เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการลดและเลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด ประกอบด้วย
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
- กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมโฟมกันกระแทกที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม
- แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
- หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้ในกรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น
มีเป้าหมายให้ “เลิกใช้” ภายในปี 2565 และเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติแบบ 100% แทน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการนำพลาสติกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของพลาสติกเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่
- ถุงพลาสติกหูหิ้ว
- บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว
- ขวดพลาสติกทุกชนิด
- ฝาขวด
- แก้วพลาสติก
- ถาด/กล่องอาหาร และ
- ช้อน/ส้อม/มีด
โดยมีมาตรการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่
- มาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการเกิดของเสียตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต
- มาตรการลด/เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค
- มาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
หากการดำเนินงานในส่วนนี้สำเร็จ รัฐบาลคาดว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณจัดการขยะได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี และการคัดแยก การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม จากสถิติพลาสติกในประเทศไทย ตามข้อมูลธนาคารโลก ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะพลาสติกต่อปีประมาณ 70 กิโลกรัม สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และเยอรมัน โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่สร้างมลพิษพลาสติกลงสู่มหาสมุทร
ที่มา BrandThink