หากคุณเป็น 1 คนที่ปวดหัวเหลือเกินกับการจำ Password ตัวเอง บ่อยครั้งที่ตั้งใจจะตั้งรหัสไว้ให้มันยากและซับซ้อนหน่อยเพื่อความปลอดภัย แต่สุดท้ายพอเวลาผ่านไป กลับมา Log In ใหม่ อ่าาาา…หนีไปที่ปุ่ม forget password ด้วยความรวดเร็ว เหตุเพราะยากเกินจนจำไม่ได้ วันนี้ Mango Zero ขอเสนอทางแก้ให้กับคุณ
ก่อนอื่นขอเล่าถึงคุณสมบัติ Password ที่ปลอดภัยเบื้องต้นกันก่อน Password ที่ดีควรจะมีตัวอักษร 10 ตัวขึ้นไป ประกอบด้วยหมายเลข ตัวอักษรตัวเล็ก-ตัวใหญ่ ผสมกันไปเพื่อเพิ่มความเดายาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวที่หาเจอง่ายๆมาตั้งรหัส เช่น ชื่อ วัน/เดือน/ปีเกิด เลขบัตรประชาชน มาตั้งรหัสผ่าน รวมถึงควรเปลี่ยน Password ใหม่ทุกๆเดือนและไม่ควรใช้ Password เดียวกันทุกบริการ ทุกเว็บไซต์ เพราะถ้าเกิดโดนแฮก 1 แอปก็อาจจะโดนแฮกไปทั้งหมดเลยได้
แต่เอาจริงถ้าต้องตั้งตามนี้ ก็ออกจะจำยากอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่มีหลักการจำไว้ มีหวังลืมแน่ๆ วันนี้ Mango Zero ขอแนะนำไอเดียตั้ง Password ยังไง ให้จำง่ายแต่เดายากๆมาฝากกัน
เทคนิค : สุ่มสี่คำ (Four random common words)
เริ่มกันที่เทคนิค Basic ที่ทางเว็บไซต์ 1Password แอปพลิเคชั่นช่วยจำพาสเวิร์ดชื่อดังแนะนำ คือการตั้งพาสเวิร์ดด้วยคำ 4 คำที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เรียกว่า เทคนิคสุ่มสี่คำ (Four random common words) แต่ชุดคำพวกนั้น ต้องเป็นคำที่คุณเองจำได้ อาจเป็นคำที่คุณชอบ หรือมีความเกี่ยวข้องในแบบที่พอระลึกได้ แต่ไม่ง่ายจนเกินไป เช่น ชื่อแฟนเก่า, ชื่อเพลง, สถานที่ที่ชอบ, ที่พักอาศัย หรือของอื่นๆที่ชอบ จากนั้นแทนตัวเลขลงไปแทนตัวอักษรบางตัวเพื่อให้ซับซ้อนขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น olivia-mimigumo-waikiki-yesterday
แปลงเป็นพาสเวิร์ดได้ว่า 0l1v1a-m1m1gum0-wa1k1k1-y3st3rday เท่านี้ก็จะได้รหัสที่เดายากขึ้นแล้ว
เทคนิค : PAO method
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่แนะนำโดยนักวิศวคอมพิวเตอร์จาก Carnegie Mellon University ที่เชื่อว่ามนุษย์เราจะจดจำอะไรที่เป็นเรื่องราวได้ดีกว่าจำชุดตัวเลขทั่วไป “PAO method” มาจากคำว่า Person-Action-Object Story ให้ลองคิดชุดคำจำเป็นเรื่องราวเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเรื่องสนุกๆที่เราสามารถจำได้ แปลงเป็นรหัสพาสเวิร์ดให้จำได้ตลอดกาล
