ข่าวฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการเปิดตัว Singha Ventures ซึ่งเป็นกองทุนของบริษัทสิงห์ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพดาวรุ่งจากทั่วโลก โดยตอนนี้ได้เริ่มมีการลงทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาทเลยทีเดียว
ความน่าสนใจของกองทุนนี้มีหลายมุมที่น่าสนใจทีเดียว รวมถึงเหตุผลในการเข้ามาลงทุนครั้งนี้ของสิงห์คืออะไร และสตาร์ทอัพที่สนใจ จะได้อะไรจากกองทุนนี้นอกจากเงินทุนบ้าง มาลองดูกัน
รู้จักกับ Singha Ventures
- บริษัทสิงห์มองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนวัตกรรมและไอเดียธุรกิจเด็ดๆให้มีโอกาส “แจ้งเกิด” ในวงการ
- เน้นการลงทุนไปโดยผ่านการคุยกับบริษัทต่างๆ โดยตรง 50% และอีก 50% จะเป็นการลงทุนผ่านกองทุน (Fund of Funds)
- ภูมิภาคในการลงทุน จะเน้นสตาร์ทอัพในอาเซียนเป็นหลักคือ 80% และสตาร์ทอัพระดับ Global อีก 20%
- ลงทุนกับสตาร์ทอัพในซีรี่ส์ A เป็นหลัก
- โดย 3กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ Singha Ventures สนใจเข้าไปร่วมลงทุนมีดังนี้
- 1.สินค้าอุปโภคบริโภค(Consumer products) ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องปรุงรส รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
- 2.เทคโนโลยีในการจัดการห่วงโซ่การผลิต(Supply chain) ด้านการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า
- 3.ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร(Enterprise solutions)
- นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างความสนใจในการลงทุนธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property technology) และ Internet of Things(IoT) เป็นต้น
ในส่วนของจุดแข็งที่ทางสิงห์มองว่า Singa Ventures จะสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจของสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ มีอยู่ 3 ส่วน คือ
- Collaboration : โดยสตาร์ทอัพสามารถที่จะใช้ Resource ต่างๆ ที่สิงห์มีไม่ว่าจะเป็นอาคารคอมเพล็กซ์ พื้นที่ของการตั้งบริษัท รวมไปถึงทีมงาน การวิจัย และการพัฒนาร่วมกัน
- Network : บริษัทสิงห์ดำเนินธุรกิจมานานและมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอยู่จำนวนมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีเครือข่ายร้านค้าต่างๆ อีกกว่า 400,000 ร้านทั่วประเทศ
- Investment : สิงห์จะให้การสนับสนุนเงินลงทุน สำหรับต่อยอดทางธุรกิจ ช่วยให้ขยายกิจการได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา Singha Ventures ได้เริ่มมีการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพต่างๆ มาแล้วมากกว่า 25 ล้านเหรียญหรือกว่า 800 ล้านบาทในกองทุน 2 กองทุน(Fund of Funds ได้แก่ Kejora Ventures แพลตฟอร์มนระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย มีการลงทุนในธุรกิจแล้วกว่า 29 ธุรกิจ และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์ มีเครือข่ายของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการ Technology และ Venture Capital อย่างกว้างขวางทั่วโลก
สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพ สิงห์มองว่าการลงทุนนั้นจะเริ่มที่เข้าไปถือหุ้นในสตาร์ทอัพอย่างน้อย 25% แต่จะไม่ถือ 100% เนื่องจากไม่ต้องการทำกิจการสตาร์ทอัพด้วยตัวเอง แต่อยากต่อยอดทางธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นไป
น่าสนใจว่าการเปิดตัวกองทุน Singha Ventures ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขยับตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยแล้ว ยังเป็นข่าวดีให้กับสตาร์ทอัพในไทยที่จะได้มีพาร์ทเนอร์และหุ้นส่วน ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจออกไปได้อีกมากเลยทีเดียว