ประเทศไทยไม่ค่อยมีรายการที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจสักเท่าไหร่กระทั่งรายการ SMEs ตีแตก เข้ามาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับรายการเกมโชว์ในเมืองไทยว่าเรื่องธุรกิจก็สนุกได้ ทำให้คนเริ่มสนใจเรื่องธุรกิจมากขึ้น
ล่าสุดมาถึงยุคที่สตาร์ทอัพ เป็นเทรนด์ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ธนาคารกสิกรไทย และเวิร์คพอยท์ จึงร่วมกันสร้างรายการที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ออกมาในรูปแบบเกมโชว์ออกมาเพื่อให้ความรู้ คู่ความสนุกเกี่ยวกับแวดวงของธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองไทย ในซีซั่นแรกนั้นทางรายการเลือกที่จะเอาสตาร์ทอัพ สาย Tech Start Up ซึ่งเป็นผู้ผลิต 12 แอปพลิเคชั่น มานำเสนอผลงานของตัวเอง และใครที่จะเป็นผู้ชนะ
สัปดาห์แรกแอพ QueQ คือผู้เข้าแข่งขันกลุ่มแรกที่เข้ามาประเดิมซึ่งตอนแรกจะมีอะไรที่น่าสนใจ ผู้ชมจะได้ความรู้ในการทำสตาร์ทอัพ บ้าง เราได้สรุปสาระสำคัญในมาตอนแรกให้ฟังอย่างละเอียด
‘The Unicorn : สตาร์ทอัพพันล้าน’ คืออะไร
รายการนี้เป็นรายการใหม่เพิ่งมา EP แรก อีกทั้งยังเป็นรายการเชิงธุรกิจจึงต้องมีการอธิบายที่มาที่ไป กติกา และเหตุผลของรายการ เพื่อความเข้าใจในการรับชม
- เทปแรกได้มีการอธิบายที่มาของรายการว่าโลกอยู่ในยุคที่ทุกโอกาส และการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ปลายนิ้วและโทรศัพท์ ซึ่งหลายสินค้า และบริการเกิดมาเพื่อตอบโจทย์ในยุคที่สมาร์ทโฟนแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างโดยเฉพาะแอปพลิเคชั่น
- ธนาคารกสิกรไทย และเวิร์คพอทย์สร้างรายการนี้ร่วมกันหลัง ‘SMEs ตีแตก’ ประสบความสำเร็จ และต่อยอดออกมาเป็นรายการที่ช่วยผลักดันวงการสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้เติบโต และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น
- สาเหตุที่ต้องใช้ชื่อรายการนี้ก็เพราะคำว่ายูนิคอร์น หมายถึงสตาร์ทอัพ ที่มีรายได้เกินพันล้านบาทขึ้นไป
- กติกาของรายการมีอยู่ว่าจะมีแอปพลิเคชั่นที่เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ 12 แอพ มาแข่งกันสัปดาห์ละแอป ใครได้คะแนนเยอะสุดชนะ
- หน้าที่ของผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเจ้าของแอปต่างๆ จะต้องมาพรีเซนแอปของตัวเองใน 3 นาที เพื่อให้กรรมการยอมโหลดไปใช้
- ซึ่งผู้ให้คะแนนและคอมเมนท์คือกรรมการสามท่านได้แก่ ‘คุณพัชร สมะลาภา’ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย, ‘ไผท ผดุงถิ่น’ ผู้ก่อตั้ง builk.com และ ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ ผู้ก่อตั้ง Wongnai ทั้งสามคนมีคนละ 20 คะแนน
- ส่วนกรรมการที่เป็นผู้ชมทางบ้านจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 คนเพื่อเป็นตัวแทนของคนกลุ่ม 15 – 35 ปี และ 36 ปีขึ้นไป มีคนล่ะ 1 คะแนน ถ้าโหลดแอพมาใช้
QueQ ประเดิมขึ้นสังเวียน Startup รายแรก
หลังจากแนะนำรายการก็ได้มีการเปิดตัวผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งสตาร์ทอัพ รายแรกที่ประเดิมขึ้นเขียงก่อนใครเลยคือแอปจองคิวที่ชื่อว่า QueQ
- แอป QueQ เป็นแอพที่ให้บริการด้านการจองคิวออนไลน์โดยไม่ต้องไปยืนหน้าร้าน และมีบริการเสริมคือการขายดีลพิเศษประเดิมเป็นรายแรก
