เมื่อเอ่ยถึงยุคสมัยต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น หลายคนคงจะคุ้นหูกับชื่อเรียกของยุคเอโดะ เมจิ โชวะ หรือยุคเฮเซ ที่ถูกแฝงอยู่ตามหน้าภาพยนตร์ มังงะหรืออนิเมะเรื่องต่าง ๆ (เช่น คุโด้ ชินอิจิ เชอร์ล็อค โฮล์ม แห่งยุคเฮเซ ในเรื่องโคนัน) ที่จนถึงตอนนี้ที่รัชสมัยได้ถูกเปลี่ยนมาจนถึงยุคเรวะแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าเราจะพูดถึงยุค ‘ไทโช’ ขึ้นมาล่ะ เพียงแค่ชื่อก็มีน้อยคนที่จะรู้จักแล้วใช่หรือไม่ แต่เราจะมาเชื่อมโยงเรื่องราวของ ยุคไทโช (大正) ให้เข้ากับอนิเมะเรื่องดังแห่งศตวรรษนี้อย่าง ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) ของ อ.โคโยฮารุ โกโตเกะ ที่มีเรื่องราวการตามล่าอสูรของเหล่าผู้ใช้ปราณได้เกิดขึ้นมาโดยมียุคสมัยนั้นเป็นเซ็ตติ้งเบื้องหลัง ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักและเจาะเบื้องลึกกันผ่านมุมมองต่าง ๆ ที่เห็นในเรื่องนี้กัน เป็นเรื่องซุบซิบยุคไทโชนั่นเอง! *เสียงจารย์เข้* (มีการเผยรายละเอียดในฉบับมังงะเล็กน้อย) รอยต่อของยุคสมัยเก่าสู่ความรุ่งเรือง การพัฒนาก้าวไกลสู่สังคมอุตสาหกรรม ยุคไทโช (大正) เป็นยุคสมัยหนึ่งของญี่ปุ่นที่อยู่ต่อมาจากยุคเมจิ ไล่เลียงในช่วงราว ๆ ปี ค.ศ. 1912 – 1926 (เทียบกับสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย) เป็นยุคสมัยสั้น ๆ ที่ดำเนินไปได้เพียง 14 ปีเท่านั้น แต่ตลอดช่วงระยะเวลานี้กลับเรียกได้ว่าเป็นช่วงรอยต่อของยุคสมัยเก่ากับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาผสานกันเป็นอย่างมาก และมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนใกล้เคียงกับยุคสมัยใหม่ มีการนำวัฒนธรรมตะวันตกมาผสมผสานกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นจนยุคนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ไทโชโรมัน หรือ ไทโชยุคสมัยใหม่ ยุคนี้มีความก้าวหน้าในด้านการค้าขายกับต่างชาติ ด้านสถาปัตยกรรมรูปเเบบตะวันตก ด้านการเเต่งกาย (ซึ่งจะพูดถึงอย่างละเอียดในหัวข้อถัด ๆ ไป) ด้านการคมนาคมเเละด้านอุตสาหกรรม เราจะเห็นได้ว่าต้นเรื่องในตอนแรก ฝั่งของบ้านทันจิโร่ซึ่งอยู่บนภูเขาดูเข้าเค้าความโบราณ มีการดำเนินชีวิตแบบคนญี่ปุ่นในสมัยก่อน แต่เมื่อลงไปขายถ่านในเมืองก็จะเห็นบรรดาเสาไฟฟ้าที่แสดงได้ว่ามีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้กันแล้วในยุคนี้ มีการทำเกษตรกรรม แรงงาน ทว่าตอนที่มีภารกิจให้ทันจิโร่เดินทางไปยังอาซากุสะ ที่โตเกียว จะเห็นความชัดเจนของความเจริญในเมืองใหญ่ มีแสงไฟสว่างไสวตลอดทั้งคืน มีป้ายธง โรงหนัง โรงละคร ตึกระฟ้าอึนกากุ สถาปัตยกรรมแบบไทโชโรมัน ซ้ำยังมีรถไฟหัวรถจักรไอน้ำ ที่เราได้เห็นกันในภาคเดอะมูฟวี่รถไฟสู่นิรันดร์ (Kimetsu no Yaiba: Mugen Train The Movie) ก็ยังมีต้นแบบมาจากรถไฟรุ่น JNR 8602 ฮะจิโรกุ ที่ผลิตในช่วง ค.ศ. 1919 ราว ๆ ร้อยปีที่แล้ว ซึ่งยิ่งแสดงให้ความรุ่งเรืองของสังคมและอุตสาหกรรมในยุคไทโชได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ยุคไทโชพัฒนาได้อย่างรวดเร็วนั้น อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นต้องการพัฒนาให้ประเทศตัวเองทัดเทียมกับชาวตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำประเทศไปสู่โลกยุคใหม่ ทำให้ในยุคสมัยนั้นญี่ปุ่นจึงกลายเป็นอีกประเทศมหาอำนาจของตะวันออกไปด้วย ยุคสมัยของประชาธิปไตยเบ่งบาน เปลี่ยนค่านิยมให้ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทสังคมมากขึ้น ในยุคไทโช ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่แนวคิดประชาธิปไตยและเสรีนิยมถูกแพร่หลายเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า ประชาธิปไตยยุคไทโช หรือ ไทโชเดโมเครซี เกิดขบวนการทางการเมืองเรียกว่า ‘ขบวนการป้องกันรัฐธรรมนูญ’ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ค่านิยมยุคสมัยนี้จะมีความอิงชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น มีการตระหนักความเท่าเทียมทางเพศมากกว่ายุคสมัยก่อนหน้านั้น สังคมในยุคนั้นเริ่มให้ผู้หญิงออกมามีบทบาทมากขึ้น จึงเริ่มเห็นว่ามีจะผู้หญิงออกมาทำงาน และผู้ชายเริ่มให้เกียรติผู้หญิงที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า ภายในเรื่องดาบพิฆาตอสูร เราจะเห็นได้เลยว่าแทบจะไม่มีการแบ่งแยกความเป็นชายหรือความเป็นหญิง ผลักให้คนเพศใดกลุ่มใดออกไปเป็นคนชายขอบของเรื่อง ทั้งในฝั่งหน่วยพิฆาตอสูรที่มีตัวละครเสาหลักที่เป็นผู้หญิงให้เห็นอย่าง เสาหลักแมลง โคโจ ชิโนบุ เสาหลักความรัก คันโรจิ มิตซึริ หรือเสาหลักบุปผา โคโจ คานาเอะ ที่สามารถยืนหยัดขึ้นมาได้ด้วยความแข็งแกร่ง ไม่ถูกลดบทบาทผู้นำลงไปเพียงเพราะเป็นผู้หญิง ซ้ำยังได้รับการยอมรับจากสมาชิกทุกคนในหน่วยพิฆาตอสูร อีกหนึ่งการสอดแทรกบทบาทของผู้หญิงที่เรารู้สึกชอบอนิเมะเรื่องนี้คือเหล่าตัวละครฝั่งคฤหาสน์ผีเสื้อ ที่ผสานแต่ละบทบาทของความเป็นผู้หญิงได้อย่างลงตัวและเข้าใจ มี ชิโนบุ เป็นผู้นำบ้านคอยค้ำจุนทุกคน