หากพูดถึงรสชาติต่าง ๆ แล้ว ทุกคนนึกถึงรสอะไรกันบ้างในโลกใบนี้? เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นรสหวาน เค็ม เผ็ด และเปรี้ยวแน่นอน ยิ่งพูดถึงรสเผ็ดด้วยแล้ว ทุกคนก็อาจอยากเกิดความแซ่บแสบลิ้นขึ้นมา นึกถึงเมนูอาหารไทยแซ่บ ๆ ทั้งหลายที่เป็นของขึ้นชื่อประเทศไทย
แต่ความจริงแล้ว รสชาติต่าง ๆ บนโลกนี้ ถูกจำแนกพื้นฐานไว้แค่ หวาน เค็ม เปรี้ยว และขมต่างหาก! ซึ่งถ้านับการค้นพบใหม่ของญี่ปุ่นอย่างผงชูรส ก็จะถือว่ามีรสอูมามิด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีคำว่า ‘เผ็ด’ ให้พวกเราเห็นกันเลยนะ
นั่นเป็นเพราะว่าความเผ็ดไม่ใช่รสชาติ! หากแต่เป็นอาการผิดปกติของลิ้นอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง! และ Mango Zero จะพาไปรู้จักกับรสเผ็ด ที่ไม่ใช่รสชาติ (เก็ตสึโนวามาก ๆ) ว่ามันคืออะไรกันแน่กันเลย!
รสเผ็ด หรือ ความเผ็ด คืออะไร?
เผ็ด คืออาการผิดปกติของลิ้นเมื่อได้รับสารเคปไซซิน (Capsaicin) ที่มักพบในพริก ซึ่งเป็นสารที่ให้ความแสบร้อน ไม่ต้องเข้าปากก็รับรู้ถึงความแสบร้อนนี้ได้เช่นกัน เช่น เวลาพริกถูกผิวหนัง หรือโดนส่วนอื่นของร่างกายอย่างกระเพาะอาหาร
การกินน้ำไม่ช่วยให้หายเผ็ดนะ!
การกินน้ำไม่ช่วยให้หายเผ็ด เพราะสารเคปไซซินละลายในน้ำได้ไม่ดีเท่ากับละลายในน้ำมัน ซึ่งหากเราต้องการแก้เผ็ด (ไม่ใช่สำนวนแต่อย่างใด) ก็ควรกินอาหารประเภทแป้งหรือน้ำมัน เช่น นม ผัก หรือรวมถึงแกงใส่กะทิที่มักอยู่คู่โต๊ะอาหารบ้านเราในทุก ๆ มื้อ หรือจะปล่อยให้น้ำลายของเราจัดการความเผ็ดนี้เองด้วยการปล่อยไว้เฉย ๆ สักพักหนึ่งก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์ของการกินเผ็ด
แต่การกินพริกก็ยังคงมีประโยชน์มากมายอยู่ดี เพราะมีวิตามินเอ ซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (เอ็นดอร์ฟิน) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ไข้หวัด ช่วยลดน้ำมูก ละลายเสมหะ และยังทำให้หลอดลมขยายตัวได้ดีพร้อมลดคอเรสเตอรอลได้อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีประโยชน์มากต่อคนที่มีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด ภูมิแพ้ และโรคอื่น ๆ เกี่ยวกับหลอดเลือด
ส่วนใครไม่ชอบกินเผ็ด ก็อาจจะลองกินบ้างประปรายผสมกับเมนูอื่นที่ช่วยลดเผ็ดในมื้อต่าง ๆ ได้ เพราะจะช่วยให้ร่างกายเราปรับเมแทบอลิซึมได้ดียิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ลิ้นของแต่ละคนมีความสามารถในการเผชิญกับสารเคปไซซินต่างกัน บางคนกินนิดเดียวกลับเผ็ดมาก บางคนซัดหมดหม้อเพิ่งเริ่มเผ็ด ดังนั้นจึงควรปรับสมดุลของความเผ็ดให้เหมาะสมกับตัวเอง เดี๋ยวจะทำให้แสบลิ้นเกินไปจนกินอาหารไม่อร่อยนะ!