- ตัวแทนจากแอปคือ ‘โจ้ – รังสรรค์ พรหมประสิทธิ์’ และ ‘หยา – วริศา ศรีเจริญ’ มาเป็นผู้พรีเซนท์แอปให้โดนใจกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มและกรรมการ
- ทั้งสองใช้เวลาตามกติกาสามนาทีในการเล่าถึงที่มาของแอพนี้ โดยเริ่มจากเมื่อสามปีก่อน เขาสงสัยว่าทำไมบริการต่างๆ ที่ควรจะมีคิวถึงไม่เปิดให้จองคิวแบบออนไลน์ และไม่ต้องไปรอที่หน้าร้านก็มีการแจ้งเตือน เมื่อเห็นช่องว่างนี้เลยคิดจะทำแอป QueQ
- เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าเรื่องระบบการทำงานของแอปว่าช่วยในการจองคิวร้านค้าในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรรอบตัว จองล่วงหน้าได้ในหนึ่งวัน แล้วเลือกจองคิวได้ง่ายๆ พอใกล้คิวจะมีการส่งข้อความมาเตือนเพื่อให้เราเตรียมตัวได้ทัน
กรรมการยิงคำถามรอบแรกรัวๆ
ตามกติกากรรมการต้องระดมกันยิงคำถามผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งนี่เป็นจังหวะชิงไหวชิงพริบและเรียกคะแนนจากกรรมการได้อย่างดี เนื่องจากเจ้าของธุรกิจจะต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจถึงธุรกิจตัวเองให้ได้ และมีโอกาสได้โต้เถียง แลกเปลี่ยนความเห็นกับกรรมการ
- คุณไผท แสดงความเห็นว่าแอพนี้เฉพาะกลุ่มเกินไป คนที่ซีเรียสกับการเข้าคิวไม่เข้าคิวมีอัตราส่วนที่ต่างกันมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่อยากเข้าคิวมีเยอะแอพนี้จึงอาจไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง คนที่ไม่อยากรอคิวก็สั่งอาหารมากินที่บ้านก็ได้
- โจ้ ยอมรับว่าแอปนี้ทำขึ้นมาเสิร์ฟเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว ไม่ได้โฟกัสคนทั้งหมด เพราะแอปนี้ไม่สามารถเสิร์ฟให้ตรงกลุ่มได้ทุกคน หากใครที่ชอบกินร้านที่ได้รับความนิยม เขาก็จะโหลดแอปนี้ไปเอง
- แอปเวอร์ชั่นแรกที่ออกแบบมาเท่มากในสไตล์แอปเปิ้ล แต่จากข้อมูลมาพบว่าผู้หญิงใช้มากกว่าผู้ชายสองเท่า และวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเลยเปลี่ยนดีไซด์แอปให้ออกมาน่ารักเหมาะกับผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ชมทางบ้านยิงคำถามเรื่อง Business Model ของแอปว่าคืออะไร โจ้ อธิบายว่ารายได้ของแอปมาจากสองช่องทางคือหนึ่ง ได้ค่าเช่าเครื่องแจ้งคิวทางร้านต้องจ่ายเดือนล่ะ 6,000 บาท และสองได้ส่วนแบ่ง 10% จากการขายดีลพิเศษผ่านแอป
- ผู้ชมทางบ้านอีกคนถามว่าร้านเล็กๆ เช่นส้มตำร้านดังจะใช้ได้ไหม โจ้ บอกว่ามีแผนที่จะขยายไปยังร้านสตรีทฟู้ด
- ยอด ถามเพิ่มเติมว่านอกจากร้านอาหารแล้วแอปนี้ควรจะเซอร์วิส บริการด้านไหนอีก โจ้ บอกว่าอยากจะขยายไปให้บริการที่โรงพยาบาล เพราะการรอคิวในโรงพยาบาลนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาเวลาได้ยาก และเขายังแสดงความมั่นใจว่าระบบคิวยังคงจำเป็น
ผู้ชมทดลองโหลดแอปมาลองใช้เพื่อให้คะแนน
ช่วงไฮไลท์ของรายการคือการให้ผู้ชมทดลองโหลดแอปมาใช้เพื่อเตรียมตัดสินให้คะแนน
- ช่วงที่สองได้มีการให้ผู้ชมที่เป็นกรรมการลองโหลดมาใช้ ปรากฎว่ามี 35 คนที่เลือกโหลดมาใช้โดยให้เหตุที่เลือกต่างกันโดยกลุ่มวัยรุ่นโหลดมาใช้ 15 คน ส่วนกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปโหลดมาใช้ 20 คน
- มีคำแนะนำว่ากลุ่มคนที่อายุ 35 ขึ้นไปยินดีที่จะโหลดมาลอง แต่ถ้าแอปไม่ตอบโจทย์อาจจะเสียผู้ใช้
- ส่วนคณะกรรมการเริ่มที่คุณไผท เลือกที่โหลดเพราะคิดว่าอนาคตแอปนี้น่าจะพัฒนาให้สามารถจองคิวอย่างอื่นได้
