Mango Zero

เปิดสถิติกลโกงออนไลน์ 1 ปี ร้องเรียนพุ่ง 2.5 แสนเรื่อง เสียหายกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท “หลอกลองซื้อขายสินค้า” ครองอันดับ 1

เว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ www.ThaiPoliceOnline.com เผยสถิติผู้ร้องเรียนปัญหาภัยออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 21 มีนาคม 2566 มีคดีความออนไลน์กว่า 247,753 เรื่อง

โดยแบ่งเป็นคดีออนไลน์ 224,001 เรื่อง คดีอาญาอื่นๆ 7,684 เรื่อง จำหน่ายออกจากระบบ 16,068 เรื่อง ขณะที่ผลการอายัดบัญชีที่มีคำร้องทั้งหมด 74,129 บัญชี มีการขออายัด 54,017 บัญชี ยอดเงิน 6,941 ล้านบาท และอายัดได้ทัน 449 ล้านบาท รวมมูลค่าความเสียหาย 32,083 ล้านบาท

อีกทั้งยังมีการจัดอันดับ Top5 ประเภทความเสียหายที่ประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงมากที่สุด ได้แก่

1.หลอกลวงซื้อขายสินค้า จำนวน 75,307 ครั้ง คิดเป็น 33.62% ความเสียหาย 1,003 ล้านบาท
2.หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม จำนวน 30,753 ครั้ง คิดเป็น 13.73% ความเสียหาย 3,415 ล้านบาท
3.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน จำนวน 25,412 ครั้ง คิดเป็น 11.34% ความเสียหาย 1,058 ล้านบาท
4.หลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (คอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20,682 ครั้ง คิดเป็น 9.23% ความเสียหาย 3,601 ล้านบาท
5.หลอกให้ลงทุน (ที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน) จำนวน 16,742 ครั้ง คิดเป็น 7.47% ความเสียหาย 7,771 ล้านบาท

ขณะที่ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เผยกับสื่อว่า ภายหลังจากมีผลบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ที่ครอบคลุมเรื่องบัญชีม้าและมีการกำหนดโทษสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มทยอยปิดบัญชีไปมากขึ้น

สำหรับโทษในความผิดเปิดบัญชีธนาคารให้คนอื่นใช้ หรือที่เรียกกันว่า “บัญชีม้า/เปิดซิมม้า” มีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ มีโทษหนักตามราชกิจจานุเบกษา ที่ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับ ตั้งแต่วันนี้ 17 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา โทษตามกฎหมายระบุไว้ ดังนี้

– เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา ชักชวน และให้มีการซื้อ ขาย บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหมายโทรศัพท์ มีโทษจำคุก  2-5 ปี ปรับ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: thaipoliceonline, matichon