ปิดฉากกันไปเรียบร้อยกับงาน Thailand Best Blog Awards 2017 by CP All ซึ่งเป็นงานที่เฟ้นหาบล็อกที่ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ ไม่จำกัดว่าจะเป็นเว็บไซต์ พอดแคสต์ หรือยูทูบเบอร์ ขอเพียงแค่เป็นคนที่สร้างคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ก็สามารถส่งบล็อกมาประกวดได้เพื่อหาสุดยอดบล็อกเกอร์ไทยที่สร้างคอนเทนต์ออกมาได้อย่างสนุก สำหรับรางวัล Thailand Best Blog Awards 2017 by CP All ปีนี้มีทั้งหมด 5 สาขาแยกย่อยออกมาตามรายละเอียดของบล็อกในรูปแบบต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับบล็อกทุกแนวได้เข้ามาชิงรางวัล และสรุปผลรางวัลของบล็อกต่างๆ ที่ได้รับรางวัลมีดังนี้ รางวัลบล็อกแห่งปี – Mission To The Moon : บล็อกของ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ แห่งศรีจันทร์ ซึ่งเขาสร้างบล็อกขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องของการรีแบรนด์ ‘ศรีจันทร์’ เครื่องสำอางไทยที่สร้างความฮือฮาเพราะรวิศ เปลี่ยนศรีจันทร์ จากแบรนด์เก่าแก่เจาะตลาดคนสูงอายุ ให้กลายเป็นแบรนด์เครื่องสำอางไทยที่ครองใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาของการทำแบรนด์ได้อย่างดี รางวัลบล็อกหน้าใหม่ยอดเยี่ยม – Spaceth.co : บล็อกของกลุ่มเด็กๆ มัธยมอายุระหว่าง 16 – 19 ปี ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างสนุก ไม่เพียงแค่ฉลาดในการเล่าเรื่อง หรือเลือกประเด็นเท่านั้น แต่ยังรู้จักวิธีการนำเสนอที่ถูกจริตคนอ่านแบบออนไลน์ รางวัลบล็อกให้ความรู้ยอดเยี่ยม – วิทย์สนุกรอบตัว : อีกหนึ่งบล็อกแนววิทยาศาสตร์ และความรู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ของคณาจารย์สายวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่หยิบเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ยากๆ แบบยากมากๆ มาย่อยให้ง่ายแบบง่ายมากๆ จนใครอ่านก็เข้าใจ รางวัลบล็อกสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม – ไม่มีผู้ได้รับรางวัล บล็อกสร้างสรรค์สังคม (Blog Social Responsibility) – Volunteerspirit เครือข่ายจิตอาสา : รางวัลพิเศษที่มอบให้แก่บล็อกที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคมได้อย่างดีเยี่ยม และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการส่งต่อแต่สิ่งที่ดีในสังคมไทย นอกจากจะมีการประกาศผลรางวัลแล้วยังมีงานเสวนาให้ความรู้จาก 3 วิทยากรที่เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ ได้แก่ ‘สโรจ เลาหศิริ’ Chief Marketing Officer ของ Rabbit’s Tale มาแชร์ความรู้ในฐานะนักตลาดออนไลน์, ‘ทีปกร วุฒิพิทยามงคล’ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Matter สำนักข่าวออนไลน์ทีฮิตที่สุดในยุคนี้ คนสุดท้ายคือ ‘วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหาร’ นิตยสาร Happening มาแบ่งปันเรื่องการทำสื่อของคนยุคก่อน ที่เชื่อมโยงกับสังคมและโลกออนไลน์ สำหรับสาระสำคัญของวิทยากรแต่ละท่าน เราได้สรุปมาให้แล้ว ทำบล็อกอย่างไรให้เอเจนซีและคนอ่านรัก – สโรจ เลาหศิริ บี สโรจ แห่ง Moonshot Digital Agency มาเล่าเรื่องการเป็นบล็อกเกอร์ที่ดีซึ่งเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องการตลาด และการสร้างแบรนด์ให้บล็อกของตัวเอง หากอยากจะเป็นบล็อกเกอร์ที่เติบโตบนโลกออนไลน์ต้องรู้เรื่องใดบ้าง และการตลาดจะช่วยในการทำบล็อกอย่างไร นี้คือบทสรุปจากสโรจน์ ในมุมการตลาดผู้บริโภคของบล็อกเกอร์ก็คือคนอ่าน แต่เมื่อบล็อกเกอร์เกิดขึ้นมาจำนวนมาก คนที่สำคัญกับบล็อกเกอร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอ่านคือแบรนด์หรือเอเจนซี นี่คือสองฝั่งที่บล็อกเกอร์จะต้องบาลานซ์ความสำคัญให้ตรงกันเพื่อสร้าง Value ที่ดีให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย บล็อกเกอร์ต้องทำคอนเทนต์ให้ดี นั่นคือสิ่งที่ทุกคนทราบแต่คอนเทนต์ที่ดีเป็นแค่ด้านบนของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะต่อให้คุณทำคอนเทนต์ได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณลืมสิ่งที่อยู่ใต้ฐานภูเขาน้ำแข็งซึ่งเป็นฐานของบล็อกเกอร์ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่คุณทำบล็อก, ข้อมูลเชิงเทคนิคที่มีการเปลี่ยนแปลง, ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบล็อกเกอร์, การทำ SEO หรือกระทั่งการ Analyse ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบล็อกของเรา ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งที่โซเชียลกำลังพูดถึง ณ ขณะนั้นเราก็อาจจะพลาดได้ง่ายๆ ความท้าทายของเหล่าบล็อกเกอร์หรือพับลิชเชอร์ในยุคนี้มีสามข้อหลักๆ คือ Velocity หรือความเร็ว ช้าไปวินาทีก็ถือว่าเราตกขบวนแล้วและใครที่เร็วและลึกกว่าก็จะได้รับการตอบรับที่ดีกว่า การทำคอนเทนต์ยุคนี้วัดความเร็วกันเป็นหน่วยวินาที , Variety หรือความหลากหลาย ให้เรานึกไว้เสมอว่าวันนี้คุณพาดหัวคอนเทนต์อะไรก็ตามมีคนเขียนแล้ว ดังนั้นเราจะเขียนอย่างไรในยุคที่คอนเทนต์นั้นใครๆ ก็ทำ และสุดท้ายคือ Volume หมายถึงปริมาณคอนเทนต์ที่มีมหาศาลมากบนโลกออนไลน์ ปีที่ผ่านมามนุษยชาติผลิตข้อมูลเยอะที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเกิดขึ้นมาเพราะการกำเนิดของโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีที่เอื้อให้คนผลิตคอนเทนต์ได้ง่าย บล็อกเกอร์ต้องสู้กับสามสิ่งนี้ให้ได้ คุณค่าของการเป็นบล็อกเกอร์ที่ดีคือตัวตน หรือลายเซ็น ลองย้อนไปดูคอนเทนต์ที่คุณผลิตขึ้นมา ลายเซ็นของคุณคืออะไร ทำไมคอนเทนต์ของคุณถึงทำให้คนอื่นเลื่อนนิวฟีดมาเจอแล้วสะดุดพร้อมจำได้ทันทีว่าคุณคือคนทำคอนเทนต์นี้ และต้องมีจุดยืนหากวันหนึ่งจุดยืนคุณไม่แน่น เราจะเสียเอกลักษณ์ที่สร้างมา และสุดท้ายคือความสำเร็จสะสม บล็อกเกอร์ต้องขยันผลิตคอนเทนต์ที่ดีออกมาเรื่อยๆ อย่าหยุดแค่งานชิ้นเดียวที่ประสบความสำเร็จ คุณค่าที่ผู้บริโภคและแบรนด์มองหาจากบล็อกเกอร์คือความโปร่งใสและความจริงใจ ทคนอ่านรู้ว่าบล็อกเกอร์รับเงินมารีวิว รู้ว่าบล็อกเกอร์ถูกเชิญไปงานดังนั้นไม่ต้องแกล้งเนียนว่ารีวิวเอง แต่สิ่งที่เขาต้องการคือบล็อกเกอร์สามารถเล่าอย่างตรงไปตรงมาได้ไหมว่าได้รับเชิญไปงาน