Mango Zero

ไทยรัฐออนไลน์ เปิดตัว Virtual Boardgame “หยิบคำ ทำข่าว” ผลผลิตจาก Hackathon ตอกย้ำภาพลักษณ์ Media Tech Company

ไทยรัฐ สลัดภาพสื่อยุคเก่า มุ่งสู่การเป็น Media Tech Company เต็มตัว ส่งบอร์ดเกมใหม่ ผลผลิตจากการจัด Hackathon ออกใช้งานจริง ชวนผู้ใช้เว็บไซต์ร่วมสวมบทนักข่าว สร้างสรรค์พาดหัวข่าวสุดปั่น พร้อมให้เพื่อนสวมบทนักสืบทายใจว่าพาดหัวไหนเป็นของเรา วางเป้าหมายพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้งานเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์สู่การเป็นมากกว่าเว็บไซต์ข่าว แต่ยังสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกวันของชีวิตคนไทย

จากผลผลิตของ Thairath Hackathon 2021 อีเวนท์ระดมสมองหาทางแก้ปัญหาและสรรสร้างนวัตกรรมจากโจทย์ที่ได้รับ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้ผู้ชนะ คือ ทีม PAPA ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกจากคณะแพทศาสตร์ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย พิชชาภา รุ่งอารยะ, หยาดทิพย์ เนื่องจำนงค์, อัครพล ธนวัฒนาเจริญ และกัณติกา วิชญเมธากุล สร้างสรรค์ไอเดียภายใต้คอนเซปต์ ‘คนรุ่นใหม่ ความผูกพัน ไทยรัฐ’ ออกมาเป็นบอร์ดเกมที่มีกิมมิกน่ารัก ๆ โดยได้ไอเดียออกแบบตัวละครในเกมมาจากนักข่าว และไอเทมในเกมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำข่าว เช่น หมึกระเบิด พร้อมพัฒนาให้สามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา ฝึกทักษะ

ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยง, ความคิดสร้างสรรค์, การสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์อันดีให้ผู้เล่น ให้ความสำคัญกับการมีปฎิสัมพันธ์ของกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และ Z จนออกมาเป็น Virtual Boardgame “หยิบคำ ทำข่าว” ที่ให้ผู้เล่นได้รวมกลุ่ม 3-6 คน เพื่อผลัดกันเป็นโฮสต์ในการแต่งพาดหัวข่าวสุดปั่นในหมวดต่าง ๆ แล้วให้ผู้เล่นคนอื่นทายว่าใครเป็นผู้แต่งพาดหัวข่าวนั้น ใครหลอกเก่งหรือใครเดาเก่งที่สุดจะเป็นผู้ที่ได้รับคะแนน และเป็นผู้ชนะในเกมนั้น โดยสามารถเล่นได้สนุกในกลุ่มเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการรวมตัวช่วงหลังเลิกเรียน เลิกงาน การรวมตัวกันปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งการเล่นเพื่อความสนุกสนานภายในครอบครัว

ด้านคุณธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เทรนด์​ วีจี 3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์) ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันโปรเจกต์นี้ กล่าวว่า “จาก Core Value ของความเป็นไทยรัฐ คือ การเป็นแบรนด์ข่าวที่อยู่คู่กับคนไทยมานานกว่า 60 ปี ตั้งแต่ยุคหนังสือพิมพ์ และมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในวันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของไทยรัฐออนไลน์ ในการเป็นมากกว่าแบรนด์ที่นำเสนอคอนเทนต์ข่าว แต่ยังมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ข่าวที่ยึดผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centric) สร้างการมีส่วนร่วมในการใช้งานเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ มากกว่าการรับข่าวสารทางเดียวแบบเดิม พร้อมต่อยอดการนำ Data ที่ได้รับมาใช้พัฒนาปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) ให้ตอบโจทย์อย่างตรงจุดมากขึ้น ตามยุทธศาสตร์การเป็น Media Tech Company ของไทยรัฐกรุ๊ป

นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนไอเดียของคนไทย ผู้เข้าแข่งขัน Thairath Hackathon ให้เกิดขึ้นจริงไม่จบอยู่เพียงการนำเสนอเท่านั้น โดยหลังจากนี้ ไทยรัฐออนไลน์ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนและส่งเสริมคนไทยให้มีองค์ความรู้และมีส่วนร่วมในการคิดค้นนวัตกรรมด้านสื่อใหม่ ๆ ซึ่งในปีนี้ยังเตรียมเปิดตัวกิจกรรม Thairath Hackathon 2023 ที่จะเข้มข้นขึ้น ทั้งการจัดกิจกรรม คัดเลือกเหล่าเมนเทอร์ และโจทย์การแข่งขัน สามารถรอติดตามรายละเอียดได้ทุกช่องทางของไทยรัฐซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้การเปิดตัว Virtual Boardgame ของไทยรัฐออนไลน์ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของวงการสื่อในประเทศไทย ที่มีการปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานผู้ใช้งานเดิม และเพิ่มเติมผู้ใช้งานใหม่ ตอบโจทย์การสร้างฐาน Membership เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดข้อมูลในการสร้างสรรค์ Customized User Experience ให้ตรงใจผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเล่น Virtual Boardgame “หยิบคำ ทำข่าวที่ได้ใช้ทั้งไหวพริบ พร้อมได้รับความสนุกสนานได้ที่ https://game.thairath.co.th/newscreator และสามารถรอติดตามข่าวสารการรับสมัครของ Thairath Hackathon 2023 ได้ทางเว็บไซต์ของไทยรัฐออนไลน์ที่ www.thairath.co.th หรือโซเชียลมีเดีย Thairath Online ทุกช่องทาง