นอกจากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ สิ่งที่คนทำคอนเทนต์ควรรู้ เพื่อนำไปต่อยอดให้คอนเทนต์เข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น ก็คือเหล่าคำศัพท์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ หลายครั้งที่เราได้ยินคนพูดกัน บางคำก็รู้ บางคำก็คุ้นหูแต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร
แต่ละแพลตฟอร์มก็มีศัพท์เฉพาะแตกต่างกันไป มาทำความรู้จักศัพท์บนโซเชียลมีเดียในภาพรวม และแต่ละแพลตฟอร์มให้มากขึ้นกันดีกว่า จะได้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับคอนเทนต์ของเรา
คอนเทนต์ (Content) คอนเทนต์คือเรื่องราวที่เราสร้างขึ้นและนำเสนอไปสู่ผู้อ่านหรือผู้ชม อยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ทั้งบทความ ภาพ อินโฟกราฟิก วิดีโอ
แพลตฟอร์ม (Platform) ช่องทางต่างๆ ที่ใช้นำเสนอคอนเทนต์ หรือเป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย เช่น
- Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เชื่อมต่อ พูดคุย
- Instagram เป็นแพลตฟอร์มของการแชร์รูปภาพ
- Youtube เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมคอนเทนต์วิดีโอ
- Tiktok เป็นแพลตฟอร์มของการนำเสนอวิดีโอขนาดสั้น
แฮชแท็ก (Hashtag) สัญลักษณ์ # แล้วตามด้วยคำ วลี หรือประโยค ที่สื่อถึงเรื่องเรื่องหนึ่ง ทำหน้าที่รวบรวมคอนเทนต์ในประเด็นเดียวกันภายใต้แฮชแท็ก เมื่อต้องการหาข้อมูล ก็แค่พิมพ์ # ตามด้วยคำที่ต้องการหา เช่น #รีวิวคาเฟ่ #workfromhome
การใช้แฮชแท็กแพร่หลายมากในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ยิ่งถ้าประเด็นไหนกำลังอยู่ในกระแส ก็มักจะมีแฮชแท็กสำหรับประเด็นนั้น และคนอ่านจะเข้าไปติดตามเรื่องราวจากแฮชแท็กดังกล่าว เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้คอนเทนต์ฮิตตดกระแส ก็อย่าลืมใส่แฮชแท็กด้วยล่ะ
SEO (Search Engine Optimization) คือการทำให้คอนเทนต์ปรากฏในหน้าแรกของเสิร์ชเอนจิน สาเหตุที่คนทำคอนเทนต์หรือแบรนด์ต่างๆ ต้องทำ SEO ก็เพราะว่าเมื่อเราค้นหาอะไรในกูเกิ้ล เรามักจะคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ปรากฏในหน้าแรกก่อน
ทาร์เก็ต (Target) กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้าถึงคอนเทนต์ของเรา ก่อนจะทำคอนเทนต์ เราต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้คอนเทนต์นั้นตอบโจทย์ความต้องการของคนอ่านมากที่สุด
แอดเวอร์ทอเรียล (Advertorial) คือคอนเทนต์โฆษณาที่แบรนด์มาจ้างคนทำคอนเทนต์ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการอะไรจาก Advertorial ชิ้นนั้น เช่น ต้องการแนะนำสินค้าใหม่ ต้องการเพิ่มยอดขาย โดยมักจะเป็นคอนเทนต์ที่แฝงสินค้าหรือบริการอยู่ในนั้น
บางครั้งบทความ Advertorial อาจไม่ใช่การขายสินค้าโดยตรง ความท้าทายอยู่ที่คนทำคอนเทนต์จะต้องคิดไอเดียของบทความให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถตอบโจทย์ของแบรนด์ได้ด้วย
วล็อก (Vlog) มาจากการรวมกันของคำว่า video และ blog เป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบวิดีโอ จบในตอนเดียวหรือมีหลายตอนก็ได้ นิยมเผยแพร่ในยูทูปและโซเชียลมีเดีย
ศัพท์บน Facebook
เอ็นเกจเมนต์ Engagement การมีส่วนร่วมจากคนที่เห็นคอนเทนต์ เช่น กดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ ยิ่งคนอ่านเข้ามามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ก็เรียกได้ว่ายิ่งมี Engagement มากเท่านั้น
รีช (Reach) จำนวนคนที่เห็นคอนเทนต์หรือโฆษณาของเรา ซึ่งมักจะมากกว่า Engagement เนื่องจากคนที่เห็นคอนเทนต์ของเรา ไม่ใช่ทุกคนที่จะกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ แต่เห็นแล้วอาจจะเลื่อนผ่านไปเลย
บูสต์โพสต์ (Boost Post) เรามักจะได้ยินคำนี้เวลาที่เออีหรือฝ่ายการตลาดคุยกับลูกค้า โดยส่วนใหญ่ลูกค้าหรือแบรนด์ที่มาจ้างเราทำคอนเทนต์ มักจะให้บูสต์โพสต์ด้วย นั่นก็คือการโปรโมทคอนเทนต์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ตัวเราเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการบูสต์โพสต์ สังเกตได้จากหลายครั้งที่หน้าฟีดของเรา มีคอนเทนต์จากเฟซบุ๊กเพจที่เราไม่ได้กดไลก์ โดยด้านบนจะมีคำว่า “Sponsored” หรือ “ได้รับการสนับสนุน” นั่นแปลว่าคอนเทนต์นั้นได้รับการบูสต์โพสต์แล้วนั่นเอง
