ผัก ผลไม้มีประโยชน์และควรมีในทุกๆ มื้ออาหารของเรา แต่รู้หรือไม่ว่ามีผักอยู่หลายชนิดที่เราต้องระวังในการรับประทานอยู่เช่นกัน ด้วยวิธีการปลูก การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยวที่มีโอกาสปนเปื้อน หรือมีสารเคมีตกค้างได้ เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดทั้งหมด 41 ชนิดพืช รวม 7,054 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบสารตกค้าง และพบว่าผ่านมาตรฐาน 88.8% ไม่ผ่านมาตรฐาน 11.2% และเมื่อนำปริมาณที่ตรวจพบในผักและผลไม้สดมาประเมินความเสี่ยงของผู้บริโภค พบว่า ร้อยละ 99.86% อยู่ในระดับที่ปลอดภัย วันนี้เราจะพาไปดู 6 อันดับ ผัก ผลไม้ ที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดว่า มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด ของปี 2561 ได้แก่ พริก ถั่วฝักยาว คะน้า ส้ม มะเขือ มะเขือเทศ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ระบุ 6 รายชื่อผัก ผลไม้ที่บริโภคกันได้สบาย เพราะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 100% ว่าไม่มีสารพิษตกค้าง ได้แก่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มังคุด ผักกาดขาวปลี ถั่วแขก ข้าวโพดหวาน ถึงแม้ว่าการรับประทานผักบางชนิดจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารเคมีตกค้าง แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่า สารตกค้างเหล่านี้จะเป็นอันตรายเฉพาะกับคนที่ทานผักชนิดเดิมๆ ติดกันเป็นเวลาซ้ำๆ เท่านั้น ดังนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารตกค้างได้ง่ายๆ ด้วยการบริโภคอาหารอย่างหลากหลายนั่นเอง นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้ทานอย่างหลากหลายแล้วนั้น เรายังหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีตกค้างได้จากการปอกเปลือก หรือล้างผักให้สะอาด โดยในการล้างผัก มีเทคนิคที่เหล่าแม่บ้านนิยมใช้กันเพื่อให้ผักสะอาดมากยิ่งขึ้น เช่น การผสมเบคกิ้งโซดากับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1/2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำสะอาด 10 ลิตร แช่นาน 15 นาที และล้างต่อด้วยน้ำสะอาด ผสมน้ำส้มสายชูกับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 แช่นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด นำน้ำซาวข้าวแช่ผักประมาณ 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด เปิดน้ำให้ไหลผ่านผักด้วยความแรงพอประมาณ คลี่ทีละใบ และถูประมาณ 2 นาที ที่มา : thaigov, good life update