เพิ่งผ่านการเลือกตั้งปี 2562 ไปหมาดๆ แต่กระบวนการที่ยังไม่เสร็จสิ้นก็ทำให้ตอนนี้ยังคงมีกระแสการเลือกตั้งให้เราได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ “สื่อออนไลน์” ได้เข้ามามีผลอย่างมากทั้งในแง่ของความชัดเจนในการแสดงจุดยืนของพรรคการเมือง และรวมไปถึงการตัดสินใจว่าจะเลือกใครของประชาชน
Mango Zero ขอพาทุกคนไปดูปรากฏการณ์เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไปดูกันว่าระหว่างที่เรานั้นสไลด์นิ้วมือไปบนหน้าจอสมาร์ทโฟน พิมพ์ข้อความลงไปบนคีย์บอร์ด ได้สร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับการเมืองไทย ไปดูกัน!
ครั้งแรกของการหาเสียงบนโซเชียล
สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดในการเลือกตั้ง 2562 ก็คือระเบียบการหาเสียงที่อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียโดยเป็นไปตามระเบียบการเลือกตั้ง อาทิ ลงทะเบียนสื่อโซเชียลของพรรคก่อน มีการลงนามชื่อพรรคด้านใต้โพสต์ทุกครั้ง ทำให้จากเดิมที่การหาเสียงนั้นอยู่แค่บนสื่อหลักอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือป้ายหาเสียงตามข้างทาง ก็มีสื่อโซเชียลเข้ามาเป็นอีกช่องทางหนึ่ง โดยสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือที่แต่ละพรรคการเมืองมีช่องทางเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่นทำให้คนใช้สื่อออนไลน์มีโอกาสได้เข้าถึงนโยบายและจุดยืนของพรรคได้มากขึ้น
แฮชแท็กฮิต สร้างแรงกระเพื่อมได้จริง
“แฮชแท็ก” เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ชัดจากยุคที่การเมืองไทยกับสื่อออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่มีการอัปเดตความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแฮชแท็กจนขึ้นติดเทรนด์กันอยู่เรื่อยๆ เช่น #เลือกตั้ง62 #เลือกตั้ง2562 #ThailandElection2019 #เลือกตั้งล่วงหน้า #เลือกตั้งนอกเขต
นอกจากนี้แฮชแท็กยังเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนและรวมความคิดเห็นจากคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ #ฟ้ารักพ่อ #ทากันแดดให้ธนาธร #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง หรือจะไว้สอดส่องความผิดปกติทางการเมืองก็ได้เหมือนกัน เช่น #พรรคพลังโฟโต้ช็อป #เนชั่นโป๊ะแตก #กกตโป๊ะแตก ซึ่งในหลายๆ ครั้งแฮชแท็กก็ได้พาเอาประเด็นการเมืองที่ชาวโซเชียลมีเดียกำลังพูดถึงไปสู่สื่อกระแสหลัก และสร้างการรับรู้ในวงกว้างได้มากขึ้นด้วย
(หรืออย่างน้อยๆ #ทากันแดดให้ธนาธร ก็ทำให้คุณธนาธรหันมาทาครีมกันแดดตอนออกหาเสียงได้จริง…)
Vote62.com แสดงผลการเลือกตั้งโดยประชาชน
อีกหนึ่งปรากฏการณ์บนโซเชียลมีเดียที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือ การสร้างเว็บ vote62.com โดยทีมงาน The Momentum, a day BULLETIN, iLaw และ Opendream ที่ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลแบบ Crowdsourcing เปิดให้ประชาชนในทุกๆ เขตเลือกตั้งรายงานผลการเลือกตั้งของเขตตัวเองด้วยการเข้าเว็บไซต์ กรอกข้อมูลผลการเลือกตั้งแบบคะแนนดิบ และแนบรูปถ่ายผลการเลือกตั้งของแต่ละหน่วย วิธีนี้นับว่าเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการเมืองมากขึ้น และยังช่วยเป็นหูเป็นตาให้บ้านเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐ
สื่อโซเชียลมีเดียนับเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่สำคัญในการตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นได้ว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จำนวนมากเลือกที่จะออกไปสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ และเมื่อมีความผิดปกติอะไรก็เลือกที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข้อมูล แม้ว่าความน่าเชื่อของบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กแต่ละคนอาจไม่ได้มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบในทันที แต่ก็ทำให้หลายคนเกิดการตั้งคำถามและนำไปสู่การยื่นตรวจสอบกันต่อไป
Change.org พื้นที่ของคนต้องการเปลี่ยนแปลง
โดยปกติแล้วเรามีเว็บไซต์ Change.org ไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ในสังคม และถ้าเรื่องใดที่มีจำนวนผู้ลงชื่อมากพอ ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้จริง และในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน จากข้อสงสัยของคนบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งอย่างกกต. ทำให้มีคนไทยจำนวนกว่า 7 แสนคนเข้าไปลงชื่อเพื่อขอถอดถอนหน่วยงานดังกล่าว
และแม้ว่าตามกฎหมาย การล่ารายชื่อออนไลน์ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยื่นถอดถอนองค์กรอิสระอย่างกกต. ได้ เนื่องจากต้องมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ทำให้ได้เห็นถึงความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวของคนไทยนับแสนคน และอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาในอนาคต
ที่มา : มติชน, vote62, marketing oops, change, MGR VDO, Rain Maker