โดรนกลายเป็นหนึ่งในเก็ตเจ็ทที่เข้าถึงได้ง่ายๆ และใครก็เป็นเจ้าของโดรนได้แค่มีเงินหลักหมื่นนิดๆ แต่โดรนเป็นอากาศยานไร้คนขับที่ไม่ใช่ว่าจะบินได้อิสระ เพราะหากว่ากันตามตรงโดรน อาจจะเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ทำผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิ์ของคนอื่นซึ่งผู้บังคับอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์จริงๆ ดังนั้นการบินโดรนจึงต้องถูกควบคุมเพื่อความเป็นระเบียบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนกับการควบคุมให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น Mango Zero ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ‘คุณจุฬา สุขมานพ’ เพื่อแนะนำรายละเอียดและข้อบังคับต่างๆ ที่กฎหมายได้บังคับไว้เพื่อให้นักบินโดรนทั้งหลายควรรู้ไว้จะได้ไม่ทำผิดกฎหมายและบินโดรนได้อย่างมีความสุข เราได้แยกออกมาเป็นประเด็นที่เข้าใจได้ง่ายดังนี้ โดรนจะบินได้ต้องทำอย่างไรให้ถูกต้อง การบินโดรนนั้นผู้ที่ควบคุมโดรนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ประกาศไว้เมื่อปี 2558 ต้องมีการขอขึ้นทะเบียนก่อนถึงจะนำโดรนบินได้อย่างสบายใจโดยต้องขึ้นทะเบียนสองเรื่องดังนี้ ขึ้นทะเบียนโดรนกับทาง กสทช. : ลงทะเบียนโดรนที่ซื้อเพื่อระบุว่าใครเป็นเจ้าของ โดยยื่นเอกสารได้ที่ร้านที่คุณซื้อมาคล้ายกับการลงทะเบียนซิมการ์ด หรือจะโหลดใบลงทะเบียนโดรนแล้วส่งเมลไปที่ กสทช. เองก็ได้ โดยสามารถโหลดทาง คำขอขึ้นทะเบียนโดรน ขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยโดรน กับทางกรมการบินพลเรือน : ในอดีตการขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรน ต้องกรอกเอกสาร แล้วรอซึ่งอาจจะนานถึง 45 วัน หรือมากกว่า แต่วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นต้นไป ผู้ที่จะขอขึ้นทะเบียนบังคับโดรนนั้นสามารถลงทะเบียนทางออนไลน์ได้เลย และอนุมัติภายใน 15 วัน เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนนั้นผู้บังคับจะต้องขึ้นทะเบียนโดรนกับทางกสทช. ก่อนจากนั้นทำประกันภัยบุคคลที่สามชั้นสามวงเงิน ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ราคาเริ่มต้น 1,900 บาท จึงกรอกแบบฟอร์มต่างๆ เพื่อขอขึ้นทะเบียน สำคัญคือการรับรองประวัติอาชญากรรมซึ่งผู้ลงทะเบียนรับรองตัวเองได้ (แต่ถ้าค้นเจอประวัติอาชญากรรม จะโดนถอนใบอนุญาตทันที) หากเอกสารหรือข้อมูลครบก็จะผ่านไวได้ใบอนุญาตบินที่พริ้นต์เก็บไว้ได้เลย โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ คำขอขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรน กรณีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโดรนกับทาง กสทช. จะไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนฯ ได้ ต้องทำให้ครบก่อน เขตห้ามบินในกรุงเทพฯ มีระยะเท่าไหร่ กรุงเทพฯ มีการกำหนดเขตห้ามบินโดรนเริ่มต้นจากอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ววัดระยะทางเป็นรัศมีวงกลมพิกัด 19 กิโลเมตร หากใครฝ่าฝืนบินในอาณาบริเวณที่ห้ามไว้จะต้องรับโทษ นอกจากการกำหนดระยะห้ามบินแล้วในกรุงเทพฯ ยังมีการกำหนดพื้นที่ห้ามบินเพิ่มเติมได้แก่ เขตพระราชฐาน : ห้ามบินเข้าใกล้หรือบินเหนือเขตพระราชฐานทุกกรณี สถานที่ราชการ เช่นโรงพยาบาล ค่ายทหาร อุทยานแห่งชาติ : นอกจากจะห้ามบินเข้าไปด้านในแล้ว ในแนวราบยังต้องบินห่างจากสถานที่นั้น 30 เมตรด้วย แต่หากอยู่ในเขตพื้นที่ 19 กิโลเมตรนั่นเท่ากับว่าไม่สามารถบินได้อยู่แล้วไม่ว่าความสูงแค่ไหน