โดยขึ้นมาแทน คานาเอะ พี่สาว มีตัวละครน้องน้อยสามสาว นาโฮะ คิโยะ ซึมิ ที่เป็นฝ่ายพยาบาลคอยช่วยงานภายใน มี อาโออิ ที่ถึงแม้จะผ่านบททดสอบกลายเป็นสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูร แต่เพราะหวาดกลัวจึงไม่สามารถร่วมสู้ในสนามรบได้ เลยหันมาเป็นฝ่ายดูแลจัดการอาหาร ดูแลต่าง ๆ แทน และสุดท้าย คานาโอะ ที่ถูกอุปการะมาเลี้ยง ไม่เคยมีความแค้นต่ออสูรเหมือนคนอื่น ๆ แต่ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมบททดสอบสุดท้ายและกลายมาเป็นสมาชิกหน่วยพิฆาตอสูรด้วยความตั้งใจของตัวเอง (เพราะไม่สามารถช่วยเหลืองานบ้านได้เหมือนคนอื่น ๆ จึงเลือกที่จะหันไปจับดาบเรียนรู้ปราณบุปผาด้วยตัวเอง อาศัยการดูจดจำท่วงท่ามาจากคานาเอะ เก่งสุดยอด!) ยุคสมัยแห่งเครื่องแบบ อิงตะวันตก อิงทหารจักรวรรดิเชื่อมโยงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเรื่องเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุดภายในเรื่องดาบพิฆาตอสูรก็คงจะหนีไม่พ้น ชุดยูนิฟอร์มหรือเครื่องแบบของหน่วยพิฆาต เป็นเครื่องแบบสีดำคล้ายชุดกักคุรัน หรือชุดนักเรียนชายญี่ปุ่นที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน คอปกตั้ง รังกระดุมเม็ดโต ด้านหลังมีคำว่า พิฆาต ตัวใหญ่ ในเนื้อเรื่องอธิบายว่าเครื่องแบบของหน่วยพิฆาตอสูรเป็นชุดที่ตัดเย็บด้วยเส้นใยพิเศษ ถ่ายเทอากาศได้ดีแต่เปียกยาก และไหม้ไฟยาก นอกจากนี้ยังแข็งแรงทนทานต่อการโจมตีของอสูรลำดับล่างได้ เครื่องแบบของหน่วยพิฆาตอสูรนั้น สันนิษฐานได้ว่ามีต้นแบบมาจากชุดเครื่องแบบที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น ทั้งชุดยูนิฟอร์มนักเรียนชาย และชุดเครื่องแบบทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตรงกับยุคไทโช นอกจากนี้เหล่าตัวละครหลักยังมักจะใส่เสื้อฮาโอริ (เสื้อคลุมทับเครื่องแบบ) ลายสะดุดตาต่าง ๆ ซึ่งผสมผสานลวดลายแบบตะวันตกและลวดลายญี่ปุ่นอีกด้วย และจากที่พูดกันไปก่อนหน้านี้ว่ายุคไทโชเป็นยุคที่สังคมญี่ปุ่นเริ่มได้รับวัฒนธรรมชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก จะเห็นว่าชุดของมุซัน อสูรลาสต์บอสที่ทันจิโร่พบในครั้งแรกนั้น จะใส่ชุดสูททางการและหมวกที่มีความอิงเครื่องแบบแฟชั่นที่แพร่หลาย (ยังไม่นับรวมว่าทรงผมและพี่แกคล้ายไมเคิล แจ็คสันอย่างกับถอดมา) นอกจากตัวมุซันแล้ว เอนมุ อสูรข้างแรมที่หนึ่ง ที่โผล่ออกมาท้ายอนิเมะซีซั่นแรก และเป็นตัวชูโรงภาคเดอะมูฟวี่รถไฟสู่นิรันดร์ ก็สวมชุดสูทที่แสดงถึงฐานะชนชั้น