category บทสรุป 'TechJam by KBTG 2017' สังเวียนแข่งขันของนักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ทีมที่ชนะได้ไปซิลิคอน วัลเลย์

Writer : Sam Ponsan

: 1 กันยายน 2560

tech-jam-by-kbtg-2017-cover

ในที่สุดงาน ‘TECHJAM by KBTG 2017’ ที่เฟ้นหาสุดยอดด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็จบลงแล้วเรียบร้อย หลังจากมีผู้สมัครกว่า 421 ทีมจาก 3 หมวด ที่ส่งผลงานเข้าแข่งขัน ซึ่งมีธนาคารกสิกรไทย เป็นเจ้าภาพเปลี่ยน KBTG ให้เป็นสังเวียนประลอง ทีมที่ชนะจากทั้ง 3 หมวด นอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ยังได้ไปดูงานที่ ‘ซิลิคอน วัลเลย์’ ด้วย สำหรับผลการแข่งขันเป็นอย่างไร เราจะมาสรุปให้อ่านกัน

TECHJAM คืออะไร 

techjam-by-kbtg-2017

ก่อนจะไปดูผลการแข่งขัน เรามาทำความรู้จักกับเวที TECHJAM ก่อน เริ่มมาจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง FinTech ถึงขั้นตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG ขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบ FinTech ของตัวเอง

รวมถึงยังไปลงทุนใน Startup สาย FinTech ในนาม Beacon Venture Capital (คลิกอ่านเพิ่มเติมได้เลย) โดย KBank อยากจะเปิดเวทีให้เหล่า คนไทยไม่จำกัดอายุ และเพศมาวัดความสามารถด้านการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้วงการได้เติบโตจึงต้องมีการแข่งขันหาคนที่สุดยอดกันในยุทธจักรนี้

การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 หมวดได้แก่

techjam-by-kbtg-2017-2

  • Code track : สำหรับผู้ที่มีความสามารถด้าน Programming กติกาคือให้เหล่านักพัฒนามาประลองฝีมือเขียนโปรแกรม และไขโจทย์ที่ท้าทาย โดยการแข่งขันรอบคัดเลือกแบบออนไลน์จะมีชุดโจทย์ให้ทำตามเวลาที่กำหนด มีทีมลงแข่งขันทั้งสิ้น 210 ทีม
  • Data track  : ให้ผู้เข้าแข่งขันวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนหนึ่ง แล้วนำผลการวิเคราะห์ที่ได้ไปทำนายข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ถูกปิดซ่อนไว้ โดยจะให้ผู้เข้าแข่งขันพยายามวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลการทำนายที่แม่นยำที่สุด มีทีมลงแข่งขันทั้งสิ้น 146 ทีม
  • Design Track :สำหรับผู้ที่สนใจอยากใช้ Creativity และ Design Thinking เพื่อออกแบบเทคโนโลยีในแนวคิด ‘ชีวิตที่ดีกว่าด้วยเทรนด์ทางสังคมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต’ โดยใช้ทักษะที่มีสร้างโปรแกรมนั้นขึ้นมา และยิ่งรอบลึกๆ โจทย์ก็จะยิ่งโหดหินขึ้น มีทีมลงแข่งขันทั้งสิ้น  65 ทีม

เนื่องจากทีมที่เข้าสมัครแข่งนั้นมีเยอะจึงต้องมีการคัดเลือกกันก่อนโดยกติกาคือกรรมการจะคัดเลือกผลงานที่เข้าตากรรมการจากช่องทางสมัครออนไลน์ในตอนแรก เพื่อมาแข่งขันแบบ Hackathon หมายถึงแต่ละทีมมา Hack แก้ไขโจทย์ภายในเวลาที่กำหนด ที่ KBTG วันที่ 26 – 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

techjam-by-kbtg-2017-3

techjam-by-kbtg-2017-4

สำหรับเวลาที่กำหนดให้นั้นคือ 12 ชั่วโมง (โห้ว…อย่างไว) ต้องแก้โจทย์ที่ให้ไปให้ได้ หรือตามคอนเซปต์การพัฒนาที่โปรแกรมกำหนด แถมมีโจทย์เพิ่ม และสถานการณ์วัดใจคอยก่อกวนตลอดเวลา เพื่อจะวัดว่าแต่ละทีมสามารถรับความกดดันได้แค่ไหน หรือจะตบะแตกกลับบ้านไปก่อน 

