ข่าวฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการเปิดตัว Singha Ventures ซึ่งเป็นกองทุนของบริษัทสิงห์ที่จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพดาวรุ่งจากทั่วโลก โดยตอนนี้ได้เริ่มมีการลงทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาทเลยทีเดียว ความน่าสนใจของกองทุนนี้มีหลายมุมที่น่าสนใจทีเดียว รวมถึงเหตุผลในการเข้ามาลงทุนครั้งนี้ของสิงห์คืออะไร และสตาร์ทอัพที่สนใจ จะได้อะไรจากกองทุนนี้นอกจากเงินทุนบ้าง มาลองดูกัน รู้จักกับ Singha Ventures บริษัทสิงห์มองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนวัตกรรมและไอเดียธุรกิจเด็ดๆให้มีโอกาส “แจ้งเกิด” ในวงการ เน้นการลงทุนไปโดยผ่านการคุยกับบริษัทต่างๆ โดยตรง 50% และอีก 50% จะเป็นการลงทุนผ่านกองทุน (Fund of Funds) ภูมิภาคในการลงทุน จะเน้นสตาร์ทอัพในอาเซียนเป็นหลักคือ 80% และสตาร์ทอัพระดับ Global อีก 20% ลงทุนกับสตาร์ทอัพในซีรี่ส์ A เป็นหลัก โดย 3กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ Singha Ventures สนใจเข้าไปร่วมลงทุนมีดังนี้ 1.สินค้าอุปโภคบริโภค(Consumer products) ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องปรุงรส รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ 2.เทคโนโลยีในการจัดการห่วงโซ่การผลิต(Supply chain) ด้านการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า 3.ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร(Enterprise solutions) นอกจากนี้ ยังเปิดกว้างความสนใจในการลงทุนธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property technology) และ Internet of Things(IoT) เป็นต้น ในส่วนของจุดแข็งที่ทางสิงห์มองว่า Singa Ventures จะสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจของสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ มีอยู่ 3 ส่วน คือ Collaboration : โดยสตาร์ทอัพสามารถที่จะใช้ Resource ต่างๆ ที่สิงห์มีไม่ว่าจะเป็นอาคารคอมเพล็กซ์ พื้นที่ของการตั้งบริษัท รวมไปถึงทีมงาน การวิจัย และการพัฒนาร่วมกัน Network : บริษัทสิงห์ดำเนินธุรกิจมานานและมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอยู่จำนวนมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงมีเครือข่ายร้านค้าต่างๆ อีกกว่า 400,000 ร้านทั่วประเทศ Investment : สิงห์จะให้การสนับสนุนเงินลงทุน สำหรับต่อยอดทางธุรกิจ ช่วยให้ขยายกิจการได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา Singha Ventures ได้เริ่มมีการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพต่างๆ มาแล้วมากกว่า 25 ล้านเหรียญหรือกว่า 800 ล้านบาทในกองทุน 2 กองทุน(Fund of Funds ได้แก่ Kejora Ventures แพลตฟอร์มนระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย มีการลงทุนในธุรกิจแล้วกว่า 29 ธุรกิจ และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์ มีเครือข่ายของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการ Technology และ Venture Capital อย่างกว้างขวางทั่วโลก สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพ สิงห์มองว่าการลงทุนนั้นจะเริ่มที่เข้าไปถือหุ้นในสตาร์ทอัพอย่างน้อย 25% แต่จะไม่ถือ 100% เนื่องจากไม่ต้องการทำกิจการสตาร์ทอัพด้วยตัวเอง แต่อยากต่อยอดทางธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นไป น่าสนใจว่าการเปิดตัวกองทุน Singha Ventures ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการขยับตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยแล้ว ยังเป็นข่าวดีให้กับสตาร์ทอัพในไทยที่จะได้มีพาร์ทเนอร์และหุ้นส่วน ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจออกไปได้อีกมากเลยทีเดียว