ธนาคารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโลกดิจิทัลสูงมาก เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตทำให้ธนาคารต้องปรับตัวเพื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกค้ามากขึ้นตามพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ธนาคารในโลกยุคใหม่หากคิดจะเป็นแค่เป็นที่ฝากถอนเงินอย่างเดียว สุดท้ายไม่พ้นคงโดน digital disruption แต่ KBank คือธนาคารที่ปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาตลอดเพื่อให้ธนาคารกสิกรไทยเป็น ‘ธนาคารยุคใหม่’ ที่อยู่บนโลกดิจิทัล และเติบโตอย่างแข็งแรงโดยใช้ดาต้าที่มีอยู่เพื่อทำให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากที่สุดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงธนาคารเองก็สามารถนำดาต้าไปสร้างความเติบโตทางธุรกิจทุกภาคส่วนได้มากขึ้น นั่นจึงเป็นภารกิจใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างประสิทธิภาพในการทำงานของธนาคารให้มีพลังมากที่สุดในยุคที่ธนาคารอยู่ในมือทุกคน อะไรที่เป็นภารกิจใหม่ หรือเป็นสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของวงการธนาคารไทย รวมไปถึงธนาคารกสิกรไทย นี่คือสรุปสาระสำคัญจากงาน A Year of i เราจะได้เห็นว่าธนาคารกสิกรไทย ไปไกลกว่านิยามของธนาคารแบบเดิมมากแค่ไหนในปีนี้และต่อๆ ไป ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญให้ประเทศ – ‘ปรีดี ดาวฉาย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เริ่มที่หัวข้อแรก ‘ปรีดี ดาวฉาย‘ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมาเล่าถึงเรื่องการพัฒนาโครงสร้างทางการเงินพื้นฐาน โดยสรุปว่าทุกวันนี้การทำธุรกรรมบนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้นธนาคารกสิกรไทย รวมถึงธนาคารอื่นๆ จึงต้องร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงินของประเทศให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยตอนนี้สิ่งที่ธนาคารไทยกำลังจะทำคือผลักดันให้ภายใน 2 ปีคนไทยจะได้รับบริการทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยจะเข้าร่วมในการพัฒนาช่องทางต่างๆ ด้วยได้แก่ การต่อยอดพัฒนาพร้อมเพย์จากการให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ สู่การให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 ทำให้ผู้ชำระเงินที่มีแอปโมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกที่ สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้การจ่ายเงินง่ายมาก เข้าร่วมพัฒนา Thailand Blockchain Community Initiative ซึ่งระบบนี้จะนำมาใช้ในการให้บริการ ‘ด้านหนังสือค้ำประกัน‘ โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร รวมถึงกลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วมด้วย ระบบนี้จะช่วยให้ขั้นตอนในการทำธุรกรรมง่ายขึ้น ตรวจสอบได้ และมีโอกาสเติบโตของธุรกรรมอย่างก้าวกระโดด เข้ารวมโครงการ National Digital ID โดยจากนี้ไปลูกค้าจะสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงบริการของธนาคารโดยไม่ต้องไปที่สาขาก็ทำได้ เช่นการขอสินเชื่อ, การเปิดบัญชี, การซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ เตรียมพัฒนาโปรเจกต์เอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) หรือเครื่องเอทีเอ็มที่ทุกธนาคารใช้ร่วมกัน และสามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกธนาคาร ทำให้ธนาคารลดต้นทุนในการจัดการต่างๆ ได้ ใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์ลูกค้าและพัฒนาระบบภายใน – ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งในสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทย ทำมาอย่างยาวนานคือการเก็บดาต้าของลูกค้าจำนวนมหาศาลจนกลายเป็นบิ๊กดาต้า ซึ่งบิ๊กดาต้าเหล่านี้ก็ถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปพัฒนาการบริการให้ลูกค้าในระดับที่ว่าสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเป็นรายคนได้ ประโยชน์ของการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าเป็นรายคน และการใช้บิ๊กดาต้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง นี่คือบทสรุปที่ได้จาก ‘ขัตติยา อินทรวิชัย’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย KBank เข้าไปดูแลลูกค้าที่ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้นในแง่ของการทำธรุกรรมทางการเงิน ที่ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไร้รอยต่อ ไม่ติดขัด พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมในอนาคต เช่น ใช้ใบหน้าเพื่อยืนยันการเปิดบัญชีได้โดยไม่ต้องไปสาขา, ใช้การอนุมัติการโอนเงินด้วยเสียง ไปจนถึงการถอนเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรหรือสมาร์ทโฟนอีกเลย สามารถเจาะจงความต้องการของลูกค้าและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน การรู้จักลูกค้ามากขึ้นผ่านบิ๊กดาต้า ทำให้สามารถนำเสนอบริการที่ลูกค้าต้องการจริงๆ รวมถึงสามารถขยายฐานไปยังลูกค้ารายใหญ่ได้ และสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับกลุ่มคนที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ อย่างเช่นพ่อค้า แม่ค้า หรืออาชีพอิสระ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ธนาคารเก็บไว้แทน และการปล่อยสินเชื่อออนไลน์จะช่วยลดการใช้เอกสาร เพื่อการให้บริการที่กระชับมากขึ้นแล้วใช้การเก็บข้อมูลสำคัญไว้แทนเพื่อนำมาประมวลผลในการให้บริการ การลดการใช้เอกสารนั้นจะยิ่งทำให้ลดภาระการยื่นเอกสารของลูกค้าในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงลดต้นทุนการจัดการเอกสารของธนาคารด้วย ส่วนข้อมูลของลูกค้าที่เก็บไว้นั้นจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ โดยข้อมูลของลูกค้าที่ถูกนำมาวิเคราะห์จะถูกกรองตัวตนออกไปและทุกอย่างเป็นความลับ ธนาคารจะปรับโครงสร้างภายใน