ยุคนี้คงไม่มีใครยังไม่ใช้ LINE แอปพลิเคชันรับส่งข้อความที่เต็มไปด้วยฟังก์ชันมากมาย ไม่ว่าจะใช้คุยกับเพื่อน คุยกับแฟน ตั้งกรุ๊ปครอบครัว กรุ๊ปคุยงาน ติดตามศิลปินที่ชอบและอีกมากมาย ที่ญี่ปุ่น ถิ่นกำเนิดของเจ้าแอปสุดสะดวกนี้ก็ติดไลน์ไม่แพ้คนไทย มีผู้ใช้งานไลน์ถึง 54 ล้านคน เรียกได้ว่าเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว แต่พอพูดคุยกับมิตรสหายชาวญี่ปุ่นว่าเรากับเขาใช้งานไลน์เหมือนกันไหม เขาก็ตอบมาว่า “ออกจะ.. ต่างกันนิดหน่อยนะ” *Note: เนื้อหาการพูดคุยของคนญี่ปุ่น เราแปลมาเป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ไม่ส่งย้ำแต่ส่งยาว ว่ากันว่าความเกรงใจเป็นสมบัติของคนญี่ปุ่น ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะไม่รัวส่งข้อความทีละคำสองคำให้มือถือคนอื่นเด้งรบกวนบ่อยๆ แต่จะพิมพ์ทีเดียวยาวๆ ให้ครบจบสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารแล้วค่อยส่ง นิสัยพิมพ์เรื่องที่ต้องการจะคุยให้จบในข้อความเดียวนี้น่าจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมส่งอีเมลหากันด้วยมือถือมานานนมแล้ว อ้อ คนญี่ปุ่นนั้น “แต่งนิยายลงมือถือ” มาตั้งแต่ยุคสมัยที่โลกนี้ยังไม่มีสมาร์ทโฟน ต้องพิมพ์ตัวอักษรจาก “แป้นตัวเลข 0-9” มานานมากแล้ว ฉะนั้นเรื่องพิมพ์อะไรยาวๆ นั้นถือว่าขนมมากสำหรับเขาล่ะ ตามชีวิตดาราสะดวก ดาราญี่ปุ่นชื่อดังแทบทุกคนจะมี Official LINE Account เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะแตกต่างจากดาราชาติอื่นนิดน้อยที่พวกเขาไม่ได้ใช้แค่แจ้งข่าวสารหรือกิจกรรม แต่ยังเขียนเป็นบล๊อกเล่าเรื่องราวสัพเพเหระตั้งแต่วันนี้ไปกินอะไรมา คุยอะไรกับแม่ เจอเพื่อนเก่าคนไหน พร้อมรูปภาพและวิดีโอ เรียกได้ว่าใกล้ชิดกว่าเพื่อนอีก! บ้าอีโมติคอน ชาวญี่ปุ่นบ้าการใช้อีโมติคอน หรือการใช้ตัวอักษรแสดงความรู้สึกต่างๆ มาก พวกเขาแทบจะไม่ใช้อะไรเบสิกๆ อย่าง 🙂 แต่จะใช้หน้ายิ้มหลากอารมณ์ซึ่งเกิดจากการผสมตัวอักษรเข้าด้วยกันจนเป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า Kaomoji (顔文字 อักษรใบหน้า) ซึ่งนอกจากคีย์บอร์ดภาษาญี่ปุ่นในสมาร์ทโฟนจะแถมอีโมติคอนพวกนี้มาให้เลือกมากมายแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็ยังพยายามสรรหาวิธีผสมตัวอักษรแบบใหม่ๆ เสมอ แม้แต่การใช้อักษรไทย อย่าง ใ(-_-ใ) (*๓´╰╯`๓) ♪(ฅ^О^ฅ)♡ (ง^-^)ง ที่คนไทยยังคิดไม่ถึงเลย! สติกเกอร์สุดประหลาด ปกติเลือกซื้อสติกเกอร์แบบไหนกันครับ? คงจะเป็นตัวละครดัง หรือตัวละครน่ารักๆ ที่สื่อคำพูดตรงกับสิ่งที่ต้องพิมพ์บ่อยๆ กันสินะครับ แต่เพื่อนญี่ปุ่นของผมบอกว่า “แบบนั้นน่ะไม่ค่อยเห็นหรอก” ถึงจะเป็นชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องตัวละครคาวาอี้ๆ มากมาย แต่สติกเกอร์ฮอตฮิตที่ชาวญี่ปุ่นใช้คุยกันนั้นมักจะเป็นสติกเกอร์หน้าตาดูกวนโอ๊ยบ้าๆ บอๆ ไปจนถึงแบบแปลกหลุดโลกที่ไม่รู้ว่ามันเอาไว้กดใช้ในสถานการณ์ไหน บางตัวนี่เห็นแล้วอยากจับเข่าสัมภาษณ์ว่าคิดได้ยังไง! เรื่องงานมักไม่ใช้ อีกหนึ่งอย่างซึ่งชาวญี่ปุ่นดูเหมือนจะแตกต่างกับชาวไทยก็คือการไม่ใช้ไลน์ในการทำงาน เช่นตั้งกรุ๊ปคุยงานหรือทวงงานกันเท่าไหร่ คนญี่ปุ่นมองว่าไลน์เป็นแอปสำหรับแชทคุยกันสัพเพเหระ ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่ต้องรีบอ่านหรือตอบ ถ้ามีเรื่องที่สำคัญหรือเป็นการเป็นงานจะใช้วิธีโทรหรืออีเมลหากันมากกว่า แต่ปัจจุบันบางบริษัทก็เริ่มปรับเปลี่ยนมาตามงานทวงงานกันในกรุ๊ปไลน์บ้างแล้ว ไม่แชร์เรื่อยเปื่อย คนญี่ปุ่นไม่ค่อยแชร์ข่าวลือลงในไลน์เรื่อยเปื่อย ประเภทดื่มน้ำมะนาวรักษามะเร็งได้ กินหอยแครงแล้วตาย ส่งต่อแล้วได้บุญ หรือแม้แต่การส่งภาพดอกไม้มาสวัสดีวันอังคารสีชมพูแบบที่เรามักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ในกรุ๊ปชาวไทย ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นไม่เชื่อข่าวลือเลย แต่อาจจะเพราะเกรงใจ จึงรู้สึกว่าการส่งเรื่องอะไรไม่รู้ให้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้สนใจอ่านจะเป็นการรบกวนเขา หากมีข่าวลือใหญ่ๆ เกิดขึ้นชาวญี่ปุ่นมักคุยกันแค่ในวงเพื่อน หรือใช้วิธีทวีตเอามากกว่า คนแก่ไม่ค่อยเล่น ภาพ: appleinsider.com สืบเนื่องมาจาก 2 ข้อก่อนหน้านี้ อีกเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้คือที่ญี่ปุ่นนั้น คนที่มีอายุหรือหัวเก่าหน่อยก็จะไม่ค่อยเล่นไลน์ จึงไม่มีวัฒนธรรมการเล่นไลน์แบบลุงๆ ป้าๆ เหมือนบ้านเรา ไม่ใช่แค่ไลน์เท่านั้น คนแก่ญี่ปุ่นส่วนมากที่ไม่ได้ทำงานบริษัทก็ไม่ค่อยจะมีโทรศัพท์มือถือ หรือมีก็ยังเป็นแบบเก่าไม่ใช่สมาร์ทโฟน หรือถึงใช้ก็ไม่อิน เพราะช่องว่างระหว่างวัยในญี่ปุ่นใหญ่มาก ผู้ใหญ่จึงมักจะอ่านภาษามือถือของเด็กๆ กันไม่ค่อยจะเข้าใจ ตัวอย่างที่ยกมานั้นก็อาจจะไม่ใช่นิสัยทั้งหมดของคนญี่ปุ่น เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ส่วนหนึ่งที่พบเจอมาเท่านั้น ในทุกสังคมก็ย่อมมีคนหลายประเภทแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม การใช้งานไลน์กันด้วยความเกรงใจ มีมารยาท และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงหรือสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้อื่นนั้นก็เป็นเรื่องที่สมควรทำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ตามนะจ๊ะ