เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ปีนี้ TEDxBangkok ยังคงกลับมาในรูปแบบของ TEDxYouth@Bangkok เวทีทีเปิดโอกาสให้เราได้รับฟังเสียงของเด็ก เสียงที่อาจเคยถูกมองข้าม เสียงที่ถูกกลบโดยผู้ใหญ่ ไอเดียของงานในปีนี้คือ กด Play ให้กับเสียงเหล่านี้ที่เคยถูก Pause ไว้ ทำให้ในปีนี้เรามีทั้งเรื่องราวและมุมมองต่าง ๆ ในทางที่น่ายินดีและในทางที่น่าจดจำและเรียนรู้และก้าวข้ามไปด้วยกัน
Speaker ของปีนี้นับว่าต้องชื่นชมทีม Curator เพราะสรรหามาได้อย่างหลากหลายเรื่องราวและครบรส ไม่ได้มีแต่การประสบความสำเร็จ ไม่ได้มีแค่ความสุข แต่โฟกัสไปที่ความเป็นจริง ความเจ็บปวด และเรื่องราวที่เด็กกลับต้องเจอ แต่พวกเขาเหล่านี้กลับพยายามทำความเข้าใจมันและออกมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้ฟังในที่สุด
สรุป 11 เรื่องราวจาก Speaker ทั้ง 11 คน
น้องแนน พินิฐนัน พรหมจันทร์ เดินขึ้นมาพร้อมกับพลังแห่งตัวเลือก เชื่อไหมว่าในแต่ละวันเราต้องตัดสินใจกันเป็นพัน ๆ ครั้ง จนบางทีเราเลือกที่จะเปิดโหมด Autopilot ให้กับตัวเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราเลือกล้วนทำให้เรากลายเป็นตัวตนของเรา ณ วันนี้ แนนเข้าใจผลของการตัดสินใจดีผ่านเรื่องราวของเธอในชีวิต การศึกษา การมองโลก ไปจนถึงความเข้าใจว่าทำไมเธอถึงเสียใจที่ไม่ได้กลับไปหาพ่อในวันสุดท้ายก่อนที่พ่อของเธอจะเสียชีวิต เด็กไทย ไม่ค่อยได้ถูกสอนให้คิด ให้เลือก แต่สุดท้ายมันสำคัญจริง ๆ
Key Takeaway: แนนสอนให้เรากล้าตัดสินใจต่าง ๆ เลือกอะไรต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตัวเอง และคำนึกเสมอว่าทุกการตัดสินใจของเรามา มีผลที่จะกลับมาหาเราในที่สุด
น้องภูมิ – ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กไทยที่ลาออกจากระบบการศึกษาและเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองจนไปไกลถึงการได้เป็นโปรแกรมเมอร์ที่ซิลิคอนแวเลย์ แต่สุดท้ายความสุขจริง ๆ ของภูมิคือการได้สวมหมวกนักสร้างให้กับเพื่อน ๆ น้อง ๆ เด็กไทย เพื่อหวังว่าพวกเขาจะได้เปลี่ยนจากเด็กที่เป็นตัวปัญหา กลายเป็นนักแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการคิด แม้เด็กจะเล่นโทรศัพท์ระหว่างเรียน แต่ความตั้งใจในการเล่นโทรศัพท์ของเด็กสองคนต่างกัน เราไม่สามารถเหมารวมว่าที่เขาเล่นโทรศัพท์เพราะเขาต่อต้าน เขาแค่หาสิ่งที่ดีกว่า แล้วเราจะทำไงให้สิ่งที่เราอยากจะมอบให้เขาเป็นสิ่งที่ดีกว่าเช่นกัน ทำอย่างไรให้คณิตศาสตร์ที่น่าเบื่อ กลายทาเป็นเรื่องสำคัญในเกม
Key Takeaway: อย่าตัดสินปัญหาเพียงแค่สิ่งที่เรามองเห็น ทุกเรื่องมีมุมมอง เรื่องราว และความคิดที่ซ่อนอยู่ การจะเป็นนักแก้ปัญหาที่เก่ง ไม่ใช่ว่าต้องเป็นใครมาจากไหน แต่จงเป็นตัวเราและสวมหมวกนักสร้างเพื่อเข้าใจปัญหาเล็ก ๆ รอบตัวเรา
น้องรัน – รัญชน์ บูรพาชีพ ใครไม่เคยโดนเหยียดบ้าง ทุกคนเคยโดนเหยียด และทุกคนก็เคยเหยียดคนอื่น ใครกันแน่ที่ผิด หรือไม่มีเลย เราเพียงแต่เพิกเฉยต่อสิ่งที่เรามองเห็น เหมือนกับหลุมที่อยู่หน้าบ้านเรา แต่เราเลือกที่จะเดินอ้อมไม่ยอมแก้ปัญหาแบบจริง ๆ จัง ๆ จนสุดท้ายหลุมนั้นก็ลึกจนเกินเยียวยา
Key Takeaway: ทุกครั้งที่เราหัวเรา ทุกครั้งที่เราเพิกเฉยต่อปัญหายิ่งสร้างความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
