จับสัญญาณอันตราย How to รับมือกับภัยความรุนแรงในความสัมพันธ์ รู้หรือไม่? ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องปกติเพราะทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะมาจากฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงก็ตาม ซึ่งกระแสช่วงนี้ ผู้คนให้ความสนใจกับประเด็นเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างมาก จากกรณีของนักแสดงดังที่เกิดแฮชแท็กกันชั่วข้ามคืน ซึ่งจริงๆ แล้ว ความรุนแรงไม่ได้หมายถึงแค่การตบตีกระชากให้ได้เลือด แต่คำพูดก็ส่งผลถึงความรุนแรงทางจิตใจเช่นกัน เราเชื่อว่าหลายๆคน อาจมีประสบการณ์ความรุนแรงจากคนรัก หรือบังเอิญได้พบเจอคนรอบข้างที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษถึงขั้นอันตราย ซึ่งแน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือ แล้วเราต้องรับมือยังไง ? เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินออกไปก็ยังกลัวๆ Mango Zero ขอชวนทุกคนมาสำรวจคนรอบตัว และคนข้างกายไปกับ Red Flags ที่เป็นสัญญาณอันตราย (ถ้าใช่เกิน 3 ข้อหนีให้ไว!) รวมถึงวิธีรับมือเมื่อโดนทำร้าย หรือคนรอบข้างโดนทำร้าย รู้ให้ไว ไหว(ตัว)ให้ทัน รักษาใจที่เจ็บช้ำ แล้วอย่าลืมรีบหันกลับมารักตัวเองกันนะทุกคน 💖 Red Flags อารมณ์รุนแรง ย้ำคิดย้ำทำ ไม่สามารถยับยั้งความโกรธได้ เริ่มคุกคาม แบล็กเมล ข่มขู่ เพื่อให้เกิดความอับอาย หรือปลูกฝังความกลัวในจิตใจจนไม่กล้าที่จะแข็งข้อ รุกล้ำความเป็นส่วนตัว ควบคุมชีวิตประจำวัน พูดจาด้อยค่า ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขาเหนือว่า ทำร้ายจิตใจซ้ำๆ แม้จะกลับมาปลอบใจ เริ่มทำร้ายข้าวของ / ร่างกาย / สัตว์เลี้ยง และทำจนติดเป็นนิสัย ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมาระบายลงที่เรา ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ปิดกั้นจากเพื่อนฝูง ครอบครัว อ้างว่าเป็นเพราะสุรา / ยาเสพติด หรือโยนความผิดไปที่ปัจจัยภายนอก เสพติดความรุนแรงสลับกับการเป็นคนดี เหมือนการตบหัวแล้วลูบหลัง ใช้ความรุนแรงแล้วถึงมาขอโทษทีหลัง แต่ทำพฤติกรรมเดิมซ้ำจนกลายเป็นวงจร วิธีรับมือสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายโดนกระทำ หลีกเลี่ยง หลีกหนีการใกล้ชิดกันในช่วงอารมณ์รุนแรง และเลี่ยงการขอโทษ เพราะจะทำให้อีกฝ่ายที่ใช้พฤติกรรมรุนแรงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำเป็นการลงโทษเราจริงๆ บันทึกการทำร้ายทุกรูปแบบ รูปภาพ ข้อความ หรือ Voice Message รวมถึงใดๆ ก็ตามเพื่อให้เป็นหลักฐาน / ประโยชน์ในชั้นศาล รีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หน่วยงาน มูลนิธิต่างๆ อย่างรวดเร็ว วางแผนยุติความสัมพันธ์ให้ไว (และปลอดภัย) งดการให้โอกาส เพราะฝ่ายใช้ความรุนแรงอาจทำแบบเดิมได้เสมอ เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันเพื่อความปลอดภัย เช่น เปลี่ยนวิธีเดินทาง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เปลี่ยว เกาะกลุ่มในที่คนเยอะๆ ปรึกษาเยียวยาจิตใจกับผู้เชี่ยวชาญ ครอบครัว คนรอบข้างในความสัมพันธ์ที่ดี เพราะความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เรากลับมาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ฝ่ายคนรอบข้าง รับฟังอย่างเข้าใจเข้าอกและใส่ใจที่จะให้ความช่วยเหลือ ไม่ตำหนิว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ช่วยเก็บหลักฐานการทำร้ายเพิ่มเติม ช่วยบอกเล่าเรื่องราวให้ผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือรับรู้ ให้กำลังใจ สนับสนุนให้เหยื่อออกจากความสัมพันธ์ สนับสนุนให้เหยื่อแจ้งหน่วยงาน มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง สายร้องทุกข์ 1300 >> ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1134 >> มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี 1157 >> สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 1323 >> สายด่วนสุขภาพจิต 0-2513-1001 >> มูลนิธิเพื่อนหญิง ที่มา กรุงเทพธุรกิจ, FFW Thailand, The Coverage