หลายคนคงเคยตกอยู่ทั้งในสถานะที่เคยไประเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น และเป็นสนามอารมณ์ให้คนอื่นกันมาบ้าง แล้วเคยสังเกตมั้ยว่าคนส่วนใหญ่ที่เราไปใส่อารมณ์หรือคอยรองรับอารมณ์พวกเขาอยู่ มักไม่ใช่คนที่เราเกลียดชัง แต่กลับเป็นคนที่เรารักหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากที่สุดต่างหาก ลองนึกดูว่าที่ผ่านมาทุกครั้งที่เราใส่อารมณ์หรือเป็นที่รองรับอารมณ์ให้กับคนรอบข้าง ทั้งคนรัก เพื่อนสนิท โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว ไม่ใช่แค่คนถูกกระทำเท่านั้นที่ได้รับความเจ็บปวดจากคำพูดและการกระทำจากความโกรธ แต่คนที่กระทำเองก็อาจรู้สึกเสียใจไม่แพ้กัน แต่ท้ายที่สุดแล้วภาพที่เห็นอยู่บ่อยๆ กลับเป็นภาพการระบายความโกรธที่สาดใส่คนรอบตัว และถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ตัวอย่างเช่น จากตัวเองที่โดนเจ้านายดุ จนอารมณ์เสียกลับมาระบายความโกรธใส่่คนในครอบครัว จนอารมณ์เหล่านั้นถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่คนที่ต้องมานั่งรองรับอารมณ์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นเหตุของความโกรธนั้นเลย หากเป็นเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ห่วงโซ่ความโกรธนี้คงเต็มไปด้วยพลังลบที่ถูกส่งต่อแบบไม่รู้จบแน่ๆ วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจและจัดการกับความโกรธอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ เพื่อตัวเราและคนรอบข้าง มีอะไรบ้างไปดูกันเลย ความโกรธเกิดจากอะไร การแสดงความโกรธมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทางสีหน้า ท่าทาง หรือคำพูด โดยเกิดจากมีสิ่งมากระตุ้นให้เกิดความคับข้องขึ้นในใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเอง จนแสดงออกมาเป็นความโกรธในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกบางอย่างเลยทำให้ตัวเรารู้สึกถึงความไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย จนต้องสร้างกลไกการป้องกันตัวเองขึ้นมา ซึ่งเลเวลการแสดงความโกรธก็ขึ้นอยู่กับการรับมือของแต่ละคน อาการต่างๆ ที่แสดงออกมาเกิดจากการที่สมองส่วนหน้าไม่ทำงานเลยทำให้ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ที่จะแสดงออกไปได้ จนเป็นที่มาของคำว่าโกรธจนขาดสติอย่างที่ได้ยินบ่อยๆ นั่นเอง ทำไมชอบเอาความโกรธไปลงกับคนใกล้ตัว เมื่อความโกรธก่อตัวขึ้นกลายเป็นความขัดแย้งในจิตใจจนทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยแล้ว ร่างกายเลยจำเป็นต้องสร้างกลไกการป้องกันตัวเองขึ้นมา เพื่อระบายความเครียดออกไป ด้วยหลักการระบายอารมณ์ (Displacement) คือ การระบายความโกรธหรือความคับข้องใจใส่คนที่อ่อนแอกว่านั่นเอง อย่างที่บอกว่าเมื่อเราโกรธ สมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมจะไม่ทำงาน ทำให้พฤติกรรมต่างๆ ไร้การควบคุม เหตุนั้นเองเลยทำให้อารมณ์โกรธที่แสดงออกมาถูกระบายใส่คนใกล้ตัวเต็มๆ นั่นเป็นเพราะว่าเรารู้สึกว่ายิ่งสนิท ยิ่งมีแนวโน้มที่เขาจะรับฟังและยอมรับพฤติกรรมเราได้มากกว่า ซึ่งมันทำให้เราหลงลืมความสำคัญของคนใกล้ชิดอยู่บ่อยครั้ง จนไม่ทันคิดว่าการระบายอารมณ์ใส่คนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และการวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อทั้งคนที่เป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ไปจนถึงส่งผลให้สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยพลังลบ และแย่ที่สุดคืออาจนำไปสู่จุดแตกหักหรือจุดจบของความสัมพันธ์เลยก็ได้ จัดการกับความโกรธ รู้ทันอารมณ์ของตัวเอง รู้ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ โกรธเพราะอะไร สิ่งนั้นคุ้มค่ากับการโกรธมั้ย เพราะเมื่อเกิดอารมณ์โกรธขึ้นแต่ละครั้ง แน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลเสียกับแค่สุขภาพตัวเอง แต่ยังส่งผลเสียไปถึงคนรอบข้างอีกด้วย พยายามตั้งสติ ควรรู้จักการปล่อยวางและให้อภัยบ้างในบางครั้ง ไม่ควรปล่อยให้อารมณ์โกรธควบคุมทุกอย่าง นึกถึงสิ่งที่จะตามมาหากเราจะทำบางอย่างลงไปด้วยความโกรธ และนึกถึงคนอื่นเยอะๆ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว ที่ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากๆ ก่อนจะแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ออกไป คิดว่าถ้าหากเราเจอแบบนั้นบ้าง เราจะรู้สึกยังไง คนเราสามารถรู้สึกโกรธได้ แต่ก็ควรอยู่ในระดับที่พอดี และไม่ส่งผลกระทบใดๆ อาจจะหาวิธีระบายความโกรธที่ตัวเองทำแล้วสบายใจก็ได้ แต่! ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งตัวเอง คนอื่น และสภาพแวดล้อมรอบตัว พักผ่อนให้เพียงพอ หากเรากินอิ่มนอนหลับ ก็เหมือนกับร่างกายได้ชาร์จแบตจนเต็ม และเมื่อสุขภาพกายดีก็จะทำให้สุขภาพจิตดี อารมณ์ก็ดีตามไปด้วย ที่สำคัญต้องเป็นตัวเองที่ดีให้กับคนอื่นๆ รอบตัว ถ้าไม่อยากเป็นสนามอารมณ์ให้ใคร เราเองก็ไม่ควรที่จะไปใส่อารมณ์ใส่คนอื่นเช่นเดียวกัน เหมือนประโยคที่ว่า “จงปฏิบัติต่อคนอื่น เหมือนที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อตัวเอง” เพียงเท่านี้ก็คงพอจะช่วยให้เข้าใจความโกรธ และคอยเตือนให้ตัวเองควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือควรใส่ใจคนรอบข้างให้มากๆ อย่าให้อารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบไปสร้างบาดแผลในจิตใจ หรือทำลายความสัมพันธ์ลงเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เพราะทุกคนสามารถจัดการกับความโกรธและหยุดวงจรการสาดอารมณ์โกรธได้โดยเริ่มที่ตัวเราเอง