ความนำสมัย ที่แพร่หลายเป็นอย่างมากในยุคไทโช ยุคสมัยแห่ง Beauty Standard บรรทัดฐานความงามที่ไม่เป็นปัจเจกบุคคล ในยุคสมัยก่อนของญี่ปุ่น รวมไปถึงยุคไทโช สังคมจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับหน้าตา รูปลักษณ์ที่เกลี้ยงเกลา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าแม้ในย่านเริงรมย์โยชิวาระที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล และถูกหยิบยกเข้ามาเป็นหนึ่งพาร์ตของเนื้อเรื่อง ทันจิโร่ยังเคยถูกตำหนิว่าใบหน้าที่มีรอยแผลเป็นแม้จะไม่มากก็ไม่สามารถให้ออกไปรับแขกได้ เพราะในสายตาคนทั่วไปในยุคไทโช บุคคลที่มีรอยแผลเป็นบนใบหน้า เช่น ทันจิโร่ ซาบิโตะ ซาเนมิ (เสาหลักวายุ) เกนยะ เกียวเม (เสาหลักหินผา) จะถูกจัดว่าอัปลักษณ์ หรือน่าเกลียดกว่าคนทั่วไป แต่ถึงแม้เราจะไม่นำบรรทัดฐานในสังคมปัจจุบันที่มีความตระหนักคิดเรื่อง Beauty Standard เพิ่มขึ้นมาบ้สง ไปตัดสินว่ายุคนั้นไม่ดี แต่อีกหนึ่งตัวละครที่เรารู้สึกว่าเธอได้รับความบอบช้ำจากบรรทัดฐานความงามในยุคสมัยไทโชเป็นอย่างมาก คือ เสาหลักความรัก คันโรจิ มิตซึริ จากเนื้อหาในมังงะเล่าว่าเธอคือผู้แข็งแกร่งที่มีความหนาแน่นของกล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไปถึง 8 เท่า กินจุกว่านักซูโม่ 3 คนรวมกัน มีสีผมที่แปลกประหลาดจากผู้หญิงทั่วไป เป็นสีชมพูปลายเขียวอ่อน (เพราะชอบกินซากุระโมจิมากจนทำให้สีผมเปลี่ยนไปตาม) เพราะความแตกต่างของตัวเธอทำให้มิตซึริถูกปฏิเสธการดูตัวด้วยคำพูดที่ว่า ‘ผู้ที่จะแต่งงานกับคุณได้ คงมีแต่สัตว์ประหลาดอย่างหมีไม่ก็หมูป่ากระมัง สีผมที่แสนประหลาดนั่นด้วย แค่คิดว่าพันธุกรรมนั่นจะตกสู่ลูก ๆ ก็ขนลุกแล้ว’ จากประโยคนั้นทำให้มิตซึริเลือกที่จะย้อมผมตัวเองเป็นสีดำ อดกลั้นความอยากอาหารจนหน้ามืด พูดโกหกทำเป็นอ่อนแอให้เหมือนผู้หญิงทั่วไป จนกระทั่งมีผู้ชายมาบอกว่าอยากจะแต่งงานกับเธอ อย่างไรก็ดี สุดท้ายมิตซึริก็คิดได้ว่าตัวเธอจะต้องปิดบังความเป็นตัวเองไปตลอดอย่างนั้นเหรอ เราอินกับประโยคตัดพ้อเชิงสงสัยในช่วงเกริ่นความหลังว่า ‘ฉันต้องไม่เป็นตัวฉันเหรอ? ตัวตนจริง ๆ ของฉันอาจจะมีประโยชน์กับผู้อื่นไม่ใช่เหรอ? ในโลกนี้จะไม่มีที่ยอมรับตัวตนจริง ๆ ของฉันเลยเหรอ?’ เพราะว่าแตกต่างจากบรรทัดฐานรูปลักษณ์ของสังคมจึงทำให้เจ็บปวด และมิตซึริก็ได้มาเข้าหน่วยพิฆาตอสูร สถานที่ที่ยอมรับและเคารพในสิ่งที่ตัวเธอเป็น และมาเข้าหน่วยพิฆาตอสูรเพื่อตามหาคู่รักที่อยู่เคียงข้างกันไปตลอดชีวิตอีกด้วย