สองปีที่ผ่านมานี้สื่อสิ่งพิมพ์ไทยจัดได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ขาลงอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่ตัวเลขยอดค่าโฆษณาเท่านั้นที่ตกฮวบทั้งในวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร แต่ข่าวการปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวทั้งเล็ก และใหญ่ก็เป็นการยืนยันว่าสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วงขาลงจริงๆ โดยเฉพาะในปี 2016 จากบทความนี้จะทำให้เราเห็นสถานการณ์ที่ชัดเจนขึ้นว่าวงการสิ่งพิมพ์ไทยตลอดสองปีที่ผ่านมาว่า อยู่ในขั้นโคม่าจริงไหม หรือสถานการณ์อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด นี่คือสรุปเรื่องราวทั้งหมดของวงการสิ่งพิมพ์ไทยตลอดปีที่ผ่านมา สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในยุคขาลงจริงไหม สื่อสิ่งพิมพ์ไทยเข้าสู่ยุคขาลงมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่สถานการณ์โลกสื่อสิ่งพิมพ์หัวใหญ่ๆ ได้รับผลกระทบมานานแล้ว อย่าง The Independent,The Daily หรือ The New York Time ที่ประกาศตัวปิดหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการแล้วกระโดดไปให้บริการบนออนไลน์แทน หรือนิตยสารผู้ชายอย่าง Penthouse FHM หรือ Zoo เองก็ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว อีกทั้งคนหันไปเสพภาพวาบหวินบนเน็ตแทนที่จะมาอ่านหนังสือแบบเดิม ก็เลยประกาศปิดตัว แต่โชคดีที่มีบางเจ้ามีนายทุนมาหนุนให้ทำต่อ แต่บางเล่มก็ปิดตัวไปเลย ตัดกลับมาที่เมืองไทยสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ขาลงเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2014 แล้ว แต่ในปี 2015 สถานการณ์เริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์หลายหัวประกาศลาแผงทั้งหัวเล็กและหัวใหญ่ อย่างเช่นนิตยสารเปรียว ก่อนที่ปีถัดมา สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง นิตยสารหัวใหญ่หลายหัวก็เริ่มปิดตัวทั้ง Image และ Volume รวมไปถึงหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการในสิ้นปีนี้ เพียงสองปี มีสื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจากไปมากมายราวกับติดไวรัส ตอนนี้เหลือแค่เพียงรอยาแอนตี้ไวรัสเพื่อมารักษาไม่ให้เกิดการล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ สิ่งพิมพ์ที่ปิดตัวมีอะไรบ้างนับตั้งแต่ปี 2015 – 2016 นิตยสารพลอยแกมเพชร นิตยสารสกุลไทย นิตยสาร Image นิตยสารการ์ตูน C-Kids นิตยสาร Oops! นิตยสาร VIVA Friday นิตยสาร KC Weekly นิตยสาร Candy นิตยสาร Volume นิตยสาร Cosmopolitan นิตยสาร Seventeen นิตยสาร Who นิตยสารเปรียว นิตยสาร Writer นิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ นิตยสาร ILike หนังสือพิมพ์บ้านเมือง และอีกมากมาย 4 สาเหตุสำคัญของยุคสิ่งพิมพ์ขาลง สิ่งที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ยืนหยัดต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงไม่ไหวสามารถวิเคราะห์สาเหตุออกมาได้ดังนี้ งบโฆษณาลดลง : จากสถิติของเดอะนีลสันคอมปะนี แสดงสถิติยอดค่าโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารที่ลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2559 แม้บางปีจะยอดตัวเลขขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากัน แต่โดยรวมถือว่ายอดตกลงเฉลี่ย 14% จากเดิมปี 2549 มีเม็ดเงินในตลาดโฆษณาสื่อนิตยสารอยู่ที่ 6,140 ล้านบาท ทว่าปี 2558 ยอดค่าโฆษณาลดลงเหลือ 4,227 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะตกลงเรื่อยโดยปี 2559 จากการสรุปยอดโฆษณาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ยอดค่าโฆษณาในอุตสาหกรรมนิตยสารโดยรวมอยู่ที่ 1,506 