แต่ละแทร็คมีโจทย์และเกณฑ์การตัดสินเฉพาะของแทร็คนั้นๆ แต่อยู่ภายใต้ธีม ‘การนำเทคโนโลยีด้าน AI มาใช้เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันและความต้องการในชีวิตประจำวัน’ (อ่า…ชื่อธีมย้าวยาว) ใครทำได้ใกล้ธีมที่สุด แล้วเป็นไปได้ที่สุดก็เอาไปเลย แชมป์จ้าาาาา

รางวัลแด่ผู้ชนะ 

tech-jam-2017-2

สำหรับรางวัลนั้นคุ้มค่าความเหนื่อย และความกดดันที่ต้องเผชิญแน่นอน โดยผู้ชนะทั้งสามแทร็ค จะได้รางวัลเหมือนกันดังนี้

  • Winner : Workshop ที่ silicon valley (รวมตั๋วเครื่องบินและที่พัก) / Pocket money มูลค่า 17,000 บาท (ต่อคน) / Firebase credit มูลค่า 100,000 บาท (ต่อทีม) / Line API
  • 1st runner up : เงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท  (ต่อทีม)  / Firebase credit  มูลค่า 80,000 บาท (ต่อทีม) / Google Home มูลค่า 5,000 บาท(ต่อทีม)
  • 2nd runner up : เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท (ต่อทีม) / Firebase credit มูลค่า 10,000 บาท (ต่อทีม) / Google Home มูลค่า 5,000 บาท (ต่อทีม)

3 ทีมผู้ชนะใน ‘TECHJAM by KBTG 2017’ 

techjam-by-kbtg-2017-5

หลังฟาดฟัน และขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเลือดสาดชนิดที่ว่าเวลานอนก็ยังไม่มี เวลากินไม่ต้องพูดถึง แถมยังต้องมาปั่นงานตามโจทย์ให้ทัน ต้องปั่นพรีเซนท์ให้ดี และสารพัดสิ่งที่ต้องเจอ ในที่สุดเหล่าคณะกรรมการ ก็ลงความเห็นกันว่าใครควรจะได้แชมป์มากที่สุดโดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน TECHJAM  by KBTG 2017 ในแต่ละแทร็คมีดังนี้!!

techjam-by-kbtg-2017-code

  • 1. Code Track   ทีม AI shiteru ของ ‘นส.พีรจิตร ภาสุภัทร’  และ ‘นายธนภัทร์ คุ้มสภา’ ซึ่งทั้งคู่บอกให้เราฟังว่า การแข่งขันครั้งนี้ โจทย์ที่ยากและท้าทายที่สุดก็คือโจทย์ที่ได้รับไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุดจริงๆ ดังนั้นการแข่งขันครั้งนี้คือหาวิธีที่ทำยังไงก็ได้ให้คำตอบได้คะแนนเยอะที่สุด ถูกต้องที่สุด นอกจากนี้ยังเล่าให้ฟังอีกว่าการแข่งขันครั้งนี้วัดว่าผู้เข้าแข่งขันมีประสบการณ์มากแค่ไหนtechjam-by-kbtg-2017-code-1
    เพราะหลายครั้งมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบ และต้องมีการจัดการวางแผนกลยุทธ์ด้วยว่า ณ ตอนนั้นจะเปลี่ยนแผนไปเส้นทางที่ไม่คุ้นแต่คุ้มหากได้คะแนนเยอะไหม หรือทำยังไงให้ได้คะแนนแม้จะน้อยก็ตาม ทั้งสองคนยังพูดถึงเพื่อนร่วมสมรภูมิว่า ผู้เข้าแข่งขันโหดมากๆ บางคนทำไวมากๆ และทำได้คะแนนดีมากๆ ด้วย จนพวกเขายังตกใจ