น้องกิ๊ก – นิศาชล คำลือ อีกหนึ่งเด็กไทยที่หันหลังให้กับระบบการศึกษา และมาร่วมเป็นหนึ่งทีม Spaceth.co เรื่องราวที่เธอผ่านมาสอนเธอให้รู้จักการเป็นนักเดินทางที่คัดเลือกสัมภาระให้กับตัวเอง บางอย่างหนักไปก็ต้องปล่อย เธอเลือกที่จะปล่อยก้อนหินแห่งความเกลียดชังที่เธอตั้งคำถามกับที่มาของตัวเองและครอบครัวที่แยกแยก แม้จะปล่อยได้แต่เธอกลับพลาดอีก เมื่อเธอตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศ เธอเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงรังเกียจและดูถูกเธอ แต่เธอกลับฝันร้ายทุกคืน สุดท้ายคำตอบก็คือเธอให้อภัยคืนอื่นไปหมดแล้ว แต่ลืมที่จะให้อภัยตัวเอง จนสุดท้ายเธอก็ลุกขึ้นและเดินต่อบนเส้นทางที่ยาวไกลและไม่รู้จุดหมายต่อไป แต่ทุกก้าวมาพร้อมความเข้าใจ และเหตุผล
Key Takeaway: ทุกคนเป็นนักเดินทาง นักเดินทางที่มีแต่เราเท่านั้น ที่จะเลือกเส้นทาง เลือกเพื่อนร่วมทาง เลือกสัมภาระ สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นคืออะไร แต่สิ่งสำคัญก็คือความเข้าใจและยอมรับทุกการแบกรับ และทุกการปล่อยวาง เลือกที่จะขอบคุณมัน
น้องป๋อ – ธีรชาติ ชัยมงคล ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด ทุกความผิดพลาดทำให้เรากลายมาเป็นเราทุกวันนี้ เด็กที่เติบโตมาในชุมชนที่มีเรื่องของสารเสพติดเข้ามาข้องเกี่ยว แนวคิดเรื่องความผิดถูกอาจจะไม่ได้เสียงดังเท่ากับความพอใจและการได้รับการยอมรับ สุดท้ายแล้วทุกคนล้วนอยากได้รับการยอมรับจนทำให้เกิดการกระทำใด ๆ ก็ตาม การตัดสินว่าใครผิดจากอดีตอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีเสมอไป แต่การเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับการยอมรับจะช่วยให้ครั้งหนึ่งคนที่เคยลืมว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ กลับมาเข้าใจโลกในแบบที่เป็นมากขึ้น
Key Takeaway: แม้จะทำผิดหรือทำถูก แต่ทุกคนล้วนได้รับการยอมรับ สิ่งที่แสดงออกมาไม่อาจบอกสิ่งลึก ๆ ที่เราต้องการอยู่ภายในได้เลย
น้องลิลลี่ – ระริน สถิตธนาสาร จากเด็กคนหนึ่งที่สงสัยว่าในเมื่อเราไม่ต้องการให้ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แล้วทำไมร้านค้าต่าง ๆ ยังใช้อยู่ สิ่งที่เธอทำตอนนั้นเพียงแค่โทรไปยังศูนย์บริการลูกค้าแล้วสอบถามถึงสิ่งนี้ แต่สิ่งที่เธอได้รับคือการเมินเฉยและมองว่าเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง สุดท้ายความโกรธของเธอกลายมาเป็นพลังที่ผลักดันให้เกิดการลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งในประเทศไทย จนตอนนี้มีแบรนด์ต่าง ๆ เข้าร่วมแคมเปญที่จะช่วยทำให้การใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยเฉพาะถุงพลาดสติกหมดไปในปีหน้า 2020
Key Takeaway: หากเป้าหมายของเราชัดเจนก็ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว เพียงแต่อย่าให้มีใครมาเปลี่ยนเป้าหมายของเราได้ ถ้าเธอเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงจากโทรศัพท์ในวันนั้น เธออาจจะไม่ได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ก็ได้
น้องเวโรนิก้า เธอคนนี้เลือกที่จะซ่อนนามที่แท้จริงและมีโลกสองใบ โลกหนึ่งที่จะได้เป็นลูกชายที่ดี และอีกโลกหนึ่งที่เธอจะได้ปลดปล่อยทุกอย่างและทำสิ่งที่เธอรัก คือการร้องเพลงและเต้นไปบนเวที เธอไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เมื่อใดที่เธอพยายามจะรวมโลกทั้งสองเข้าด้วยกันว่าเธอสามารถเป็นลูกชายที่ดีและเป็นมนุษย์ที่มีความงามผ่านการแต่งตัวและท่าทางที่เธอชอบเธอจะถูกกดดัน จนเธอะยอมที่จะรักษาโลกทั้งสองใบของเธอไว้ และเรื่องราวก็ยังคงดำเนินต่อไป
Key Takeaway: โลกนี้ไม่ได้สวยงามเสมอไป บางครั้งเราก็ต้องเลืกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร ไม่ใช่เพราะความกลัวหรือกล้า แต่เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในตอนนั้น ดังนั้นเราไม่อาจตัดสินใครจากการกระทำของเขาได้เลย