ศัพท์บน Twitter
แอค (Account) เป็นคำเรียกสั้นๆ ของคำว่า แอคเคาท์ โดยในทวิตเตอร์ และ อินสตาแกรม ผู้ใช้ 1 คน สามารถมีได้หลายแอคเคาท์ โดยสลับสับเปลี่ยนแอคเคาน์ระหว่างการเล่นได้โดยไม่ต้องเข้าสู่ระบบใหม่เหมือนกับเฟซบุ๊ก เป็นที่มาของคำว่า แอคหลุม นั่นก็คือ แอคเคาท์ที่ไม่เปิดเผยตัวตน
เทรนด์ (Trend) คำนี้ได้ยินบ่อยในเหล่าชาวทวิตเตอร์ เทรนด์คือการจัดอันดับเรื่องที่ผู้ใช้ทวีตถึงมากที่สุดในแต่ละช่วงเวลา มีทั้งเทรนด์ทั่วโลก และเทรนด์ในประเทศ เรื่องไหนที่ได้รับการกล่าวถึงและติดแฮชแท็กมากที่สุดก็จะขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
รีทวีต (Retweet) เหมือนกับการแชร์โพสต์ โพสต์ที่เรารีทวีตจะปรากฏที่หน้าโปรไฟล์ของเรา และไทม์ไลน์ของคนที่ติดตามเรา
กดเฟบ (Favorite) การกดปุ่มหัวใจในทวิตเตอร์ต่างจากการกดไลก์ในเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมตรงที่ นอกจากจะเป็นการกดถูกใจ ยังเป็นการบันทึกทวีตนั้นๆ เก็บไว้ในโรไฟล์ของเรา โดยที่เราสามารถมาดูส่งที่เรากดเฟบไว้ย้อนหลังได้
เมนชั่น (Mention) คือการกล่าวถึงแอคเคาท์ที่เรากำลังพูดถึงหรือคุยด้วย โดยการพิมพ์ @ ตามด้วยชื่อแอคเคาท์นั้นๆ โดยเจ้าของแอคเคาท์นั้นจะได้รับการแจ้งเตือนว่ามีคนเมนชั่นถึง
ดีเอ็ม (DM) ย่อมาจาก Direct Message ก็คือข้อความส่วนตัวที่ผู้ใช้สามารถส่งถึงกันได้ ทั้งในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม หรือที่หลายคนเรียกว่า “หลังไมค์”
ศัพท์บน Instagram
IG Story ฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ นั่นคือการลงภาพหรือวิดีโอในโปรไฟล์ของเรา โดยคอนเทนต์เหล่านั้นจะปรากฏในหน้าฟีด 24 ชม. จากนั้นจะไปอยู่ในคลังที่เรียกว่า Archive ของผู้ใช้
Archive คือฟังก์ชั่นในอินสตาแกรมที่เราสามารถซ่อนรูปภาพที่เคยแชร์ไปแล้ว มาเก็บไว้ในคลังที่เราเห็นคนเดียวได้ โดยภาพนั้นจะหายไปจากหน้าโปรไฟล์ของเราโดยไม่ต้องลบทิ้ง เจ้าของโปรไฟล์ยังสามารถย้อนกลับไปดูรูปนั้น ใน Archive ได้ และเมื่อ Archive แล้วเปลี่ยนใจ ก็สามารถเลือกให้รูปนั้นกลับไปอยู่บนโปรไฟล์ได้เหมือนเดิม
ศัพท์บน YouTube
Subscribe คือการกดติดตาม
ยอดวิว (View) คือจำนวนการเห็นวิดีโอ ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็มีการนับยอดวิวแตกต่างกันไป
- Facebook จะนับยอดวิวของวิดีโอ เมื่อมีการเล่นไปแล้วอย่างน้อย 3 วินาที
- Twitter จะเริ่มนับยอดวิว เมื่อ วิดีโอนั้นแสดงผลบนหน้าจอมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และเล่นไปมากกว่า 2 วินาที
- Youtube จากเดิมจะนับยอดวิวเมื่อวิดีโอเล่นไปมากกว่า 30 วินาที แต่ในปัจจุบันยูทูปได้ปรับการนับยอดวิวใหม่โดยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด เพื่อป้องกันการปั่นยอดวิว
ศัพท์บน WordPress
Permalink คือลิงก์ของบทความที่เรากำลังอ่าน คนทำคอนเทนต์สามารถกำหนดชื่อลิงก์ได้ใน WordPress โดยมักจะเป็นชื่อเว็บไซต์ ตามด้วยชื่อบทความนั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษ
Categories คือหมวดหมู่ของบทความนั้นๆ ก่อนจะเผยแพร่บทความลงเว็บไซต์ คนเขียนสามารถเลือกหมวดหมู่ให้ตรงกับความที่กำลังเขียนได้ เรื่องหนึ่งสามารถอยู่ได้หลาย Categories เช่น บทความเรื่อง รวมศัพท์บน Social Media อยู่ได้ทั้งประเภทเทคโนโลยี และโซเชียล
นอกจากนี้ Admin เว็บไซต์ ยังสามารถเข้าแก้ไข เพิ่มเติมหมวดหมู่ของบทความได้ตามสไตล์ของเว็บไซต์
Tags ใน WordPress จะมีช่อง Tags สำหรับใส่คำที่เกี่ยวข้องกับบทความ เมื่อคนอ่านค้นหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในอินเทอร์เน็ต โดยพิมพ์คำที่เป็นใจความสำคัญ ก็จะปรากฏเว็บไซต์ที่มีคำเหล่านั้นในการค้นหา ดังนั้น คำที่จะใส่ใน Tags จึงควรเป็นคำที่กำลังเป็นที่สนใจและมีผู้ค้นหาจำนวนมาก เพื่อดึงผู้อ่านมาสู่เว็บไซต์ของเรา