ตัวอย่างเช่น “Monkey D. Luffy jumping on a bouncy castle in Osaka”
ใคร : Monkey D. Luffy ย่อเป็น MKDLF
ทำอะไร : jumping ย่อเป็น jmp1ng
ที่ไหน : on a bouncy castle in Osaka ย่อเป็น @bc@0saka
เราก็จะได้รหัสที่มีแค่เราที่จำได้คือ MKDLFjmp1ng@bc@0saka แล้ว
เทคนิค : ใช้เพลงที่ชอบเป็นภาษาคาราโอเกะ
เทคนิคนี้อาจจะง่ายลงมาหน่อย เหมาะสำหรับคนที่รักเสียงเพลง ถ้าเกิดว่าจำเป็นเรื่องแล้วยังจำไม่ได้ ลองจำเป็นเพลงกันดู แนะนำว่าเลือกเพลงที่มีตัวเลขอยู่ในนั้นด้วยก็ดี จะได้ยังคงคอนเซ็ปความยากเอาไว้ได้
ตัวอย่างเช่น “พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”
แปลเป็นคาราโอเกะ คือ Por Sor 2504 Phu Yai Lee Tee Klong Pra Chum
อาจจะแปลงเป็นพาสเวิร์ดได้ว่า ps2504PYLtkpc
เทคนิค : พิมพ์คำที่ชอบในภาษาไทยบนแป้นพิมพ์อังกฤษ
ถ้าขี้เกียจแปลประโยคภาษาอังกฤษ งั้นลองพิมพ์ไทยลงในแป้มพิมพ์อังกฤษไปเลยแล้วกัน รับรองต่างชาติต้องมีงงกันบ้าง อ่านแล้วดูสลับซับซ้อนเกินกว่าคนอื่นจะจำได้แน่นอน แต่ก็ต้องใช้ความสามารถพิเศษนิดนึง กรณีพิมพ์บนมือถือ ที่จะไม่เห็นตัวอักษรไทยกับอังกฤษพร้อมกันได้ อาจจะต้องจำตำแหน่งตัวอักษรภาษาไทยได้พอสมควร สำหรับเว็บที่สามารถตั้งพาสเวิร์ดด้วยสัญลักษณ์พิเศษด้วยได้เทคนิคนี้ดูจะเหมาะมากๆ
ตัวอย่างเช่น
คำว่า แมงโก้ซีโร่ ได้รหัสเป็น c,’Fdh:uFij
คำว่า สาวบางโพนั้นโก้จริงๆ ได้รหัสเป็น lk;[k’FroyhoFdh0ib’q
เทคนิค : ตั้งพาสเวิร์ดที่จำได้ 1 ชุด แต่ต่อท้ายด้วยคำที่หมายถึงโซเชียลมีเดียต่างๆลงไป
เทคนิคจะประหยัดพลังงานสมองในการจำพาสเวิร์ดแต่ละโซเชียลมีเดียไปได้มากขึ้น โดยคุณอาจจะตั้งชุดคำที่เป็นพาสเวิร์ดที่จำได้แน่ๆอยู่แล้วมา 1 ชุด แต่เอามาต่อท้ายด้วยชื่อของโซเชียลมีเดียต่างๆแทน เพื่อให้ไม่ต้องคิดใหม่ตลอดทุกช่องทาง จะเห็นได้ว่าเป็นชุดรหัสที่จำไม่ยากเลย แต่อ่านแล้วดูซับซ้อนสำหรับคนอื่นที่จะแอบจดพาสเวิร์ดของเราไป
ตัวอย่างเช่น ตั้งรหัสขึ้นมาว่า “ps2504PYLtkpc”
เสร็จแล้วก็มาต่อท้ายด้วยชื่อแอปที่เราสมัคร เช่น เว็บ Facebook อาจจะตั้งต่อว่า “/fB”.
รวมเป็น ps2504PYLtkpc/fB นั่นเองหรืออาจจะทำให้ซับซ้อนขึ้นอีกด้วยเครื่องหมายสัญลักษณ์พิเศษอื่นๆตามไป อันนี้แล้วแต่ตามสะดวกเลย
แต่หากยากมากเกินไปก็อาจจะลืมได้ สามารถซื้อ Post-it เพื่อจดคำใบ้กันลืมได้ ที่นี่