้คืนอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ค่าแก๊สก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญในการซื้อ-ขาย-ประมูลในโลก NFT อย่างมาก แล้วต้องหมั่นมาเช็คค่าแก๊สด้วยว่าราคาเป็นยังไง เพราะถ้าเราดันเอางานไปขาย (หรือที่จะรู้จักกันในคำว่า “มิ้นท์” งาน) แต่วันนั้นค่าแก๊สแพงเวอร์ๆ เราก็อาจจะยังไม่ต้องไปก็ได้ รอให้ค่าแก๊สลงมาในราคาที่ตัวเองรับได้ ก็เป็นอันจบจ้า สำหรับใครที่อยากรู้ว่าค่าแก๊สคืออะไรแบบละเอียดขึ้น และ อธิบายแบบเห็นภาพมากๆๆๆๆๆ สามารถตามไปดูได้ที่ลิงก์นี้ >> https://www.youtube.com/watch?v=gCn_1sQtfcg ที่คุณ NotJiam อธิบายไว้ได้เลยจ้า และถ้าใครอยากเช็คว่า ค่าแก๊สตอนนี้เท่าไหร่แล้ว สามารถเข้าไปเช็คได้ที่ >> https://etherscan.io/gastracker ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง NFT ก็เช่นกัน โดยสรุปแล้ววงการ NFT ถ้ามองว่าเป็นโอกาสในการทำเงินก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะว่ายังเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ และหลายๆ คนก็เริ่มหันมาเพิ่มช่องทางการทำเงินและโอกาสต่างๆ ใน NFT มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็อย่าลืมว่า แค่สร้างงานอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ เพราะตลาด NFT มีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะมากๆ ทั้งในแง่ของครีเอเตอร์ผู้สร้างงาน ก็ต้องศึกษาตลา พยายามหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ โปรโมตในช่องทางที่ติดต่อกับคนอื่นได้ง่าย และทำออกมาให้ชัดเจนที่สุด การรักษาเหล่านักสะสมหรือคอลเลกเตอร์ไว้เพื่อเพิ่มโอกาสหรือช่องทางในการลงทุนในอนาคต รวมไปถึงศึกษาเรื่องของลิขสิทธิ์ผลงานต่างๆ ให้ดีมากอีกด้วย กลับกันทางฝั่งนักสะสมหรือคนที่จะลงทุนกับ NFT ก็อาจจะต้องระมัดระวังในทุกๆ การสะสมหรือซื้อด้วยเช่นกัน เพราะบางครั้งอาจจะเจอครีเอเตอร์หน้ามึนบางคนที่แอบเอางานคนอื่นมาขายในเวอร์ชั่น NFT แล้วถ้าเราเผลอซื้อไปก็อาจจะเกิดความเสียหายกกับตัวเองก็เป็นได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็ระวังเรื่องของความปลอดภัยของกระเป๋าตังค์คริปโต หรือ Cryptocurrency Wallet ของตัวเองไว้ให้ดีๆ รวมไปถึงการกดลิงก์ที่ไม่มั่นใจว่ามาจากไหนก็อย่าไปกดมั่วซัวล่ะ จะได้ไม่โดนแฮคแล้วเหรียญในกระเป๋าหายไปหมดด้วย สุดท้ายนี้ ถ้าใครสนใจวงการ NFT เพิ่มเติม ก็ลองศึกษาหาข้อมูลจากตามกลุ่มต่างๆ ในเฟซบุ๊ค ใน Youtube ได้เลย เพราะงั้น ขอให้สนุกกับการเข้าวงการ NFT นะครับผม แหล่งอ้างอิง zipmex , moneybuffalo , forbes , bangkokbiznews , thairath , techsauce , trueid , themomentum , thaiartnews , e-nft , coinmarketcap , dittomusic , The Sandbox , thannob