techjam-by-kbtg-2017-data-1

  • 2.Data Track ทีม M&M ของ ‘นายธนิพล วัฒนาอาษากิจ’ และ ‘นายณพเมธ เนยเมืองปัก’  สำหรับเหตุผลที่ทีม M&M ได้แชมป์ทางณพเมธ บอกว่าทีมของพวกเขาเลือกที่จะให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการข้อมูล 70%  แล้วอีก 30% เน้นไปที่เรื่องเทคนิคในการนำเสนอ ซึ่งหากข้อมูลพร้อมสมบูรณ์ ในเชิงเทคนิคแทบจะไม่ต้องเสียเวลาปรับแต่งอะไรเลยก็สามารถนำเสนอได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพ

    techjam-by-kbtg-2017-data-2เนื่องจากทีมเขาไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านโปรแกรมเมอร์แน่นเหมือนทีมอื่น จึงเน้นจุดเด่นในการเอาข้อมูลเข้าสู้ รวมถึงวิธีการทำงานทั้งสองคนยึดหลักว่าต้องอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจให้ได้ ดังนั้นเวลาพรีเซนท์จึงอธิบายออกมาได้อย่างเรียบง่ายแต่ชัดเจน และความที่ทั้งคู่ยังมือใหม่มากๆ ในวงการนี้เลยคาดหวังว่าการได้ไปซิลิคอน วัลเลย์ น่าจะได้ประสบการณ์ที่เอามาพัฒนาตัวเองได้

techjam-by-kbtg-2017-design-1

  • 3.Design Track ได้แก่ ทีม Consumotive ‘นายพัทยา อุประ’ และ ‘นายสรรพวิชญ์ ศิริผล’  พวกเขาบอกกับเราว่าความยากของการแข่งขันครั้งนี้คือมีเวลาคิดน้อย แต่ไม่ใช่ปัญหาถ้ามีการทำการบ้านมาก่อนหรือพอเดาโจทย์ได้ก็อาจพอรับมือได้บ้าง ส่วนความยากของโจทย์อยู่ตรงที่การอ่านโจทย์ให้เข้าใจ และต้องอ่านให้ขาดว่าโจทย์มองหาคุณค่าอะไรทั้งฝั่งที่จะได้รับประโยชน์ และฝั่งเจ้าของเทคโนโลยีtechjam-by-kbtg-2017-design-2

    ส่วนสาเหตุที่ทำให้กรรมการเลือกทีม Consumotive ได้แชมป์พวกเขาเชื่อว่าเพราะโปรคเจคต์ที่นำเสนอไปนั้นเป็นเรื่องเล็กๆ ที่มีโอกาสเป็นไปได้ และถ้ามันเกิดขึ้นได้ไอเดียเล็กๆ ของเขานั้นอาจจะสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ในวงกว้าง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องเริ่มที่เรื่องใหญ่เสมอ แต่เอาจากสิ่งเล็กๆ นี่แหละมาปรับ และต่อยอด

เสียงจากกรรมการ 

techjam-by-kbtg-2017-9

การแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผู้เข้าแข่งขันเท่านั้นที่หนักใจ แต่คณะกรรมการก็หนักใจ เพราะผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมมีศักยภาพที่เก่งกันทั้งนั้น แต่ก็ทำให้มั่นใจว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ แม้ผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

techjam-by-kbtg-2017-10

‘คุณอภิรัตน์  หวานชะเอม’  Deputy Managing Director KLabs แห่ง KBTG กรรมการจากดีไซน์แทร็ค เล่าความรู้สึกของการเห็นผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่ลงแข่งครั้งนี้ว่า ภาพรวมแล้วเซอร์ไพร้ส์มากๆ ทั้งความอดทน ไม่มีใครยอมแพ้กลับบ้านก่อนหรือยอมแพ้แล้วนอนไปเลย ตรงกันข้ามทุกคนทำงานกันจนนาทีสุดท้าย รวมถึงยังชื่นชมในการตีโจทย์ของแต่ละคนที่ทำออกมาได้อย่างดี และดีใจมากที่หาคนที่เหมาะสมกับการแข่งขันครั้งนี้

นอกจากนี้ยังบอกว่าโจทย์ที่ดีไซน์ขึ้นมานั้นไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อหาคนที่เก่ง แต่เพื่อหาคนที่เหมาะสมที่สุดในตำแหน่งนั้นๆ โจทย์กำหนดเวลาในการทำงานไม่มากเพราะอยากรู้ว่าผู้เข้าแข่งขันจะจัดการเรื่องความกดดันได้ไหม

