เรียกว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองในแวดวงศิลปินเลยทีเดียวกับโครงการ “นำศิลปินไทยสู่สากล” โดยสิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายใต้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้วโครงการนี้ได้ส่งคุณ “บรรเจิด เหล็กคง” พร้อมกับผลงานประติมากรรมเหล็กคง (Fine Art Metal) ไปแสดงโชว์ผลงานที่ Agora Gallery แกเลอรี่ระดับแนวหน้าของนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้กระแสตอบรับที่ดี เป็นหน้าเป็นตาประเทศไทยเลยทีเดียว ผมเองก็ได้อยู่ด้วยในวันนั้น คุณบรรเจิดเท่มากๆ และในปีนี้เองทางสิงห์ปาร์ค เชียงราย เค้าก็เฟ้นหาและส่งสุดยอดศิลปินไทยไปแสดงที่นิวยอร์กเช่นเคย โดยในครั้งนี้เราจะพาทุกท่านมารู้จักกับสุดยอดศิลปินไทย คุณ สัจจา สัจจากุล กันครับ สัจจา สัจจากุล กับผลงาน Sensorial Reality สัจจา สัจจากุล ศิลปินผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการเขียนภาพหลากหลายเทคนิค ศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนววิพากษ์สังคม (Social Critic) มากว่า 30 ปี โดยผลงานที่ถูกนำไปจัดแสดงที่ Agora Gallery ใช้ชื่อชุดว่า “Sensorial Reality” จำนวน 12 ชิ้น คุณสัจจา สัจจากุล เกิดและเติบโตที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ชอบวาดเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเริ่มจากการวาดตามปกหนังสือ “มิตรครู” ซึ่งเป็นลายเส้นพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ รวมทั้งภาพทศกัณฑ์ หนุมาน เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกฝนควบคุมมือในเบื้องต้น เมื่อโตขึ้นก็ได้หัดวาดภาพเหมือนบุคคล ดารา ฝึกฝนเรื่องสมาธิจนสามารถนั่งวาดรูปได้ตลอดทั้งวัน จนฝีมือเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นเด็กที่วาดรูปเก่ง เมื่อเลื่อนระดับการศึกษาในชั้นมัธยม ก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือชื่อ “ไฟศิลป์” ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวประวัติของ วินเซ็นต์ แวนโก๊ะ แล้วชอบ จึงสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ วังหน้า แล้วตั้งใจเรียน เขียนผลงานด้วยความตั้งอกตั้งใจ จากนั้นก็สอบเอ็นทรานซ์เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตามที่คาดหวัง และได้ร่ำเรียนกับอาจารย์ที่เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ระหว่างนั้นมีเรื่องร้ายแรงเกิดกับสมาชิกในครอบครัวของคุณสัจจาหลายเหตุการณ์ ทำให้เขาตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิต ครุ่นคิด เคร่งเครียดกับชีวิตมากขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันให้สนใจศึกษางานศิลปะแนววิพากษ์สังคม ทั้งงานจิตรกรรมและงานวรรณกรรม จนกระทั่งเรียนจบ คุณสัจจาก็ได้เข้าทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ในตำแหน่ง Visualizer ออกแบบโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ เขียน Storyboard ถ่ายโฆษณา ทำงานอยู่หลายที่ ทำให้หยุดเขียนภาพงานศิลปะไปราวๆ 10 ปี แต่ก็ได้ฝึกฝนฝีมือในงานเชิงพาณิชย์ เมื่อมีประสบการณ์มากพอก็ออกมาตั้งบริษัทโปรดักชั่นเล็กๆ ของตัวเองร่วมกับภรรยา จนมีเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 งานที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซา ทำให้มีเวลาได้นั่งคิดทบทวนว่าน่าจะใช้โอกาสนี้เริ่มทำให้สิ่งที่ตัวเองหวังไว้ คุณสัจจาเริ่มเปิดรับสอนศิลปะที่บ้าน ไปพร้อมๆ กับเริ่มทดลองเขียนรูปในแนวที่ชอบคือแนววิพากษ์สังคม และแนว Symbolism เรื่องความสัมพันธ์ของชีวิตคน สัตว์ กับธรรมชาติ หลังจากเขียนงานได้ 5 – 6 ปี ก็เริ่มยื่น Portfolio ไปขอร่วมแสดงในแกลเลอรี่เอกชนหลายที่ แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “งานของคุณนั้นดูหนักไป ดูเครียด” ก็ได้น้อมรับคำติติงต่างๆ แล้วพยายามพัฒนางานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพยายามยึดมั่นในแนวทางที่ตัวเองเชื่ออยู่เสมอ ในช่วงปี พ.ศ. 2557 คุณสัจจาเริ่มทำผลงานชุดใหม่ที่ชื่อว่า “Pictorial Mind” เป็นงานแนววิพากษ์สังคม แสดงถึงเรื่องราวของจิตใจมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานวรรณกรรม และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยมองทะลุเหตุการณ์เข้าไปจับที่แก่นสาระสำคัญ แล้วผูกเรื่อง คิดวางโครงสร้างขึ้นมาใหม่ วิธีนี้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทุกกระบวนการ ผลงานชุดนี้จึงสามารถเข้าถึงหัวใจมนุษย์ทุกๆ คนได้โดยตรง คุณสัจจาได้กล่าวเอาไว้ว่า สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ ผมได้ทดลองสร้างรูปแบบงานศิลปะที่เป็นแนวทางของตัวเองคือ ศิลปะแนววิพากษ์สังคม (Social Critic) โดยเริ่มจากเขียนภาพ Our Standing และ Your History เป็นการให้ภาพของสังคมโลกโดยรวม สภาพที่มนุษย์และสังคมเป็นอยู่ จากนั้นก็พัฒนางานมาเรื่อยๆ จึงเริ่มเขียนงานชุดใหม่ คือ Toxic ซึ่งพูดถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่แปดเปื้อนด้วยพิษภัยต่างๆ จากเทคโนโลยีและความล้ำสมัย ต่อด้วย Combative ที่กล่าวถึงท่าทีของสังคมไทยที่ก้าวออกไปแข่งขัน เผชิญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกรากด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ตามด้วย The Bravery และภาพ self Portrait ชื่อ Hallucination แสดงอารมณ์สะท้าน หวาดหวั่น ต่อความเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่เราไม่อาจคาดเดา และไม่อาจควบคุมได้ เรียกว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้ภาคภูมิใจกับสุดยอดศิลปินไทยที่จะได้นำผลงานไปจัดแสดงในเวทีระดับโลก โดยทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สิงห์ปาร์ค เชียงราย องค์กร “Social Enterprise” ที่ก่อตั้งเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคม (รายได้ทั้งหมดกลับคืนสู่สังคม ไม่มีการปันผลกำไร) ติดตามข่าวสารของโครงการต่างๆ จากสิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้ที่ http://www.singhapark.com/