น้องใบเฟิร์น – ชมพูนุท คำบุญเรือง เด็กที่เคยถูกสอนมาให้สมบูรณ์แบบ เกรดต้อง 4.00 การได้ 3.99 จนร้องไห้เสียใจ กลายเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอที่ทำให้เธอเลือกที่จะมองโลกตามความเป็นจริง เธอเข้าใจความคาดหวังที่ผู้ใหญ่พยายามหยิบยื่นให้ในคราบของความหวังดี แต่สุดท้ายมันกลับทำร้ายเรา มีเด็กไทยกี่คนที่ต้องเจอกับสภาวะแบบนี้ แล้วเราจะหยุดสิ่งพวกนี้ได้แล้วเหรือยัง
Key Takeaway: ความคาดหวังอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่จะหยิบยื่นให้แก่กัน ความรัก แรงบันดาลใจ และการให้อภัยต่างหากที่สำคัญที่สุด
น้องเดี่ยว – ธงชัย อัชฌายกชาติ น้องเดี่ยวเล่าว่าน้องชอบประวัติศาสตร์มากและเคยชนะการแข่งขันประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันในห้องเรียนกลับไม่ได้ถูกสอนให้ตั้งคำถาม สรุปแล้วเราเรียนประวัติศาสตร์กันจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าอยากเข้าใจที่มาของตัวเรา เข้าใจที่มาของวิธีติดต่าง ๆ ในปัจจุบันการตั้งคำถามคือการเรียนประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุด จนสุดท้ายน้องเฉลยมาว่าน้องชนะการแข่งขันภาษาญี่ปุ่นต่างหากไม่ใช่ประวัติศาสตร์
Key Takeaway: รูปแบบการเรียนรู้คือสิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาทั้งหมด เพราะมันเปิดให้เรามีอิสระทางความคิด และใช้ฐานคิดนั้นในการเข้าไปอธิบายเรื่องอะไรก็ได้
น้องฮับ – เหมวิช วาฤทธิ์ น้องฮับ เด็กไทยเพียงคนเดียวที่สามารถผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้าย ของโครงการ Google Science Fair จากความช่างสังเกตขณะเล่นกีตาร์ ฮับสังเกตว่าเวลาเราเอาคางวางไว้บนกีตาร์เรารับรู้ได้ถึงการสั่นสะเทือนของสายในแต่ละความถี่ ไอเดียนี้นำไปสู่การออกแบบเครื่องช่วยฟัง แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่าย โปรเจ็คเหมือนจะถึงทางตันซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่การไม่ยอมแพ้และแรงสนับสนุนที่ดีจากพ่อและแม่ ช่วยให้สุดท้าย น้องได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ปราศจาการตัดสินและเคารพในไอเดียโดยมองข้ามอายุไปเลย
Key Takeaway: แม้บางอย่างจะดูเหมือนมาถึงทางตัน แต่สุดท้ายเราสามารถพามันไปต่อได้ เป้าหมายของเราอาจจะไม่ใช่ชัยชนะที่คนอื่นเขานิยาม แต่เป็นชัยชนะที่เรานิยามและเติมเต็มข้างในของเราเอง
น้องอู๊ด – อำนาจ ศรีสังข์ มองไม่เห็นแล้วมันไม่ปกติตรงไหน สุดท้ายความปกติคืออะไร อู๊ดตั้งคำถามผ่านการแร็ปและแนวดนตรีต่าง ๆ ที่เขาชื่นชอบ เขาออกไปวิ่งแต่กลับโดนสงสาร ทำไมเราถึงมองว่าแค่คนที่ร่างกายไม่เหมือนคนอื่นแต่กลับมองว่าไม่ใช่ที่ของเขา สังคมปัจจุบันเราตัดสินกันที่ร่างกายและบอกว่าคนที่ไม่เหมือนคนอื่นควรได้รับการสงสารแค่นั้นจริง ๆ เหรอ
Key Takeaway: โลกนี้ไม่มีใครไม่พิการ โลกนี้มีแต่ความแตกต่าง สีผิว ทรงผม หน้าตา ขนาดร่างกาย โครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกาย
จะสังเกตว่าทั้ง 11 เรื่องราวนั้น ไม่ใช่แค่การโฟกัสที่ความสำเร็จ ความล้มเหลว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทุกคนล้วนมีเรื่องราวและเสียงเป็นของตัวเอง เวทีของเด็กไม่จำเป็นว่าจะต้องมาวิพากษ์ผู้ใหญ่ หรือมาเรียกร้อง หรือแสดงแนวคิดอะไรอย่างเดียว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่า และเสียงจากเด็ก ๆ ที่จะถูก Play ให้เล่นต่อไปในสังคม หรือจะถูก Pause เพียงแค่เพราะพวกเขาอายุน้อยกว่าคุณ เป็นสิ่งที่เราต้องตัดสินกันเอง