ครอบครัวไม่ใช่แค่บ้าน แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก แม้บางครั้งจะกระทบกระทั่งหรือผิดใจกันบ้าง แต่หากปรับความเข้าใจและไม่ทำให้เกิดรอยร้าว ครอบครัวก็ยังเป็นความสบายใจได้เสมอ แต่บางครั้ง ความไม่สบายใจเกิดขึ้นบ่อยและต่อเนื่องจนเป็นพิษต่อจิตใจ แล้วพฤติกรรมแบบไหน ที่ไม่ดีต่อใจคนในครอบครัว? ไม่ฟังใคร ฉันใหญ่ที่สุด บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองเป็นพิษมักจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง มองความต้องการของตัวเองเป็นหลัก และไม่สนว่าการกระทำของตัวเองจะส่งผลต่อความรู้สึกคนอื่นอย่างไร ควบคุมทุกอย่าง ผู้ปกครองประเภทนี้มักจะบอกว่าเราต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร อยู่ตลอดเวลา โดยใช้เหตุผลว่าเป็นคนเลี้ยงดู ให้ค่าใช้จ่าย และใช้อำนาจของการเป็นผู้ปกครอง เพื่อให้ลูกเดินตามเส้นทางที่เขาต้องการ ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อคนใกล้ตัวกลายเป็นคนที่ไม่สบายใจที่จะเข้าไปพูดคุยด้วย เพราะเขาใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และคาดเดาไม่ได้ว่ากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ บางครั้งการใช้อารมณ์อาจมาในรูปแบบของการอารมณ์เสียจากเรื่องอื่นมา แล้วมาระบายอารมณ์ใส่คนในครอบครัว ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ ไปจนถึงการใช้กำลัง ทำดีแค่ไหนก็ไม่พอใจ เป็นเด็กดีก็แล้ว ตั้งใจเรียนก็แล้ว ผู้ปกครองที่เป็นพิษก็ยังไม่พอใจ หาข้อบกพร่องและสิ่งที่เราต้องปรับปรุงเพื่อให้ถูกใจเขาอยู่เสมอ บางครั้งก็เปรียบเทียบกับคนอื่นที่ทำได้ดีกว่า แม้ว่าเราจะทำเต็มที่แล้วก็ตาม โตแค่ไหนก็ยังก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว มันมีเส้นบางๆ ระหว่างเป็นห่วงกับก้าวก่าย แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่ ดูแลตัวเองได้แล้ว ผู้ปกครองประเภทนี้ก็ยังเข้ามาวุ่นวายกับชีวิตส่วนตัว จนกลายเป็นเข้ามาล้ำเส้นพื้นที่ส่วนตัวของเรา เช่น เข้ามาในห้องโดยไม่ขออนุญาต เช็คโทรศัพท์ ให้คำแนะนำ (กึ่งบังคับ) แบบไม่สมเหตุสมผล รู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องใช้เวลาร่วมกัน ช่วงเวลาที่ควรจะอบอุ่นและสบายใจที่สุดกลับเป็นช่วงเวลาที่ไม่อยากเผชิญหน้า มักจะรู้สึกแย่หลังจากพูดคุยกับผู้ปกครอง บางครั้งอาจส่งผลไปถึงร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด ยิ่งถ้าเคยมีความทรงจำที่ไม่ดีกับครอบครัว ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นจะแฝงอยู่ในสิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นด้วย รับมืออย่างไรเมื่ออยู่บ้านแล้วไม่มีความสุข เมื่อเราทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าการไม่สบายใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้ปกครองเป็นความผิดของตัวเอง ทางที่ดีควรจะพยายามปรับความเข้าใจและเลือกทางออกที่ดีต่อใจมากที่สุด เปิดใจคุยกัน อย่าเก็บความรู้สึกอึดอัดใจเอาไว้คนเดียว ให้พูดคุยกับผู้ปกครองถึงสิ่งที่เรากำลังรู้สึก แต่ต้องระวังคำพูด ควรเริ่มต้นด้วยการใช้คำพูดว่าเราเข้าใจในมุมของเขา แล้วค่อยอธิบายความรู้สึกของเรา อยู่กับคนที่สบายใจ ถ้าการอยู่บ้านทำให้เราไม่สบายใจ ลองใช้เวลาว่างออกไปอยู่กับเพื่อน หรือคนที่อยู่ด้วยแล้วทำให้เราลืมเรื่องราวแย่ๆ เมื่อกลับมาบ้านก็ให้หากิจกรรมที่เราเอ็นจอย เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือสิ่งที่ทำให้เราไม่จมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ รักษาระยะห่างทางความสัมพันธ์ เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนพวกเขาได้ ก็ต้องสร้างขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวของเรา ไม่ให้เหล่าผู้ปกครองที่เป็นพิษเข้ามาก้าวก่าย การปฏิเสธสิ่งที่เรารู้สึกไม่โอเคบ้างไม่ใช่เรื่องผิด เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราก็มีสิทธิ์ตัดสินใจเช่นกัน ที่มา psychcentral bustle