คนอีสาน หรือ กลุ่มคนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ใครหลาย ๆ คนอาจยังมีความเชื่อผิด ๆ หรือเป็นภาพจำที่จำกันมา เช่น คนอีสานเป็นคนที่ถนัดงานด้านแรงงาน, คนอีสานต้องกินเนื้อหมา หรือ คนอีสานดูเป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ในวันนี้เราจะพาคุณไปเปิดมุมมองผ่านนักศึกษาชาวอีสานแท้โดยกำเนิดทั้ง 5 คน ที่ได้เติบโต และต้องพบเจอกับความเชื่อผิด ๆ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของคนในภูมิภาคนี้ คนอีสานต้องกินเนื้อหมาจริงหรือ? โดม ธนาวุฒิ แก้วมุงคุณ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนุ่มนครพนมเล่าว่า ความคิดที่ว่า “คนอีสานต้องกินเนื้อหมา” ส่วนตัวแล้วมองว่ามันแล้วแต่กลุ่มจังหวัด ส่วนใหญ่วาทกรรมที่บอกว่า กินหมาจะเกิดกับกลุ่มจังหวัดที่มีการส่งออกเนื้อหมาหรือส่งออกนอกประเทศ เช่น สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร หรือหนองคาย จังหวัดเหล่านี้เป็นทางผ่านในกระบวนการขายสุนัข (เนื้อหมา) ส่งต่อไปยังประเทศจีน และมีเหตุการณ์ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับด่านด่วนสัตว์และพันธุ์พืช เพื่อจับกุมแก๊งลักลอบขนสุนัขข้ามประเทศผ่านทางแม่น้ำโขง และข่าวนี้ก็เป็นข่าวที่ตีแผ่ไปทั่วประเทศ เลยทำให้คนในประเทศเองจำภาพลักษณ์ว่าจังหวัดที่พูดไปมีการค้าและกินเนื้อหมา ซึ่งถามว่ามีการกินจริงไหม? มันก็มีจริงแต่เป็นบางกลุ่ม บางเขตพื้นที่ ไม่ใช่คนอีสานทุกคนทุกพื้นที่ต้องกินเนื้อหมา สีผิวไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเป็นคนภาคอะไร ณัฐพล ชินเทศ นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออเวจีรี่ สาวริมฝั่งโขง จังหวัดนครพนม เล่าถึงในประเด็นที่ใครหลาย ๆ คนเข้าใจผิดในเรื่องของสีผิวว่า ส่วนตัวมีหลายเรื่องที่คนอื่นมองคนอีสานผิดหรือภาพลักษณ์ที่คนจดจำกันในนามของ “คนอีสาน” สิ่งที่อยากจะบอกเลยคือ เรื่องสีผิว คือคนส่วนใหญ่จะมองว่าคนอีสานจะต้องมีผิวดำแดง ผิวคล้ำ ซึ่งมันไม่ใช่ความจริง คนผิวขาว ผิวสีอื่นก็มี มันไม่ใช่แค่ในภาคอีสานที่จะมีแต่คนสีผิวนี้ คนทั้งโลกมันก็มีหลากหลายสีผิว สีผิวมันไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าคุณสีผิวนี้จะเป็นคนที่ไหน ภูมิภาคไหน อีกเรื่องที่อาจเป็นภาพจำเลยคือ “การท้องก่อนวัยอันควร” ในความคิดของเรามันแล้วแต่สภาพความพร้อมของแต่ละครอบครัว รวมไปถึงสภาพของสังคมรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกร หากใช้ชีวิตอยู่สังคมและพร้อมที่จะมีชีวิตคู่แม้อายุยังน้อยและทางครอบครัวเขาก็สนับสนุนไม่มีปัญหาในเรื่องอื่น ๆ ที่จะตามมา ก็กลายเป็นเรื่องปกติที่จะมีการแต่งงานก่อนวัยอันควรของคนในภูมิภาคนี้ คนสกลนครไม่ได้กินหมาทุกคน นันรดา ธเนศวร นามแสน นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สาวจากสกลนคร เล่าถึงประเด็นการกินหมาไว้ว่า เวลาเราถูกถามว่ามาจากจังหวัดอะไร เป็นคนที่ไหน แล้วเราตอบว่าอยู่สกลนครนะ ก็จะโดนคำถามกลับมาว่า แล้วกินหมาไหม? คือบริบทการกินหมาเป็นสิ่งที่ทุกคนในประเทศให้ภาพจำไปแล้วว่าถ้ามาจากจังหวัดสกลนครคือต้องกินหมาโดยอัตโนมัติเลย แต่คือมันไม่ได้กินกันทุกคนไง ในบางพื้นที่ก็มีการกินหมาแหละแต่การออกข่าว หรือภาพจำหลักของการกินหมา ก็คือมาจากจังหวัดสกลนครเป็นหลัก การสร้างภาพจำอะไรแบบนี้ สื่อคือสิ่งสำคัญที่เป็นการสร้างภาพจำให้กับผู้เสพสื่อนั้น