- ส่วนคุณยอด บอกว่าจะเลือกโหลดเฉพาะตอนที่จำเป็นต้องใช้ ขณะที่คุณพัชร บอกว่าไม่โหลดเพราะร้านที่เขาต้องการจะกินไม่มีคิวยาวขนาดที่ต้องใช้แอปนี้ช่วย
- หลังจากทดลองใช้ปรากฎว่ามีคนเลือกที่จะลบออก 5 คนทำให้เหลือคนที่โหลดมาใช้ 30 คน คิดเป็นคะแนนทั้งสิ้น 30 คะแนนแม้จะใช้งานง่าย แต่คนที่ลบออกเพราะไม่ตอบโจทย์
- สาเหตุที่ลบทิ้งผู้ชมทางบ้านบอกว่าหน้าตาของแอปในช่วงแรกดูสับสนร้านกระจายพื้นที่กันมากเกินไป คุณยอด เลยเสริมว่าควรจะมีฟังก์ชั่นที่รวมร้านค้าแบ่งเฉพาะสถานที่นั้นๆ เลยจะดีกว่า แล้วหากอยากจะจองร้านสถานที่ไหนค่อยเลือกที่สถานที่นั้นก่อนจะทำให้การจองไม่สับสน
กรรมการลงคะแนนให้ QueQ ได้มีโอกาสไปลุ้นต่อ
ช่วงสุดท้ายของรายการเป็นช่วยตัดสิน กรรมการได้ซักถามทั้งโจ้ และหยา อีกครั้งเพื่อที่จะมาสรุปและเคลียร์ในประเด็นที่ติดค้างก่อนจะให้คะแนน
- ก่อนลงคะแนนคุณยอด ถามว่าจะมีโอกาสที่แอป QueQ จะมีโอกาสพัฒนาไปเรื่องใดได้อีกบ้าง โจ้ บอกว่าอนาคตจะทำให้ QueQ เป็น Payment Gateway ที่สามารถขายดีลร้านค้า ซื้อของตามห้างร้านต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพกเงินไปก็สามารถแสดงหลักฐานการจอง และจ่ายเงินผ่านแอปก็กินได้เลยโดยที่เขาจะได้ส่วนต่างเพิ่มตามตกลง เมื่อขายดีลได้
- โจ้ ยังบอกว่าอยากให้ลองใช้แอปดู เพราะผู้ใช้งานหลายคนกลายเป็นผู้ใช้งานประจำ และอนาคตจะขยายบริการ QueQ ไปยังประเทศอื่นให้ได้ใช้บริการนี้บ้าง เช่นขยายธุรกิจไปที่ญี่ปุ่นแล้วได้เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการจองคิวของญี่ปุ่นได้ ซึ่งหากทำสำเร็จ อาจจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้จุดประกายให้สตาร์ทอัพรุ่นน้องได้มีแรงบันดาลใจ
- ก่อนลงคะแนนคุณไผท ให้เหตุผลว่าแอปนี้ดี เพราะเรื่องการรอคิวเป็นปัญหาที่กินเวลาชีวิตซึ่งควรจะมีแอปอย่างนี้มาช่วยแก้ปัญหา และอยากจะเห็นแอปนี้ไปถึงร้านค้าระดับรากหญ้า ถ้าในอนาคตมีตัวเลือกหลากหลาย ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ ก่อนจะให้คะแนน 14 คะแนน
- ก่อนลงคะแนนคุณยอด บอกว่า QueQ อยู่ในธุรกิจร้านอาหารซึ่งเขาทราบดีว่าร้านอาหารที่มีคิวรอนานนั้นมีไม่มากทำให้ร้านอาหารที่จำเป็นต้องใช้บริการจาก QueQ จำกัด เลยแนะนำให้ไปหาพาร์ทเนอร์อื่นที่จำเป็นต้องใช้คิวเพื่อขยายธุรกิจ และอยากให้พัฒนาเรื่องการเพิ่มระยะเวลาการรอ ก่อนจะให้คะแนนไป 15 คะแนน
- คนสุดท้ายคุณพัชร บอกว่าร้านที่มีคิวไม่ค่อยเยอะ จึงลำบากว่าจะทำยังไงให้บริการเติบโตในแง่ของการดาวโหลดแอป อีกทั้งการเก็บเงินร้านค้าที่ใช้บริการ Queq ก็ยิ่งทำให้ร้านที่ต้องการบริการนี้ลดลง เลยเห็นการเติบโตของธุรกิจนี้ยาก จึงอยากให้ลองหาวิธีการสร้างรายได้จากทางอื่นเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ก่อนจะให้คะแนนไป 12 คะแนน
สรุปผลการแข่งขัน
- คะแนนรวมของ QueQ ได้ไปทั้งสิ้น 71 คะแนนซึ่งต้องรออีก 11 สัปดาห์ว่าเขาจะยืนระยะได้นานแค่ไหน
- หยา ทิ้งท้ายไว้ว่าขอบคุณทุกคอมเมนท์ และอนาคตจะพัฒนาส่วนที่ขาดตกบกพร่องเพื่อเติบเต็ม และจะนำคำคอมเมนท์จากกรรมการไปพัฒนารูปแบบธุรกิจต่อไป
- ส่วนสัปดาห์หน้าพบกับแอปพลิเคชั่นดูแลผู้สูงอายุ ‘Health at Home’
สำหรับคนที่สนใจอยากจะดูรายการย้อนหลังสามารถดูได้ที่นี่เลย และถ้าอยากดูสดสามารถชมได้ทุกวันศุกร์เวลา 21.00 น. ทางช่องและแฟนเพจ WorkPoint