ได้รับการว่าจ้าง แต่เราจริงใจแค่ไหนในการจะเล่าเรื่อง อย่าลืมว่ายุคนี้ความจริงใจเช็คกันได้ง่ายมากๆ สิ่งที่แบรนด์มองหาบล็อกเกอร์ที่อยากจะร่วมงานด้วยวิเคราะห์ได้สามอย่างคือ Fit หมายถึงกลุ่มเป้าหมายของผู้อ่านเราตรงกับสินค้าไหม คาแรคเตอร์ของเพจ หรือเว็บไซต์ตรงกับสินค้าหรือเปล่า และเวลาตอนนั้นเหมาะสมแค่ไหนกับการที่ทำงานร่วมกัน การที่บล็อกมีแบรนด์ที่ชัดจะทำให้เอเจนซี หรือแบรนด์เลือกร่วมงานได้ง่ายขึ้น , Fact คือเรื่องของตัวเลข พอมีเรื่องของดิจิทัลเข้ามาก็จะมีเรื่องยอดคนอ่าน หรือยอดปฏิสัมพันธ์มาเป็นสิ่งที่เอเจนวีตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่บล็อกเกอร์ต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่อง Data Analytic และ สุดท้ายคือ Feeling คนเราตัดสินใจจากความรู้สึกว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ไหมตั้งแต่การคุยงาน ชื่อเสียง ไปจนถึงการนำเสนอ ตอนนั้นภาพลักษณ์ของบล็อกคุณเป็นอย่างไร มารยาทที่คุยกันเราคุยกันแบบ Partner หรือ Vendor 10 วิธีทำสื่อออนไลน์อย่างไรให้อยู่รอด – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แชมป์ ทีปกร เล่าว่ายุคนี้ต้องทำคอนเทนต์ลงเฟซบุ๊ก ให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊กซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ แม้กระทั่งสื่อต่างประเทศใหญ่ๆ ก็ยังต้องยอมเดินตามกฎที่เฟซบุ๊กกำหนดไว้จนเสียตัวตน เสียเอกลักษณ์ และเสียประโยชน์หลายอย่าง เแต่ถ้าวันหนึ่งเมื่อเราไม่ง้อเฟซบุ๊ก หรือง้อโฆษณาคนทำสื่อออนไลน์จะอยู่รอดได้ด้วยวิธีไหนบ้าง เขาจะมาแชร์ 10 แนวทางที่ทำให้คนทำสื่อออนไลน์อยู่รอด อ้างอิงจากทวิตของ Marc Andreessen ผู้ร่วมก่อตั้ง Netscape และ Nicola Thompson นักข่าว New York Time ขายโฆษณา : คือโมเดลที่ทำให้สื่ออยู่รอดแต่ถ้าทุกคนแข่งกันทำคอนเทนต์เพื่อขายโฆษณา ทำให้เร็วขึ้น ทำตามใจของเฟซบุ๊กมากขึ้น แข่งขันกันลดราคาในที่สุดสื่อออนไลน์ก็จะแพ้กันไปหมด สมัครสมาชิก : อีกหนึ่งโมเดลการทำธุรกิจที่น่าสนใจคือสมัครสมาชิก แต่เมืองไทยโมเดลนี้อาจไม่เวิร์ก แต่ที่ได้ผลก็คือ New York Time ที่ทำรายได้จากการสมัครสมาชิกได้มากกว่าการขายโฆษณา Premium Content : ทำคอนเทนต์ให้อ่านฟรี แต่หากคนอ่านอยากจะอ่านคอนเทนต์ที่ลงลึกมากไปกว่านั้นก็ให้จ่ายเงินมา Event : การจัดอีเวนต์หรืองานสัมมนาในสิ่งที่สื่อนั้นๆ เชี่ยวชาญก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้เราเอง สื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องการขายคอนเทนต์บนออนไลน์เท่านั้น แต่สามารถหารายได้จากช่องทางออฟไลน์ก็ได้มีคุณค่าเหมือนกัน Cross Media : การนำคอนเทนต์ที่ตัวเองมีไปกระจายอยู่ในช่องทางอื่นที่มากกว่าบนออนไลน์เช่นเขียนหนังสือ หรือทำเพจจนดังแล้วผันตัวเองไปเป็นพิธีกรในสายงานที่ตัวเองถนัด หรือทำเพจจนดังแล้วมีคนซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีย์ นั่นก็นับว่าเป็นการ Cross media Crowdfunding : การระดมทุนจากมวลชนมาเพื่อสร้างรายได้โดยเรามีหน้าที่ทำคอนเทนต์ดีๆ เพื่อแลกกับการระดมทุนจากคนอ่าน เช่น The Guardain ขอบริจาคเงินทุนจากคนอ่านเพื่อนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการทำข่าวที่ลึกขึ้นทุกครั้งที่มีสำนักข่าวนี้ไปทำข่าวที่เจาะลึกรายได้จะเพิ่มขึ้นโดยมาจากยอดบริจาค แต่สื่อไทยไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้โมเดลนี้ได้ไหม ใช้ Bit Coin เพื่อ Micro Payment : โมเดลนี้คือการซื้อขายคอนเทนต์ทั่วๆ ไปแต่ใช้บิทคอยน์มาจ่าย ซึ่งมีโอกาสที่จะได้เงินมากขึ้นและจ่ายได้ง่ายขึ้น รอคนมาสนับสนุน : โมเดลนี้คือการทำสื่อให้ดีทำไปเรื่อยๆ แล้วจะมีใครสักคนลงมาให้ทุนสนับสนุนคุณเองเช่นสำนักข่าว Old Publica ก็ทำงานไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็มีมูลนิธิหนึ่งมาให้ทุนจนสามารถอยู่รอดได้ ทำสื่อแต่ไม่ขายพื้นที่สื่อ : มีเว็บไซต์หนึ่งที่ชื่อว่า Atavis ซึ่งเป็นเว็บแนว Content Management System (CMS) ทำสื่อของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ได้ต้องการที่ขายโฆษณา แต่ทำสำนักข่าวของตัวเองขึ้นมาเพื่อโชว์แพลตฟอร์มของตัวเองในเว็บตัวเอง เผื่อใครอยากจะทำเว็บบ้างก็สามารถมาซื้อธีม หรือซื้อบริการแพลตฟอร์มจาก Atavis ได้ ซื้อหุ้นบริษัทที่คาดว่าจะโต : อันนี้เป็นวิธีที่อาจดูโกงๆ สักเล็กน้อยคือไปทำข่าวธุรกิจของบริษัทต่างๆ ก่อนที่จะเขาจะประกาศนโยบายออกมาแล้วค่อยไปซื้อหุ้นของบริษัทนั้นมาแล้วขายไปเพื่อเอากำไร เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก – วิภว์ บูรพาเดชะ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Happenning ‘วิภว์ บูรพาเดชะ’ ในฐานะคนทำสื่อรุ่นเก๋าไม่ได้ขึ้นมาเพื่อเล่าหรือแชร์เรื่องการเป็นสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่เขานำเพลงมาสามเพลงเพื่อเปิดให้คนฟัง ก่อนจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับบล็อกเกอร์ หรือคนทำสื่ออย่างไร เราได้สรุปให้ฟังพร้อมฟังสามเพลงนั้นไปด้วย บนโลกใบนี้ยังไงเราก็ต้องอยู่ร่วมกันคนอื่น บางทีเราอาจจะไม่ชอบใจเพื่อนจากสเตตัสหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วเราไม่ได้แค่อยากจะลบใครจากการเป็นเพื่อนเพราะแค่สเตตัสเดียวที่เราไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบอย่างไรเราก็ต้องอยู่ด้วยกัน เราไม่จำเป็นต้องสร้างความเกลียดหรือความรุนแรงบนพื้นที่นี้ บล็อกเกอร์ก็คือสื่อมวลชน เป็นเจ้าของพื้นที่ที่สามารถสื่อสารกับทุกคนบนโลกได้ เราสามารถพูดได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกเราบ้าง และการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ควรจะพูด บางทีบทความที่เราพูดถึงอาจจะไม่ใช่งานที่อยู่ยั้งยืนยงแต่เราคือสื่อมวลชนเรามีสิทธิ์จะพูด ทุกคนที่เป็นสื่อบางครั้งบางเรื่องเราอาจจะนึกไม่ถึงว่ามีเสียงที่เราควรจะได้ยินบ้าง แต่ลองฟังดีๆ เราอยากจะได้ยินเสียงบางอย่างที่รอให้เราได้ยิน เป็นเสียงในความเงียบที่อาจจะมีคำแนะนำที่ดี และช่วยเปิดโลกของเราก็ได้ Marvin Gaye – What’s Going On เสียงในความเงียบ – คิว Flure Inchan Tree – สครับ (Scrubb)