โดยไม่ปลดใครออก แต่จะมีการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรโดยผสานคนเข้ากับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร 3 ด้านคือกลุ่มงานบริการและการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้ารายบุคคล, กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่เน้นเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ และสุดท้ายกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่นำเสนอนวัตกรรมเพื่อให้ลูกค้าได้เลือก ปรับธุรกิจเพื่อเข้าสู่โลกยุค ‘เศรษฐกิจผสานมิติ’ – ‘พิพิธ เอนกนิธิ’ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ในยุคที่สงครามการค้า การพัฒนาของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทั่วโลกเกิดขึ้นได้ตลอด ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ถ้าไม่ปรับตัวอาจจะล้มหายตายจากไปได้ โดยที่ทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก ซึ่งนี่คือยุคของ ‘เศรษฐกิจผสานมิติ‘ ‘พิพิธ เอนกนิธิ‘ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จึงเล่าเรื่องการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจธนาคารอยู่รอด และช่วยผลักดันธุรกิจไทยให้เติบโตไปด้วยกัน โดยแผนในการปรับตัวของธนาคารกสิกรไทยที่จะทำก็คือ ช่วยผลักดันธุรกิจไทยให้แสวงหาโอกาสไปยังต่างประเทศด้วยวิธีการต่างๆ เนื่องจากในอนาคตตลาดของภูมิภาคจะเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) จะมีบทบาทสูง ซึ่งอนาคตจีดีพีของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเติบโตรวม 28.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทย 41 เท่าตัว นั่นทำให้ต้องโฟกัสที่ตลาดนี้ให้มากขึ้น มองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และแสวงหาพันธมิตรในการลงทุนทั้งด้านฟินเทค สตาร์ทอัพ ลงทุนข้ามประเทศ ข้ามอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับธนาคาร โดยตอนนี้สิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยทำอยู่คือ KVsion บริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และลงทุนในฟินเทค และสตาร์อัพ เม็ดเงินที่ลงทุนไปคือ 8,000 ล้านบาท ผ่านการตั้ง Innovation Lab ใน 5 ประเทศคือไทย, อิสราเอล, เวียดนาม, จีน และอินโดนีเซีย เชื่อมโยงลูกค้า คู่ค้า และธนาคารเข้าด้วยกันผ่านเทคโนโลยีที่ธนาคารมีเพื่อทำให้การทำธุรกรรม หรือการเข้าถึงบริการของธนาคารทำได้ง่ายขึ้น โดยโปรเจกต์ใหญ่ที่พัฒนาคือ ‘สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค‘ โดยเริ่มต้นที่การสร้างแอปกระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวสปป. ลาว ที่เวียงจันทน์ ก่อนเพื่อนำร่อง จากนั้นก็จะพัฒนาต่อไปยังที่อื่น เดินหน้าสร้างรายได้ด้วยบิ๊กดาต้าที่มี – ‘พัชร สมะลาภา’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันในวงการธนาคารไทยเยอะมาก รวมไปถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทำให้ธนาคารต้องหาวิธีขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แผนในปีนี้ของธนาคารกสิกรไทยก็คือการตั้งเป้าการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธนาคาร โดยผู้นำภารกิจนี้คือ ‘พัชร สมะลาภา‘ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และนี่คือสิ่งที่สรุปได้ เดินหน้าหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยใช้แพลตฟอร์ม K PLUS เชื่อมต่อกับบริการอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า K PLUS เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และเลือกที่จะเป็นลูกค้าของ KBank เดินหน้าทำธุรกิจใหม่ๆ โดยหารายได้จากช่องทางใหม่ โดยปีนี้ตั้งใจที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยจะเน้นที่ลูกค้ารายย่อย และเลือกนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าที่วิเคราะห์ผ่านบิ๊กดาต้า ว่ามีความต้องการสินเชื่อจริงๆ และมีกำลังในการผ่อนชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอไปทางช่องทางออนไลน์ และยังเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยว่าลูกค้าสามารถชำระเงินคืนได้ในช่วงไหนเพื่อความสะดวกของลูกค้า บริหารต้นทุนของธนาคารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยนำสินทรัพย์ที่ธนาคารมีมาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทุ่มทุน 5,000 ล้านบาทพัฒนา KBTG เป็นบริษัทไอทีเบอร์หนึ่ง – ‘เรืองโรจน์ พูนผล’ ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป KBTG คือบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย โดยโปรดักค์หลักของธนาคารกสิกรไทยก็คือ K PLUS ซึ่งหลังจากนี้ไปธนาคารกสิกรไทยจะลงทุนพัฒนานวัตกรรมทางการเงินโดยนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และบุคลากรคุณภาพมาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน ไม่ได้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง เป้าหมายคือการสร้าง ‘ธนาคารอัจฉริยะ‘ ที่แท้จริง ซึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนาบุคลากรให้ไปถึงเป้าโดยใช้งบ 5,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายที่ ‘เรืองโรจน์ พูนผล‘ ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกกับเราได้แก่ ส่งมอบการบริการแก่ลูกค้าที่ด้วยบริการที่ฉลาด รู้ใจ และปรับตามรูปแบบไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และพนักงานทำงานร่วมกัน เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาลงต้นทุน และเพิ่มศักยภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อว่า นวัตกรรมที่ดีต้องสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน รวมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการธนาคารบนมือถือให้ดียิ่งขึ้น และพัฒนา KBTG ให้กลายเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีโลกมาสู่ประเทศไทยภายในปี 2562