กรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดจะมีการวางผังเมืองเพื่อจัดสรรพื้นที่ในการก่อสร้างสิ่งต่างๆ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และง่ายต่อการควบคุมดู โดยมีการแบ่งผังเมืองออกมาเป็นสีต่างๆ เพื่อกำหนดว่าพื้นที่ไหน ที่ดินใช้ทำอะไรได้บ้าง แน่นอนว่า ‘สมุทรปราการ’ ก็ผังเมืองที่ควบคุมสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ มาดูกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง สมุทรปราการ มีผังเมืองล่าสุดที่กำหนดใช้เมื่อปี 2556 – 2557 แบ่งออกเป็น 12 สีด้วยกันเพื่อบังคับใช้ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างดังนี้ สีเหลือง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่น สีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง สีน้ำตาล ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก สีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก สีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า สีม่วงมะปราง ที่ดินประเภทคลังสินค้า สีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม และคลังสินค้า สีเขียว ที่ดินประเภทชนบท และการเกษตร สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม สีเขียวอ่อน ที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สีน้ำเงิน ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ความน่าสนใจคือสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ค่อนข้างเยอะ และบางจุดอาจจะอยู่ไม่ตรงกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามผังเมืองที่กำหนด หนึ่งในนั้นคือ โรงงานของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 ที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีระเบิดจนบ้านเรือนในรัศมี 5 กิโลฯ ได้รับความเสียหาย ยังไม่นับสารเคมีที่กระจายไปตามลม ถ้าดูจากฝังเมืองสมุทรปราการ จะเห็นว่าพื้นที่บริเวณที่โรงงานตั้งอยู่ เป็นพื้นที่เขตสีแดงหมายถึง ‘ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก’ ซึ่งก็เต็มไปด้วยหมู่บ้านที่สร้างมานาน และเพิ่งสร้างไม่นาน โดยมีหมู่บ้านหนึ่ง รั้วด้านหลังโครงการติดกับโรงงานที่เกิดเหตุเลย และคาดว่าจะได้รับความเสียหายจากการระเบิดครั้งนี้ นอกจากนี้โดยรอบก็เป็นย่านชุมชน และมีหมู่บ้านอยู่อีกมากมาย ซึ่งหากดูจาก Google map และเทียบกับผังเมือง ก็จะเห็นว่าโรงงาน อยู่ท่ามกลางชุมชนจริงๆ แล้วโรงงานมาตั้งอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร? บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เปิดโรงงานมาตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2532 ประเภทของธุรกิจคือ การผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น ทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท สถานที่ตั้งของโรงงานแต่เดิมเป็นที่นา (สมกับชื่อบางนา) แต่ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเรื่องผังเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ผังเมือง เพิ่งจะจริงจังเมื่อราวๆ ปี 2535 แต่เป็นการพัฒนาผังเมืองที่ค่อนข้างไร้ทิศทาง สังเกตได้จากความยุ่งเหยิงของเมืองที่เต็มไปด้วยซอย และการวางผังที่วุ่นวายมากกว่าอำนายความสะดวกทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากย้อนกลับไปดูพื้นที่ในอดีต โดยใช้ Google Earth เราจะได้ไกลสุดคือปี 1985 และกระโดดข้ามมาเริ่มต้นที่ปี 2545 เราจะเห็นว่าพื้นที่รอบๆ ของโรงงาน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด นั้นยังแทบไม่มีบ้านคน เป็นที่นา หรือพื้นที่ทางการเกษตรเสียส่วนใหญ่ จนกระทั่ง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป จึงเริ่มมีหมู่บ้านใหม่ๆ เกิดขึ้น จนถูกปรับให้กลายเป็นผังเมืองสีแดง ที่มีโรงงานตั้งอยู่ด้วย นั่นจึงเป็นคำตอบว่าโรงงานมาตั้งอยู่ย่านชุมชนได้อย่างไร จริงๆ แล้วโรงงานตั้งมาก่อนชุมชน สาเหตุที่โรงงานสามารถตั้งได้ตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในเวลานั้นเรื่องผังเมืองยังไม่ได้ถูกยกมาเป็นมาตรฐานในการควบคุมดูแลการใช้พื้นที่ การสร้างโรงงานก่อนจะมีชุมชน มีหมู่บ้านหลายสิบปี จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ แต่คำถามคือหลังจากนั้นทำไมถึงมีการอนุญาตให้สร้างบ้าน หรือมีชุมชนอยู่ใกล้กับโรงงานที่มีสารเคมีอันตราย ที่พร้อมจะทำอันตรายเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างที่เราทราบกัน บางโครงการรั้วติดกับโรงงานเลยด้วยซ้ำ ทำไมถึงอนุญาตให้มีการก่อสร้างได้? แล้วทุกวันนี้ มีอีกกี่โรงงานในพื้นที่สมุทรปราการ หรือกระทั่งในประเทศ ที่อยู่ใกล้กับชุมชน โดยที่โรงงานตั้งมาก่อนชุมชน จนเมื่อมีการกำหนดผังเมืองออกมาแล้ว โรงงานที่อยู่ใกล้ชุมชนที่อยู่มานาน หน่วยงานในพื้นที่จะทำอย่างไรหากมีโรงานตั้งอยู่นอกผังเมืองสีม่วง จะใช้วิธีไหนเพื่อให้โรงงานย้ายออกจากชุมชน แม้ว่าโรงงานจะมาก่อน แต่ถ้าว่ากันตามผังเมือง โรงงานไม่ควรอยู่ตรงนี้ หรือมีอะไรรับมือไหม? ถ้าโรงงานนั้นตั้งมาก่อนชุมชน นั่นเป็นสิ่งที่ต้องรอดูท่าทีที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้