“สวัสดีค่ะพี่แจ็ค เรื่องราวมันเริ่มต้นจาก หนูนอนอยู่ดีๆก็รู้สึกว่าขยับตัวไม่ได้ อึดอัดเหมือนมีคนมานอนทับ รู้สึกเหมือนร่างกายของเราไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แบบนี้มัน โกสปะคะ !?”
หลายๆ คนคงเคยได้ยินมาบ้างกับสิ่งที่เรียกว่า “ผีอำ” และมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยพบเจอกับอาการนอนหลับอยู่ดีๆ แล้วรู้สึกอึดอัดแน่นหน้าอก ลุกไม่ขึ้น ตื่นไม่ได้ จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า ผีกำลังมายึดร่างหรือโดนผีหลอก ! แต่จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นความผิดปกติจากการนอนหลับที่ทางการแพทย์เรียกกันว่า “Sleep Paralysis”
ใครที่เคยพบเจออาการแบบนี้หรือสงสัยว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร ลองมาอ่านบทความนี้กันดูแล้วจะได้รู้ว่าสรุปแล้วมันใช่ โกสปะคะ ~?
อาการทั่วไปของ Sleep Paralysis ร่างกายจะรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับได้ เปล่งเสียงไม่ออก ส่วนใหญ่มักมีอาการกึ่งหลับกึ่งตื่น ซึ่งทางการแพทย์ได้แบ่งประเภทการเกิดออกเป็น 2 ประเภท คือ
เกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับ (Predormital Sleep Paralysis) โดยปกติแล้วคนเราจะต้องใช้เวลาก่อนที่จะนอนหลับสนิท บางครั้งก็คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ หรือพลิกไปมาหาท่านอนที่สบายที่สุด เมื่อร่างกายผ่อนคลาย เข้าสู่ภาวะการนอนหลับและไม่รู้สึกตัวไป แต่ถ้าหากบางครั้งยังรู้สึกตัวอยู่ ก็จะเริ่มเกิดอาการขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ออก ซึ่งลักษณะนี้ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยรู้ตัวสุดท้ายจะลืมไปเองหลังจากนอนหลับ
เกิดขึ้นในช่วงใกล้ตื่น (Postdormital Sleep Paralysis) ในประเภทนี้จะเกิดจากกลไกของร่างกายที่เริ่มเปลี่ยนจากช่วงหลับลึก เข้าสู่ช่วงหลับตื้น และจะกลายเป็นการหลับฝัน ที่เราจะฝันถึงเรื่องราวต่างๆ เมื่อเกิดการรู้สึกตัวในขณะที่ยังฝันอยู่ ก็จะเริ่มเข้าสู่อาการข้างต้น ซึ่ง 75 % ของอาการ Sleep Paralysis จะเกิดในช่วงนี้ และจะอยู่ประมาณ 5 – 10 นาที
ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ รวมไปถึงการเกิดภาพหลอนจนทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่าอาการเหล่านี้มันคือ โกสปะคะ ???
สาเหตุหลักของภาวะผีอำ (Sleep Paralysis)
ภาวะผิดปกติจากการนอนหลับนี้สามารถเกิดได้กับคนทั่วไป ส่วนใหญ่มักมาจาก
- การนอนหลับไม่พอ หรือนอนไม่หลับ
เมื่อร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เหนื่อยล้า ก็จะทำให้เกิดภาวะผีอำขึ้นได้
- ปัญหาสุขภาพ
ทั้งสุขภาพจิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือผู้ป่วยอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) และปัญหาสุขภาพทางการนอนหลับโดยตรง เช่น โรคลมหลับ หรือ ตะคริว
- การใช้ยารักษาโรค
ยารักษาโรคบางตัวก็ส่งผลกับภาวะนี้เช่นกัน เช่น ยาโรคสมาธิสั้น ยานอนหลับ
- การเปลี่ยนแปลงเวลานอนบ่อยๆ
การนอนไม่เป็นเวลา การเปลี่ยนกะงาน หรือแม้แต่ภาวะ jet lag ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาวะผีอำเกิดขึ้นได้
การป้องกัน
- เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับให้ครบ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
- นอนให้เป็นเวลา สร้างวินัยในการนอนหลับทั้งเวลาตื่นและเวลานอน
- หากิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน ลดความเครียดหรือวิตกก่อนนอนช่วยให้การนอนหลับดียิ่งขึ้น
- การจัดห้องให้อากาศถ่ายเทและมีบรรยกาศผ่อนคลายจะช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้นอีกทั้งช่วยลดภาวะการเกิดปัญหาทางการนอนหลับได้ด้วย
ข้อควรรู้
- หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย
ท่านอนก็ส่งผลต่ออาการ Sleep Paralysis ดังนั้นการเปลี่ยนเป็นท่านอนคว่ำ หรือนอนตะแคงเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดอาการผีอำได้
- ปรึกษาแพทย์
หากเริ่มรู้สึกว่าอาการ Sleep Paralysis รุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากจนเกินไปควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์
- Sleep Test
Sleep Test หรือ Sleep Study เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์อาการนอนหลับแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อตรวจหาปัญหาหรือความผิดปกติของการนอนหลับ หากรู้สึกผิดปกติในการนอนหลับสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้
สรุปแล้วอาการเหล่าก็มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่ชัด ไม่ใช่โกสนะ แต่ต้องยอมรับว่า เมื่อเกิดอาการผิดปกติกับร่างกายของเราก็จะทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลขึ้นมา จนทำให้อาจเกิดการกลัวที่จะนอนหลับหรือทำให้นอนไม่หลับได้ ซึ่งก็จะวนลูปทำให้เกิดภาวะผีอำ (Sleep Paralysis) ขึ้นอีก ดังนั้นเราควรจัดการความเครียดและหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพการนอนที่เต็มอิ่มไร้โกสกวนใจ !
ที่มา :