คุณอภิรัตน์ เสริมว่าคนที่เป็นผู้ชนะไม่ได้เก่งที่สุด แต่เขาเหมาะกับสิ่งที่ทำ บางคนไอเดียดี แต่ถึงเที่ยงคืนหมดพลังใจ เลยไม่สามารถแสดงไอเดียออกมาได้มาพอ ดังนั้นคนเก่งที่กรรมการมองหาคือคนที่สามารถพัฒนาได้ มีความมุ่งมั่น แม้จะง่วงแค่ไหนก็สามารถมาพรีเซนต์ได้ดี รับมือความกดดัน เหมือนหา หน่วย SEALs เข้าทีม ไม่ได้หาคนที่กล้ามใหญ่หรือแข็งแกร่งที่สุดเข้าทีม แต่หาคนที่เหมาะสมที่สุด

techjam-by-kbtg-2017-11

‘คุณจิรัฎฐ์  ศรีสวัสดิ์’  Advance Visionary Architect KLabs แห่ง KBTG กรรมการจากโค้ดแทร็ค ก็เล่าความรู้สึกของการเห็นผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่วันแรกจนจบโครงการให้ฟังว่า ทุกคนเก่ง และไม่คิดว่าจะทำงานได้เร็วขนาดนี้ บางทีครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว และได้คะแนนเต็มด้วย

ระหว่างการแข่งขันคณะกรรมการคิดคะแนนตามค่าเฉลี่ย ข้อไหนโจทย์ยาก ข้อไหนโจทย์ง่ายเราจะเห็นได้จากการที่ผู้เข้าแข่งขันส่งงาน ซึ่งจิรัฏฐ์ และทีมคณะกรรมการใช้เกณฑ์นี้ในการตัดสินให้คะแนนตามความยากง่ายด้วยวิธีนี้ ทว่าวิธีนี้มีช่องโหว่อยู่ตรงที่หากผู้เข้าแข่งขันคนใดคนหนึ่งทำลายการแข่งขันด้วยการทำคะแนนเฉลี่ยให้แปลกประหลาดก็สามารถทำได้ แต่ไม่มีใครทำ และทุกคนก็แข่งขันกันอย่างมุ่งมั่นตามกติกานี่คือสิ่งที่จิรัฏฐ์ประทับใจ

techjam-by-kbtg-2017-12

คณะกรรมการจากดาต้า แทร็ค ‘คุณทัดพงศ์  พงศ์ถาวรกมล’ Senior Visionary Architect KLabs แห่ง KBTG ปิดท้ายด้วยการพูดถึงโอกาสที่ทีมผู้ชนะจะได้ไปดูงานที่ซิลิคอน วัลเลย์ โดยบอกว่าแม้เวลาจะน้อย และไม่ได้หวังว่าน้องๆ ไปแล้วจะกลับมาเขียนโค้ดเก่งขึ้น หรือเข้าใจเรื่องดาต้า ได้ในทันที

แต่ก็มั่นใจว่าน้องๆ จะได้ใช้ความสามารถมองหาสิ่งที่สามารถพัฒนาตัวเองได้กลับมา อยากให้เห็นวัฒนธรรมการทำงานของที่นั่นว่าสามารถนำมาปรับใช้อย่างไร ที่นั่นมีคนเก่งที่เยอะมาก รวมถึงคนไทยก็ทำงานที่นั่นอยู่เยอะ หวังว่าทริปนี้บางคนน่าจะได้สร้างโอกาสเล็กๆ ให้กับตัวเองได้

techjam-by-kbtg-2017-6

การจัดกิจกรรม TECHJAM by KBTG 2017 นั้นเป็นความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทย กับพันธมิตรชั้นนำมากมายเพื่อสนับสนุนให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นจริงในบ้านเราอย่างเช่นแชทบอท ปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือโมบายแอพดีไซน์

ทางผู้จัดก็มีความหวังว่าเวทีจะจุดประกายให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทุกคนก้าวต่อไปทั้งผู้ที่ชนะ และผู้ที่ได้เข้าแข่งขัน หากปีหน้ามีโอกาส ก็หวังว่าจะเห็นคนไทยเก่งๆ มาร่วมตัวกันเพื่อแสดงความสามารถอีกในเวที TECHJAM  by KBTG

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save