หลังจากที่มีประกาศจากกรมศุลกากรเกี่ยวกับ ‘เรื่องการปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน’ ซึ่งประเด็นหลักคือเรื่องของการหิ้วของมีค่าออกนอกประเทศต้องแจ้งทางเจ้าหน้าที่ก่อนหรือไม่ ประกาศนี้กลายเป็นที่ถกเถียงว่าสรุปแล้วต้องทำยังไง เราได้สรุปประเด็นดังกล่าวมาให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกดังนี้
นำของมีค่าออกนอกประเทศต้องแจ้งจริงไหม?
- ประกาศนี้ไม่ใช่ประกาศใหม่ ‘ชัยยุทธ คำคุณ’ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรชี้แจงว่าประกาศที่ 60/2561 ที่บอกว่าหากนำของมีค่าจำพวก ‘กล้อง – นาฬิกา – โน๊ตบุ๊ค’ หรือของมีค่าอื่นๆ ออกนอกประเทศต้องแจ้งนั้น แม้ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 แต่สาระในประกาศฯ นั้นคงเดิม ที่ผ่านมาทางกรมฯ ดำเนินการเรื่องนี้ไปนานแล้ว แต่ที่ต้องออกประกาศกรมศุลกากรใหม่เพราะพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับเก่าถูกยกเลิก เลยต้องออกประกาศฯ ฉบับใหม่ออกไป
- ประกาศฉบับใหม่นั้นก็ไม่ได้ ‘บังคับ’ ให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางออกนอกประเทศต้องแจ้งข้อมูลแก่กรมศุลกากรกรณีที่นำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นตามที่ประกาศ
- หากผู้โดยประสงค์จะแจ้งเพื่อความสบายใจก็สามารถทำได้ โดยนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปทำเอกสารที่ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ เพื่อลงทะเบียน เอกสารที่ต้องเตรียมไปคือภาพถ่ายของสิ่งนั้นสองชุดด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเสร็จจะให้เอกสารมา
- แต่ในกรณีที่ไม่แจ้งแล้วโดนศุลกากรสุ่มตรวจสอบแล้วมีของมีค่าที่นำออกนอกประเทศไป ต้องหาหลักฐานมายืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่านำติดตัวออกไปจากประเทศตั้งแต่แรกไม่ได้ซื้อเข้ามาซึ่งอาจจะเสียเวลา และเสี่ยงจะเสียภาษีหากไม่สามารถยืนยันได้
- ประกาศนี้ทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารกรณีโดนสุ่มตรวจ ไม่ได้มีเจตนาเอาผิด
- สรุปอีกครั้งว่าจะหิ้วนาฬิกา กล้อง เลนส์ โน๊ตบุ๊ค จะแจ้งหรือไม่แจ้งศุลกากรก็ได้นะ
- ดังนั้นสบายใจได้เลย
กรณีนำสินค้าเข้าประเทศแบบไหนไม่เสียภาษี
- กรณีที่ซื้อสินค้าจาก Duty Free ‘ในประเทศ’ แล้วฝากไว้ก่อน กลับมาค่อยเอาเข้าประเทศนั้นหากนำสินค้าเข้าประเทศมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี
- กรณีที่ซื้อสินค้าปลอดภาษีจาก ‘นอกประเทศ’ แล้วนำเข้ามาก็ไม่ต้องเสียภาษีหากมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท
- หากสินค้าที่นำเข้าประเทศมีมูลค่าเกิน 20,000 บาทเกินมาเล็กน้อยเช่น 1,000 บาท ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียภาษี ต้องเกินหลักหมื่นบาทขึ้นไป
- สรุปว่าซื้อ Duty Free ‘ในประเทศ’ แล้วฝากไว้ก่อน กลับมาค่อยเอาเข้าประเทศได้รับการยกเว้นอากรถ้าตรงตามเงื่อนไข
ที่มา – กรุงเทพธุรกิจ , ไทยรัฐ