ไม่ว่าจะนานแค่ไหนธรรมชาติก็ยังสำคัญกับเราทุกคนเสมอ จากกระแสต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ที่ทุกคนเริ่มหันมาสนใจป่าไม้และธรรมชาติกันมากขึ้น จนเกิด #saveบางกลอย หรือ #saveนาบอน Mango Zero เลยจะพาทุกคนมาแนะนำบุคคลที่ทำคอนเทนต์สายธรรมชาติ และคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติจริง ๆ หลายคนเป็นกระบอกเสียงเรื่องธรรมชาติในไทยมานานก่อนกาลมาก ๆ และบางคนก็ทุ่มเทอุทิศตนให้กับการฟื้นฟูธรรมชาติจนเป็นผู้ริเริ่มโครงการฟื้นฟู และพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากมาย มารู้จักกับคนเท่ที่ทุ่มเทให้ธรรมชาติเหล่านี้กันเลย! 1. อเล็กซ์ เรนเดล “นี่ไม่ใช่ประเด็นแค่เรื่องรักป่ารักสิ่งแวดล้อม แต่มันคือการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมของเรา เพราะสุดท้ายแล้ว การทำลายสิ่งแวดล้อมอาจจะหมุนเวียนมาทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเอง” จากบทความ Greennews – ‘อเล็กซ์ เรนเดล’ ขึ้นแท่นทูตสันถวไมตรี UNEP ตั้งเป้าเป็นไอดอลรณรงค์สิ่งแวดล้อมผ่านเยาวชน 2. โจโฉ : Chanel Jocho Sippawat “ผมบอกเลยนะครับ การทำ YouTube ไม่ได้สนุกเท่าไหร่ มันเหนื่อยครับ แต่ผมทำเพราะอยากให้ทุกคนเห็น และเข้าใจธรรมชาติรวมทั้งวิถีชีวิตของเรากับสัตว์มากขึ้น บางคนอาจบอกผมว่าบ้าไปแล้ว ที่เรียนจบแล้วแบกเป้มาใช้ชีวิตในป่า” จากสัมภาษณ์ The Cloud – สวัสดีสัตว์โลกผู้น่ารัก 3. อ.ไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก “งานศิลปะที่เราแสดง ไม่จำเป็นต้องเขียนรูป เขียนกวี คุณจะทำอย่างไรก็ได้ คุณไม่ต้องกลัวว่าคนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่กลัว ไม่ละอาย มีความมั่นคง สิ่งที่เราต้องละอาย คือ การทำชั่ว ไม่ใช่การทำศิลปะ” “ป่าช้า ที่จริงแล้วคือ ป่าฌา หรือ ป่าชาญ ป่าแห่งนักปราชญ์ เพราะผมอยู่ในป่าแห่งนักปราชญ์ผมเลยต้องคิดเปลี่ยน คิดใหม่ ทำใหม่ เป็นคนใหม่” จากบทสัมภาษณ์รายการ Perspective 4. แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ “ที่แย่ที่สุดก็คือ เห็นน้ำที่ไหลจากกองขยะกลายเป็นลำธารเล็ก ๆ ลงไปอยู่ในน้ำทะเล พอน้ำขยะลงไปเยอะ ๆ มันก็สร้างอาหารให้กับสาหร่ายทะเล พอสาหร่ายเยอะปุ๊ป มันก็ไปกองอืด ทำให้ปะการังสังเคราะห์แสงไม่ได้ เป็นจุดที่ทำให้แพรสงสัยว่า เราสามารถทำอะไรได้บ้างในฐานะคนที่เกิดมา ก็เลยเริ่มเก็บขยะตามทะเล ลดการบริโภคของตัวเอง เปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตในเมือง สร้างขยะให้น้อยลง เป็นการเปิดประตูเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เราเลย” จากบทสัมภาษณ์ Travel Around the World – แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ เที่ยวเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชน 5. ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี “การเดินทางเท่านั้นที่ทำให้คนหายโง่ เดินทางเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ บางอย่างเห็นแค่อย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าไม่ได้เรียนรู้ คุณจะไม่มีวันเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเลย การก้าวออกไปจากกรอบความรู้ ความคิดเดิม ๆ ของตัวเรา ซึ่งจะทำให้เรามองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมถึงปัญหาสังคม ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม อะไรที่รู้จักอยู่แล้วก็อาจจะรู้จักเพิ่มมากขึ้น สำหรับผม การเดินทางในแต่ละย่างก้าวเป็นเหมือนการศึกษา ยิ่งเดินทางก็ยิ่งรู้” จากบทสัมภาษณ์ The Cloud – ก้อนหินในผืนป่า หากใครต้องการศึกษาเรื่องราวหรือแนวทางการอยู่กับธรรมชาติอย่างถูกต้อง และมีความสุข พร้อมฟื้นฟูธรรมชาติและพัฒนาแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม ก็ลองติดตามผลงาน บทสัมภาษณ์ หรือการดำเนินชีวิตของพวกเขาเหล่านี้กันให้มากขึ้นกันได้เลย!