ย่านชุมชน หรือเขตบ้านคนอื่น : บินในบ้านตัวเอง แต่หันกล้องเข้าไปในบ้านคนอื่นก็ถือว่าผิดแล้ว สนามบิน : โดยสนามบินห้ามเข้าใกล้เด็ดขาดในระยะ 9 กิโลเมตร เด็ดขาด ต่างจังหวัด มีระยะบินได้แค่ไหน สำหรับต่างจังหวัดนั้นไม่มีการกำหนดเขตห้ามบินระยะ 19 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลางเหมือนกรุงเทพฯ แต่ก็มีกฎการห้ามบินที่ตรงกันและต้องปฏิบัติเหมือนกันคือ เขตพระราชฐาน สถานที่ราชการ ย่านชุมชน หรือเขตบ้านคนอื่น สนามบิน นอกนั้นสามารถบินได้อย่างอิสระ แต่ก็ต้องมีใบอนุญาตบังคับโดรนให้เรียบร้อยก่อนเพื่อความถูกต้อง การกำหนดขอบเขตการเคลื่อนที่ของโดรน แม้โดรนยุคใหม่จะมีระยะการบินที่ไกลขึ้น และบินได้นานขึ้นแต่ก็มีกฎการควบคุมโดรนที่จำกัดขอบเขตไว้เพื่อความปลอดภัยดังนี้ ห้ามขึ้นบินหลังก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกยกเว้นมีการขออนุญาตบินกับผู้เกี่ยวข้อง บินในระยะที่สายตามองเห็น ห้ามบินสูงเกิน 90 เมตร ห้ามบินเพื่อละเมิดสิทธิ์คนอื่น หรือเป็นอันตรายแก่คนอื่น โดรนสามารถบินตรงไหนได้บ้าง อาจจะดูเหมือนว่าโดรนถูกจำกัดในการบินมากมาย ยิ่งในกรุงเทพฯ โดรนขึ้นบินไม่ได้เลยเพราะติดเรื่องกฎ 19 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง และยังติดกฎข้อบังคับอื่นๆ แต่ในอนาคต ผอ.กรมการบินพลเรือน บอกว่าจะมีการเปลี่ยนกฎใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้นตามเทคโนโลยี เพราะวิเคราะห์แล้วว่าโดรนมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ แต่ปัจจุบันนี้พื้นที่ไหนบ้างที่พอจะบินได้ ได้แก่ สวนสาธารณะ : ต่างจังหวัดจะบินได้ แต่ในกรุงเทพฯ สวนสาธาณณะยังอยู่ในเขตห้ามบินยกเว้นสวนสาธาณะที่อยู่นอกเขตเมืองไปเลย และไม่ใกล้สถานที่ต้องห้าม พื้นที่ที่ได้รับการขออนุญาตเป็นพิเศษ : ในกรณีที่จำเป็นต้องบินโดรนในจุดที่หวงห้าม ต้องทำเรื่องขอไปยังผู้ดูแล เช่นหากจะขอบินในกรุงเทพฯ ต้องไปขอที่กรมการบินพลเรือนทุกครั้ง แต่หากบินในสถานที่ราชการ ต้องขอกับผู้ดูแลพื้นที่นั้นโดยตรง พื้นที่ที่ให้บินอย่างอิสระ : ขณะนี้ยังไม่มีการกำเนิดพื้นที่ที่สามารถบินโดรนได้อย่างอิสระ แต่เร็วๆ นี้ทางกรมการบินพลเรือน จะมีการกำหนดระยะการบินให้เหมาะสมเป็นปัจจุบันมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนบินโดรนได้บินอย่างสบายใจ นอกจากนี้ทางกรมการบินพลเรือนกำลังพัฒนาแอปฯ ที่บอกอาณาเขตว่าตรงไหนบินได้ ตรงไหนห้ามบิน บทลงโทษกรณีทำผิดกฎหมายโดรน แม้ในวันนี้การขึ้นทะเบียนโดรนอาจจะล่าช้า แต่เมื่อเปิดให้ลงทะเบียนขับขี่โดรนทางออนไลน์ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นไวขึ้น และเป็นระเบียบมากขึ้น ทว่าหากมีการฝ่าฝืน แม้จะเปิดทางให้ทำให้ถูกกฎหมายมากขนาดนี้แล้วก็จะมีบทลงโทษคือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุก และทั้งปรับ ในความเป็นจริงแล้วทาง ผอ. กรมการบินพลเรือน บอกว่าไม่ได้อยากที่จะไปจับผิด หรือจ้องที่จะจับใคร เพราะคนซื้อโดรนก็อยากจะบินโดรนทั้งนั้น เพียงแต่ขอให้ทำให้ถูกกฎหมายก็จะได้สบายใจทุกฝ่ายและเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เนื่องจากมีกรณีที่โดรนไปทำอันตรายคนอื่น หรือเกือบที่จะทำอันตรายคนอื่นดังนั้นกฎหมายควบคุมการบินโดรนไม่ได้มีแค่เมืองไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกมีการกำหนดกรอบกฎหมายเพื่อควบคุม แต่อนาคตกฎหมายจะถูกปรับใหม่เพื่อให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น อดใจรอไปอีกนิดนะ