การให้อภัยคนอื่นเป็นเรื่องง่าย แต่ทำไมการให้อภัยตัวเองถึงทำได้ยากจัง ? บ่อยครั้งที่การให้อภัยมักถูกจัดอยู่ในประเภทของ ‘เรื่องยาก ๆ ในชีวิต’ ที่เราทุกคนต้องก้าวผ่านไปให้ได้ แต่ข้อดีของการให้ ‘อภัยตนเอง’ นั้นถือเป็นหนึ่งในวิธีก้าวผ่านความเจ็บปวด หรือการข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อทุกคนที่กำลังเจ็บปวดและล้มเหลว…
ยิ่งมั่นใจยิ่งไม่ให้อภัยในตัวเอง Self-Compassion VS Self-Esteem
Self-Esteem หรือ ความภูมิใจในตัวเอง หลาย ๆ คนมักคุ้นหูกับคำนี้ดี ตามหลักจิตวิทยาแล้วคนที่มี Self-Esteem สูง มักจะเป็นคนที่มั่นใจตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่กลายมี Self-Esteem สูงมากเกินไปกลับผลเสียด้วย
เพราะคนที่มี Self-Esteem สูงเกินไป มักจะสร้างบรรทัดฐานของตัวเองให้สูงยิ่งขึ้น หรือสร้างแรงกดดันต่อตนเองอย่างไม่รู้จบ เพื่อให้สิ่งที่ตัวเองทำออกมาดีที่สุด เราเลยเห็นว่าคนแบบนี้ จะเป็นคนที่ทำงานหนัก ตั้งใจทำงาน (มากเกินไป) จนไม่ยอมให้ความผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะต้องการยอมรับจากสังคมหรือสร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ
Dr.Kristin Neff ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาจิตวิทยาการศึกษา มองว่าคนที่มี Self-Esteem สูงเกินไป เป็นคนที่ให้อภัยตัวเองได้ยาก เพราะความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปหรือความคาดหวังจากสังคมที่สูง ทำให้คนแบบนี้กลัวที่จะผิดพลาด
และเมื่อต้องพบกับความผิดหวังหรือเมื่อทำพลาด มักจะให้อภัยตัวได้ยาก และมักคิดว่า ‘ตัวเองไม่เก่ง’ หรือ ‘เป็นคนไม่ได้เรื่อง’ หลังจากเจอกับความล้มเหลว และสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การให้อภัยตัวเกิดขึ้นได้ยากยิ่งขึ้น
ทำความรู้จักความหมายของ Self-Compassion
Self-Compassion ทำไมมันถึงสำคัญกับเราขนาดนี้กันนะ ? และการมี Self-Compassion ที่สูงขี้นจะช่วยให้เราสามารถให้อภัยตนเองได้อย่างไร ?
นิยามของคำว่า Self-Compassion คือ ‘ความกรุณาต่อตนเอง’ ซึ่งเป็นการนำแนวคิดทางพุทธศาสนาในเรื่องความกรุณา มาปรับเข้ากับหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยตัดเรื่องแนวคิดทางศาสนาออกไป
โดย Dr.Kristin Neff ใด้ให้ความหมายของคำว่า Self-Compassion ไว้ว่า เป็นความสามารถในการรับมือกับความทุกข์ และสภาพแวดล้อมภายนอกที่เราไม่สามารถรับมือได้
เพราะฉะนั้นแล้วในชีวิตของเรา การพบกับปัญหาหรือความผิดหวัง ความล้มเหลวในชีวิต หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามที่คิด ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต การที่เรามี Self-Compassion สูงจึงช่วยให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์แห่งความช้ำได้ดีขึ้น
จะรักตัวเองได้ยังไงในวันที่เราไม่สามารถรักตัวเองได้
ความเจ็บปวดมันฟังดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่จริง!! ความเจ็บปวดมันแค่ความรู้สึกหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับความสุข เพราะฉะนั้นแล้วการที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ ความเสียใจ หรือความผิดหวัง คนที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านเรื่องร้าย ๆ ได้ดีที่สุดก็คือ ‘ตัวเราเอง’ เพราะฉะนั้นแล้วการมี Self-Compassion จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ซึ่ง Dr.Kristin Neff ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของ Self-Compassion ที่ช่วยให้เราก้าวข้ามความยากลำบากไว้ด้วยกันถึง 3 ข้อ ได้แก่ Self-Kindness, Common Humanity, Mindfulness โดย Neff ถือว่าคุณลักษณะทั้ง 3 ประการนี้สำคัญต่อการให้อภัยตนเอง
Self-Kindness (ความการุณย์ต่อตนเอง)
Self-Kindness (ความการุณย์ต่อตนเอง) คือ การไม่ตีค่าหรือการไม่ตัดสินตนเอง (Self-Judement) ไม่โทษตนเองเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น โดยไม่ต่อว่าตนเองผ่านคำพูด เช่น ทำไมเราถึงแย่แบบนี้, ทำไมเราถึงทำพลาด, ทำไมเราถึงทำให้คนอื่นเสียใจ
และไม่ถือเอาคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นมาทำร้ายตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ หลบหนีหรือปฏิเสธสิ่งที่ทำผิดพลาดไป พร้อมกับปฏิบัติกับตัวเองอย่างอ่อนโยน ให้กำลังใจตัวเองในเวลาที่ทำผิดพลาด เหมือนกับการปลอบเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังเสียใจอยู่ หรือนึกถึงตอนเวลาเพื่อนเสียใจ เราพูดกับเพื่อนอย่างไรก็ให้เราพูดอย่างนั้นกับตัวเอง
Common Humanity (ความเป็นปุถุชน)
Common Humanity (ความเป็นปุถุชน) คือการยอมรับได้ว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นโดยมีหลายเหตุปัจจัยไม่ใช่เกิดขึ้นจากตัวเราเองทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วเมื่อมนุษย์กำลังผิดหวัง พวกเขามักคิดว่า ‘ตัวเองโชคร้าย’ หรือ ‘ทำไมต้องเป็นเรา’ เพราะฉะนั้นแล้วการมี Common Humanity (ความเป็นปุถุชน) จึงเป็นเรื่องสำคัญ
โดยให้มองว่าความผิดพลาดนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความผิดพลาดเหมือนกับส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ‘ไม่มีใครทำผิดทุกครั้ง หรือถูกต้องอยู่เสมอ’ ความล้มเหลวและความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นแล้ว การยอมรับความผิดหลาดจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการให้อภัยตนเอง
Mindfulness (การครองสติ)
Mindfulness (การครองสติ) การรับรู้อารมณ์ของตัวเอง สามารถตระหนักรู้ได้ว่า ณ ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร นอกจากนั้นแล้วการมีทักษะ Mindfulness ที่ดีจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ด้านลบได้ดีขึ้น
เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องเผชิญกับอารมณ์ต่าง ๆ แต่การรับรู้อารมณ์ของตนเองได้ ก็ทำให้มองเราไม่จมอยู่กับอดีตหรือวังวนของอารมณ์
อ้างอิง : ความกรุณาต่อตนเอง: ทางเลือกใหม่เพื่อสร้างสมดุลความภาคภูมิใจในตนเอง, Dr.Kristin Neff, what is Self-Compassion