ๆ อีกอย่างที่อาจทำให้เป็นภาพจำว่าคนสกลนครจะต้องกินหมา เพราะว่าอาจมีกลุ่มชาติพันธุ์ของกลุ่มคนเวียดนามที่อพยพมาอยู่ในแถบจังหวัดสกลนครจึงทำให้เกิดการสร้างภาพจำในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่ใครหลาย ๆ คนยังเข้าใจผิด สุดท้ายนี้การที่ถามถึงถิ่นที่กำเนิดนั้นไม่ควรที่จะมีการใช้สำนวนที่มีกล่าวมาไปตอนแรก เพราะถือว่าเป็นการบูลลี่อีกอย่างหนึ่งคนถามอาจจะสนุกปากแต่คนที่ตอบอะเขามีอีกความรู้สึกหนึ่ง ปล้าร้ากินได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก โป๊กเป๊ก อภิลักษณ์ ชาวกะมุด นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาวน้อยเมืองอุดร เล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเจอว่า เมื่อเวลาคนอื่นรู้ว่าเราเป็นคนอีสานก็จะพูดว่า “อุ้ย กินปลาร้าเป็นตัว ๆ เลยเหรอ” เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นจากภาพจำ หรือสื่อต่าง ๆ ที่ออกมานำเสนอในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งการมองว่าคนอีสานต้องรับบทเป็นคนใช้ คนสวน แต่ในความเป็นจริงคนอีสานมันก็เหมือนคนภาคอื่นนั่นแหล่ะ มีทั้งรวย ทั้งจน ปะปนกันไป ตราบใดที่สื่อยังนำเสนอในมุมมองแบบนี้อยู่ เช่น คนใต้ต้องมีผิวที่เข้ม คนอีสานต้องมีผิวที่ดำแดงและการใช้แรงงาน คนภาคเหนือก็จะขาวหน่อย ถ้าสื่อยังไม่สามารถลบภาพจำตรงนี้ได้มันก็ยังมีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ของเราอยู่ดี คนอีสานไม่ได้มีแค่ภาษาเดียว ก๊องแก๊ง จิรายุ โอธินทรยุทธ นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เด็กน้อยจากอีสานใต้ เล่าถึงสิ่งที่เจอมากับตัวเอง คือเรามาจากจังหวัดสุรินทร์ เขาก็จะคิดว่า “เห้ย ต้องพูดภาษาเขมรได้” ซึ่งจริง ๆ แล้วจังหวัดสุรินทร์มันมีหลายกลุ่ม ก็จะมีทางตอนล่างของจังหวัดที่ติดกับกัมพูชาเขาก็จะพูดภาษาเขมรกัน แต่เราเป็นสุริทร์ตอนบนก็จะพูดลาว แต่เขมรตอนบนก็จะมีบ้าง และจะมีอีกกลุ่มหนึ่งเขาเรียกว่า “ภาษากูย” ต่างจากเขมรอีก เหมือนเป็นอีกเผ่านึงที่แยกออกมา คนที่พูดภาษานี้ส่วนใหญ่จะเลี้ยงช้าง “คนอีสานต้องถนัดงานด้านแรงงาน และเข้าไม่ถึงการศึกษา” จริงหรือ? โดม: คือเรามองว่าภาพที่สื่อตีภาพของคนอีสานออกมา มันสื่อถึงความทุรกันดาร เหมือนที่ทุกวันนี้สื่อยังนำเสนออยู่แบบนั้น มันเลยทำให้คนทั้งประเทศยังเข้าใจอยู่ตลอดว่าภาคอีสานนั้นทุรกันดาร ก็เลยโยงไปถึงเรื่องการศึกษาที่ถูกมองต่อมาว่า การศึกษาไม่เข้าถึงหรือ? ถึงยังทุรกันดารอยู่ พอมีวาทกรรมที่ว่า “คนอีสานไม่มีการศึกษา” สิ่งที่ตามมาคือ คนอีสานถูกมองว่าพอไม่มีการศึกษานี่เอง การประกอบอาชีพเลยทำเกี่ยวกับด้านแรงงาน แต่ความจริงมันไม่ถูกต้อง การที่บอกว่า คนอีสานจน พื้นที่แห้งแล้ง ก็เลยต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ มันถูกตีพิมพ์ ถูกกล่าวถึงมานานมากแล้ว ไม่ใช่แค่ผ่านสื่อโทรทัศน์อย่างเดียว มันผ่านหลายสื่อมาก เช่น เพลง ในเนื้อเพลงก็ยังบอกว่าคนอีสานอยู่กับความแห้งแล้ง คนอีสานมาหางานทำในเมืองกรุง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันทำให้คนอื่น ๆ ก็ยังเข้าใจอยู่เสมอว่าคนอีสานเป็นแบบนี้ ๆ นะ อเวจีรี่: เรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีการคิดแบบนั้น เพราะพื้นที่มันค่อนข้างชนบทจริง ๆ ไม่ได้มีการพัฒนาเหมือนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่น