ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรานั้นมักตามมาด้วยสิ่งไม่พึงประสงค์ หรือเรียกเอาง่ายๆ ว่า “ขยะ” ซึ่งบางอย่างถ้าเราแยกทิ้งอยากถูกวิธีก็จะถูกนำไปสู่การแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ส่วนบางอย่างก็เป็นของที่ “ใช้แล้ว ทิ้งเลย” แบบที่ผ่านการใช้เพียงไม่กี่นาที ไม่มีโอกาสได้เอากลับมาใช้ใหม่อีก วันนี้ Mango Zero พาทุกคนไปเปิดตัวเลขปริมาณขยะในประเทศไทย จากสรุปของกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2561 ไปดูกันว่าของที่เราทิ้งกันไปทุกวันๆ สามารถไปรวมกันแล้วเกิดเป็นขยะมากแค่ไหน ขยะมูลฝอยทั่วไทย = 27.8 ล้านตัน ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยรวม 27.8 ล้านตัน ซึ่งมี 34% ถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ และส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง 39% และกำจัดไม่ถูกต้อง 27% ปัจจัยการเกิดขยะมูลฝอย ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริโภคของประชาชน ใน 27.8 ล้านตัน มีขยะพลาสติกอยู่ประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งใน 2 ล้านตันนี้ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่ 5 แสนตันเท่านั้น ขยะอันตราย มีมากถึง 6.4 แสนตัน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 65% และอื่นๆ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ 35% โดยทั้งหมดนี้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องแค่ 13% เท่านั้น ส่วนในกรุงเทพมหานคร ได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้เช่นเดียวกัน โดย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุสถิติเกี่ยวกับขยะในกทม. ของปี 2561 ไว้ดังนี้ ชาวกรุงเทพฯ สร้างขยะมูลฝอย 1 ใน 7 ของประเทศ ในปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดในกรุงเทพฯ ประมาณ 10,700 ตันต่อวัน เป็นถุงพลาสติกปนเปื้อนที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 1,570 ตันต่อวัน หรือประมาณ 15% ของปริมาณขยะทั้งหมด โดยเมื่อคิดรวมทั้งปี ปริมาณขยะมูลฝอยจากกรุงเทพฯ มีปริมาณกว่า 3.9 ล้านตัน คือคิดเป็น 1 ใน 7 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศเลยทีเดียว! คนกรุงเทพฯ 1 คน ใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยวันละ 8 ใบ จากจำนวนขยะถุงพลาสติก เมื่อนำมาคิดกับจำนวนคนกรุงเทพฯ ประมาณ 10 ล้านคน พบว่าคนกรุงเทพฯ 1 คนใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยวันละ 8 ใบเลยทีเดียว เราลดขยะได้ยังไงบ้าง? ส่งเสริมการแยกขยะ โดยแบ่งออกเป็น ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิลและขยะอันตราย โดยขยะรีไซเคิลควรผ่านการล้างให้สะอาด แยกฝาขวดและฉลากออกก่อนทิ้งด้วยนะ ปฏิเสธโฟม ถุงพลาสติก และแก้วน้ำพลาสติก โดยเลือกใช้ถุงผ้า ปิ่นโต กล่องข้าวที่สามารถใช้ซ้ำได้แทน ทั้งนี้ไม่ควรซื้อภาชนะเหล่านี้บ่อยๆ เพราะกระบวนการผลิตของเหล่านี้ก็สิ้นเปลืองไฟฟ้าและน้ำอีก นำถุงพลาสติกมาใช้ซ้ำ กรณีที่ไม่ได้พกถุงผ้าและจำเป็นต้องรับถุงพลาสติก ให้นำกลับมาใช้ซ้ำแทนการทิ้ง ที่มา : สสส, Thai news