เปิดหัวข้อมาอาจจะดูก้าวร้าวไปสักหน่อยแต่เชื่อมั้ยว่า ผู้คนส่วนมากมักใช้ชีวิตโดยการแคร์คนอื่นหรือสิ่งรอบๆ ตัวมากเกินไปและการที่เราแคร์มากเกินไปก็แปลว่าเราต้องเสียสละบางอย่างที่สำคัญในชีวิตไปด้วย พอมานั่งคิดนอนคิดแล้ว การฝืนใจ ไม่ยอมรับสิ่งที่เหนือการควบคุมมีแต่จะเจ็บตัว เจ็บใจเปล่าๆ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรา “ช่างมันหรือช่างแม่ง” กับสถานการณ์หรือสิ่งๆ นั้นไปก็ได้ วันนี้จะมาเล่าถึงปรัชญาและศิลปะแห่งการ “ช่างแม่ง” เหอะ ที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้แฮปปี้กว่าเดิมอย่างแน่นอนค่ะ
ปรัชญาแห่งการช่างแม่ง
- “ช่างแม่ง” เพราะเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย เป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม
- ”ช่างแม่ง” เพราะมันไม่ได้มีความหมายหรือคุณค่าอะไรกับตัวเรา
- “ช่างแม่ง” เพราะสิ่งที่คนอื่นแคร์กันมันเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติของตัวเราเอง
- “ช่างแม่ง” เพราะคิดว่าไม่ได้มีอะไรดีขึ้นถ้าเราแคร์จนเกินเหตุ
ศิลปะแห่งการช่างแม่ง
การช่างแม่งไม่ใช่การไม่รู้สึกกับทุกสิ่ง แต่เป็นการรู้สึกเฉพาะกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ กับเราและให้ค่ากับสิ่งนั้น ซึ่งเราต้องตัดสินใจเอาเองว่าเราคิดว่าเรื่องไหนสำคัญหรือไม่สำคัญกับตัวเราบ้าง
อีกสิ่งที่เป็นศิลปะแห่งการ “ช่างแม่ง” ก็คือเราต้องระลึกเสมอว่าเรื่องที่แคร์ในชีวิตนั้นจำกัด ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถแคร์ได้ทุกคน ทุกเรื่อง ไม่งั้นเราจะเปลืองพลังงานในการแคร์เรื่องหรือคนที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ฉะนั้นอะไรที่เราไม่ได้สนใจมากก็ช่างมันหรือช่างแม่งไปเถอะค่ะ
“ช่างแม่ง” ยังไงให้ชีวิตแฮปปี้กว่าเดิม
1. เราเลือกแคร์เฉพาะสิ่งที่สำคัญและเป็นปัจจุบันเท่านั้น
ลองถามตัวเองว่าเรามีเรื่องที่ต้องแคร์มากเกินไปรึเปล่า เราไม่จำเป็นต้องแคร์ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ก็ได้มั้ย เพราะแต่ละคนจะให้ค่าความสำคัญไม่เหมือนกันและไม่จำเป็นต้องเหมือนกันด้วย ดังนั้นค่าของความสำคัญนี้เองจะเป็นตัวกำหนดการดำเนินชีวิต การตัดสินใจและความสุขของตัวเรา เพราะฉะนั้นอะไรไม่สำคัญก็ “ช่างแม่ง” เหอะ
2. การเป็นคนธรรมดานี่แหละมีความสุข
ถ้าเราต้องกังวลและพยายามฝืนใจทำให้ทุกคนมาชื่นชมในทุกสิ่งที่เป็น ก็คงเป็นไปไม่ได้ และความคิดที่ว่าอยากเป็นคนพิเศษ เหนือกว่า ดีกว่าและโหยหาสิ่งที่ขาดอยู่ตลอดเวลา โดยลืมค้นหาสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ชีวิตมีความหมายก็จะมีแต่เป็นทุกข์เปล่าๆ ในทางกลับกันคนธรรมดาที่ยอมรับต่อเรื่องแย่ๆ ของตัวเองได้ แล้วรู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีโอกาสประสบความสำเร็จและมีความสุขมากกว่าคนอื่นเสียอีก ดังนั้นอะไรที่ฝืนตัวเองเกินไปก็ “ช่างแม่ง” ไปดีกว่า
3. รู้จักการปฏิเสธและยอมรับการถูกปฏิเสธ
การปฎิเสธคนอื่นในสังคมไทยดูจะเป็นเรื่องยากพอสมควร เพราะเรามีวัฒนธรรมของความเกรงใจอยู่เยอะ เยอะมากจนบางทีกลับมาทำให้ตัวเราลำบากเสียเอง แต่ก็ไม่ใช่ทำไม่ได้ ถ้าเราฝึกฝนตัวเองให้รู้จักการปฎิเสธและยอมรับการถูกปฎิเสธจากคนอื่นได้ด้วยเหตุผลและคำพูดที่เหมาะสม ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ที่ดีก็ถือเป็นสิ่งสำคัญของสังคมมนุษย์เราเช่นกัน (แต่ถ้าคนๆ นั้นหรือสังคมนั้นไม่ได้สำคัญกับชีวิตเราก็ต้องรู้จัก “ช่างแม่ง” บ้าง)
4. ปล่อยวางกับเรื่องที่เหนือการควบคุม
การพยายามเอาชนะหรือควบคุมทุกสถานการณ์ เป็นเรื่องที่ดีแต่ถ้าทุกอย่างต้อง Perfect 100% ตลอดเวลานอกจากจะเป็นไปไม่ได้แล้วจะยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกกดดันมากเกินไป จนความกังวลนั้นอาจย้อนมาทำร้ายและกลายเป็นจุดบอดของสถานการณ์นั้นก็ได้ ดังนั้นเรื่องที่มันเหนือการควบคุมจริงๆ ก็ควรปล่อยวางและ “ช่างแม่ง” ให้เป็นค่ะ
5. คนที่ทำให้เราเจ็บปวดก็ช่างแม่งไปก็ได้นะ
เชื่อว่าทุกคนย่อมมีคนที่เราแคร์ คนที่เราให้ความสำคัญมากๆ จนบางทีการกระทำบางอย่างของคนนั้นอาจจะทำให้เราเจ็บปวดอย่างมาก ในทางกลับกันลองกลับมาคิดว่าแล้วคนที่เราให้ความสำคัญเค้าเห็นคุณค่าตัวเราเหมือนที่เราให้ความสำคัญเขารึเปล่า ความคิดนี้อาจจะดูเหมือนเห็นแก่ตัว แต่บางทีคนพวกนั้นที่เราแคร์อาจไม่มีความสำคัญอะไรในชีวิตเราแล้วในตอนนี้ ถ้าเค้าไม่แคร์เราจะแคร์ทำไม เสียเวลาเสียพลังงาน เพราะฉะนั้นใครที่ทำให้เราเจ็บปวดก็ไม่มีค่าพอให้เรามานั่งกังวลหรือปวดใจหรอก ดังนั้นเราก็ “ช่างแม่ง” ไปก็ได้นะ
การ “ช่างมันหรือช่างแม่ง” ให้เป็นก็เหมือนกับการทำใจยอมรับและปล่อยวางในชีวิต “พอช่างแม่งได้ เราจะรู้สึกสบายและเข้าใจทุกอย่างเอง” หวังว่าทุกคนจะแฮปปี้ มีความสุขกับศิลปะแห่งการ “ช่างแม่ง” นะคะ
ที่มา :