ๆ การเข้าถึงอาชีพที่ที่รายได้ดีก็น้อย เงินในการส่งเสียลูกก็ไม่ค่อยมี เรียนจบแค่มัธยมก็ไม่ได้ไปเรียนต่อ ซึ่งพอไม่มีการไปศึกษาต่อเลยทำให้อาชีพที่จะทำก็น้อยลงไปอีก มันจะมีแค่ไม่กี่อาชีพที่สามารถทำได้ หนึ่งในนั้นคือ “กรรมกร” นันรดา: คนอีสานเป็นกลุ่มคนที่ทำการเกษตร คนกลุ่มนี้ก็จะต้องใช้แรงงาน คือการจะมองว่าคนอีสานต้องถนัดงานด้านแรงงาน อาจมาจากเรื่องของการใช้แรงงานในการทำการเกษตรหรือเปล่า เลยจะถูกมองไปอีกว่าคนอีสานเป็นคนที่สู้งาน ขยัน และถึกทน ส่วนเรื่องของการศึกษาคือมันเข้าถึงนะ แต่การที่จะเรียนหรือศึกษาสิ่งเหล่านั้นขึ้นอยู่กับบริบทของครอบครัวด้วย แต่ในบางคนเขาไม่ชอบการศึกษาแต่กลับไปชอบการใช้แรงงาน หรือหางานทำเลยมากกว่า สิ่งนี้อาจทำให้เห็นได้ว่าคนอีสานเข้าไม่ถึงการศึกษา แต่มันก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โป๊กเป๊ก: การที่คนอีสานถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน เป็นเพราะว่าคนอีสานมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ต่อให้เรามาเรียนที่เชียงใหม่ ไปทำงานที่อื่นแล้วเรามีพื้นทำทางการเกษตรแต่พอไม่มีใครทำตรงนั้น เราก็ไปจ้างคนอื่นมาทำ มันก็กลายเป็นว่าเราไปสนับสนุนการใช้แรงงานอยู่ดี เลยไม่สามารถแย้งได้เลยว่าคนอีสานถนัดงานการใช้แรงงาน แต่งานอื่น ๆ เขาก็ถนัดนะ การเข้าไม่ถึงการศึกษา คือก็จะมีบางคนที่หัวโบราณหน่อยก็จะบอกว่า “ไม่ต้องเรียนแล้ว ออกมาทำนา” ก็เลยจะแย้งในจุดนี้ไม่ได้ มันก็แล้วแต่ครอบครัว แต่ในกรณีที่มีการเหยียดคนอีสานว่ามีหน้าที่ปลูกข้าวให้คนกรุงเทพฯ กิน เกิดมาทำนา คือมันไม่จริง เพราะคนอีสานปลูกข้าวได้ปีละหนึ่งครั้งเองถ้าเทียบกับคนภาคกลางที่สามารถปลูกข้าวได้ถึงปีละสองครั้ง ก๊องแก๊ง: ส่วนใหญ่ภาคอีสานเน้นทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ มันเลยตอกย้ำว่าคนอีสานถนัดการใช้แรงงาน แต่สิ่งที่ช่วยตอกย้ำคือการที่ การศึกษาไม่ได้เข้าถึงทุกคน และพอคนอยากได้รายได้เยอะ ๆ ก็เข้าไปทำงานในเมือง การที่ไม่ได้รับการศึกษาก็เลยทำให้คนเหล่านั้นไม่มีสิทธิ์เลือกอาชีพได้เยอะ ก็เลยไปทำงานที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ในปัจจุบันการศึกษามันเข้าถึงมากขึ้น แต่สิ่งที่ควรปรับปรุงคือคุณภาพของการศึกษา และการที่บางครอบครัวต้องการให้ลูกหลานของตัวเองได้รับการศึกษาที่ดีจริง ๆ ก็จะส่งไปเรียนในเมืองตามหัวเมืองต่าง ๆ ถึงจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าการที่อื่น จะเห็นได้ว่าสิ่งที่คนอีสานเจอหรือถูกมองเป็นภาพจำ ส่วนใหญ่จะมากจากสื่อที่มีการเผยแพร่ภาพจำเหล่านั้นออกไป เช่น การทำข่าวเรื่องการกินเนื้อหมา หรือ เพลงบางเพลงที่มีการเล่าถึงวิถีชีวิตของคนอีสานว่ามีความจน ต้องเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะเป็นภาพจำของใครหลาย ๆ คน และยังมีในเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดีว่าทำไมคนอีสานต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเมื่อเราได้รับการปลูกฝัง หรือเริ่มมีการ educated กันมากขึ้นก็จะทำให้เราเข้าใจในมุมมองต่าง ๆ อย่างหลากหลายมุมมอง และสิ่งสำคัญที่ควรมองให้ลึกลงไปมากกว่านั้นคือเมื่อมีการบูลี่หรือเหยียดเชื้อชาติกันสิ่งนี้ไม่ได้มีค่าอะไรเลย แต่การพูดถึงแก่นปัญหาที่แฝงเข้ามา ตรงนี้คือสิ่งที่ควรให้ค่าและความสนใจ #คลับเฮาส์toxic #คนอีสาน #clubhouse