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีอาจโตไม่เกิน 3,200 ล้านบาท ทว่าหนังสือพิมพ์ยอดโฆษณาแม้ตกลง แต่ก็ยังไม่น่าห่วง คนอ่านลดลง : แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการถึงยอดจำนวนผู้อ่านที่ลดลงว่าโดยเฉลี่ยหายไปกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จากการคาดการก็ค่อนข้างจะแน่นอนว่าคนอ่านหนังสือโดยเฉพาะนิตยสารลดลง และนิตยสารที่เคยเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลต่อความคิด ความสนใจ และการรับรู้ข่าวสารของคนอ่านกลายเป็นสื่อออนไลน์ที่ได้รับอิทธิพลมากกว่าเมื่อคนอ่านนิตยสารลดลง อิทธิพลก็ลดลง ส่งผลให้ยอดโฆษณาลดลงตามไปด้วย ในส่วนของฝ่ายประชาสัมพันธ์แบรนด์ หรือบริษัทต่างๆ ก็ให้ความสนใจที่จะเชิญบล็อกเกอร์ หรือสื่อออนไลน์มาทำข่าวมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหลังมีการแบ่งรอบของสื่อชัดเจนไม่ปนกัน ช้ากว่าออนไลน์ : ความที่นิตยสารไม่สามารถให้ความรู้ความสนใจได้รวดเร็วกว่าสื่อออนไลน์ อีกทั้งยังเข้าถึงยาก ขณะที่สื่อออนไลน์สามารถเสิร์ฟในสิ่งที่ผู้รับสารต้องได้เร็วกว่า และใช้เวลาไม่นานในการเข้าถึงข้อมูล ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์โดนมองว่าช้า และไม่ตอบโจทย์ แม้ด้านข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์อาจจะละเอียดกว่า และลงลึกกว่าในบางเรื่อง กระนั้นความต้องการของผู้รับสารดูเหมือนว่าจะให้ความสำคัญเรื่องรายละเอียดลดลงไป แต่เอาความเร็วมาแทนที่ ต้นทุนเพิ่มขึ้น : ต้นทุนในการพิมพ์นิตยสารถือจัดว่าเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะค่ากระดาษซึ่งเป็นต้นทุนหลักประมาณ 40 – 50% ของต้นทุนทั้งหมด ทำให้หลายค่ายที่ต้องแบกรับต้นทุนค่าโปรดัคชั่นไม่สามารถรับต้นทุนการผลิตนิตยสารต่อเดือนได้ไหว บางส่วนเลือกที่จะปรับตัวไปเป็นฟรีก็อปปี้ บางเล่มเปลี่ยนกำหนดการการออกจากรายปักษ์ก็เป็นรายเดือน หรือจากรายเดือนเป็นรายสองเดือนเพื่อพยุงไม่ให้ล้ม ขณะที่บางส่วนเลือกที่จะปิดตัวนิตยสารไปเลย 5 ทางรอดของสิ่งพิมพ์ในปี 2559 แม้จะดูเหมือนว่าทางรอดของสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะนิตยสารรายได้ค่อยๆ ตกลงไปเรื่อยๆ จนเหมือนทางรอดจะริบหรี่เต็มที่ แต่ก็มีผู้บริหารสื่อยักษ์ใหญ่หลายค่ายเชื่อว่า ‘นิตยสารจะไม่ตาย’ แม้รายได้จะลดลงไปมาก แต่คู่แข่งก็ลดลงไปมากเช่นกัน ตอนนี้สภาวะของวงการนิตยสารจึงอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าใครดำน้ำอึดสุดก็รอดไป นิตยสารบนแผงจะเหลือแค่ 50 หัวก็ไปใช่ปัญหา เพราะนั่นคือ 50 หัวสุดท้ายที่จะได้แบ่งเค้กในเม็ดโฆษณาอย่างเต็มเม้ดเต็มหน่วย ดังนั้นจึงต้องอึดไว้ก่อน และขั้นตอนระหว่างดำน้ำนี่แหละสำคัญ ซึ่งมีอะไรบ้างที่สื่อสิ่งพิมพ์ยุคนี้ทำเพื่ออยู่รอด เสริมทัพออนไลน์ : ค่ายนิตยสารทุกแห่งมีขุมทรัพย์ที่เรียกว่า Content อยู่ในมือมหาศาลยิ่งเป็นนิตยสารที่อยู่มานานเท่าไหร่ และมีการเก็บข้อมูลที่ดีก็จะยิ่งมีเนื้อหาทั้งรูป และบทความที่พร้อมจะย้ายไปบทสัมภาษณ์ดีๆ หรือบทความดังในอดีตที่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่านมากมาลงออนไลน์ ทว่าการจะย้ายเนื้อหาจากสิ่งพิมพ์ไปสู่ออนไลน์ก็จะมีข้อจำกัดในการนำเสนอ ก็อยู่ที่ว่าค่ายไหนจะมีกลยุทธ์ในการนำเสนอเนื้อหาจากสิ่งพิมพ์ไปสู่บนออนไลน์ได้อย่างไร การคิดแค่เพียงว่าเอาเนื้อหาที่มีไปแปะๆๆ บนเว็บก็จบแล้วถือว่าคิดผิด เนื่องจากธรรมชาติของผู้อ่านบนออนไลน์กับสิ่งพิมพ์แตกต่างกัน การเลือกวิธีนำเสนอจึงมีความสำคัญไม่แพ้การเลือกเนื้อหา การขยายไปยังโลกออนไลน์ทำให้นิตยสารสามารถรักษาฐานคนอ่านได้ และยังเป็นช่องทางในการขายโฆษณาหรือ Content พิเศษบนออนไลน์ได้อีกด้วย เปลี่ยนเป็นฟรีก๊อปปี้ : ไพ่ตายสุดท้ายของแมกกาซีนทุกเล่มที่เรียกได้ว่าหากไม่จวนตัวจริงๆ หรือมั่นใจว่าการหนีตายไปฟรีก็อปปี้ถือเป็นอาวุธสุดท้ายที่จะทำให้นิตยสารอยู่รอด สาเหตุที่ฟรีก็อปปี้เป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากฟรีก็อปปี้ต้นทุนถูกในแง่ของต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายทีมงาน ต่อให้ทำเป็นรายสัปดาห์ต้นทุนก็ถูกกว่าทำนิตยสารรายเดือนอยู่ดี คาดว่าปี 2017 เราจะได้เห็นนิตยสารที่เคยเป็นรายเดือนปรับเปลี่ยนมาเป็นฟรีก็อปปี้เยอะขึ้น แต่หากฟรีก็อปปี้ยังไม่รอดอีกก็คงต้องปิดตัว สร้าง Special Content : จุดแข็งของสิ่งพิมพ์ที่ยังมีอยู่ความละเอียดของเนื้อหา ที่จับต้องได้ หรือมีความพรีเมียมจากรูปเล่มหรือรูปภาพ และด้วยรูปแบบการอ่านทำให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสไปที่เนื้อหาได้มากกว่าสื่อออนไลน์ที่เน้นอ่านฉาบฉวยรวดเร็ว ดังนั้นสื่อสิ่งพิมพ์จึงต้องคิด Content ที่เด็ดจริงๆ ในการดึงดูดคนอ่าน แม้คนอ่านจะน้อยลงเต็มที แต่การสร้างภาพลักษณ์ให้นิตยสารเป็นที่พูดถึงอยู่ ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อบอกว่านิตยสารของเรานั้นยังคงทรงอิทธิพลต่อคนอ่านอยู่แม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากแล้วก็ตาม สร้างโมเดลเพื่อหารายได้แบบใหม่ : หมดยุคที่ลูกค้าจะมาลงโฆษณาแบบ Full Page หรือแอดเวอร์ฯ ขายของง่ายๆ แล้ว ในยุคใหม่วงการสิ่งพิมพ์ต้องใช้งานฝ่ายครีเอทีฟมาร์เกตติ้งมาช่วยคิดเนื้อหาเฉพาะของลูกค้าให้มีลูกเล่น และเนียนมากกว่าเดิม รวมถึงทรงคุณค่ามากกว่าเป็นแค่แอดเวอร์ฯ ที่คนเปิดผ่าน ลดพนักงาน : เป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยมีใครอยากเลือกใช้นัก แต่ก็ถือว่าเพื่อให้องค์กรอยู่รอดก็ต้องมีการตัดแขนตัดขา ตลอดปี 2016 ที่ผ่านมาองค์กรสื่อทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างก็ใช้นโยบายปลดพนักงานออกมีทั้งระบบสมัครใจ และปลดออกทันที เพื่อลดค่าใช้จ่าย คาดว่าปี 2017 ก็จะได้เห็นสถานการณ์ปลดพนักงานออกอย่างต่อเนื่อง โดยตำแหน่งแรกๆ ที่จะโดนออกก็คือช่างภาพ ตามมาด้วยกองบรรณาธิการ ในอนาคตกองบรรณาธิการ อาจจะมีแค่ บรรณาธิการบริหารกับผู้ช่วยคนเดียวเท่านั้น ส่วนนักเขียนจะใช้เป็นฟรีแลนซ์แทนเนื่องจากต้นทุนถูกกว่าจ้างพนักงานประจำ ปี 2017 สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ และพ็อคเก็ตบุ๊คในปีหน้าจะเป็นอย่างไร นี่คือการคาดเดาตามความน่าจะเป็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า – จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เชื่อว่าวงการหนังสือเล่มหรือพ็อคเก็ตบุ๊คจะไม่ตาย เพราะเป็นเนื้อหาเฉพาะยังขายได้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ยอดขายจะใกล้กัน และจะอยู่ได้ด้วยการขายออนไลน์ – ร้านขายหนังสือออนไลน์จะมีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีแค่ไม่กี่เจ้าเช่น Readery หรือ Bookmoby – ทุกสำนักพิมพ์จะเพิ่มช่องทางการขายบนออนไลน์มากขึ้น – นิตยสารจะปรับตัวไปเป็นฟรีก็อปปี้หลายหัว หรือมีนิตยสารหัวใหม่ที่เป็นฟรีก็อปปี้เกิดขึ้น – มีนิตยสารปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก หรือปรับตัวให้ออกช้าลงเพื่อหาทางรอด – นิตยสารจะบุกช่องทางออนไลน์มากขึ้น หากพบโมเดลในการทำเงิน – หนังสือพิมพ์จะยังอยู่รอดเนื่องจากยอดโฆษณายังไม่ตกมาก หนังสือพิมพ์ถือว่ายังทำกำไรอยู่โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวัน แต่หนังสือพิมพ์หัวเล็กอาจไม่รอด – ธุรกิจนิตยสารจะอยู่ในช่วงขาลง จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าเปิดเผยผลสำรวจธุรกิจ – มีการปลดพนักงานในสายงานสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น ที่มา – Bangkokbiznews, thaipublica, Marketingoop!, Thaipost และ thaipublica2