เป็นที่น่าดีใจอย่างยิ่งเมื่อกรุงเทพฯ เปิดตัวห้องสมุดเปิดใหม่ที่มีความสวยงามตามสมัยนิยม และมีความทันสมัยทั้งในแง่ของการตกแต่ง สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบการจัดการภายใน อีกทั้งยังอยู่ในจุดที่เดินทางง่าย ซึ่งเชื่อเลยว่ามีหลายคนรอห้องสมุดของภาครัฐที่เพียบพร้อมแบบนี้มานานแล้ว
ในโอกาสที่ ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’ เปิดเพื่อทดลองระบบเมื่อวันที่ 7 เมษายน ทีม Mango Zero จึงลองไปใช้บริการเป็นครั้งแรกเพื่อที่จะเอามาบอกเล่าให้ทุกคนได้ฟังกันว่าที่นี่น่าสนใจอย่างไร ก่อนที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายนนี้
ก่อนจะมาเป็น ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’
หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ใครที่รู้จักถนนข้าวสาร อย่างไรก็ต้องมาที่นี่ถูก เพราะตั้งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยกพอดีเป๊ะ เดิมทีอาคารของหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ เป็นอาคารเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี 2482 – 2491 ก่อนจะถูกนำมาปรับปรุงเป็นห้องสมุดสำหรับประชาชน เนื่องจากกรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกเมื่อปี 2556 (World Book Captital) จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นลำดับที่ 13 ต่อจากกรุงเยราวาน อาร์เมเนีย ซึ่งพันธกิจหนึ่งที่สำคัญที่เสนอไว้ คือ โครงการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร นั่นเอง
แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ใจกลางราชดำเนิน
หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ และพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไปทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ดังนั้นภายในจึงไม่ได้มีแต่ชั้นหนังสือเหมือนห้องสมุดของรัฐบาลที่เราคุ้นเคย แต่ยังมีพื้นที่สำหรับให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสม มีพื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียนทุกชั้น ส่วนพื้นที่ให้บริการแบ่งออกเป็น 4 ชั้นตามรูปแบบของการใช้งาน
ผู้ที่จะเข้าใช้บริการขอแค่เพียงมีบัตรประชาชนหนึ่งใบก็สามารถใช้บริการได้ทันที ไม่คิดเงิน ส่วนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีที่ยังไม่สามารถทำบัตรประชาชนได้ ผู้ปกครองจะต้องเป็นคนพามา การเข้าใช้บริการก็เพียงแค่สอดบัตรประชาชนเพื่อสแกนที่ประตูเท่านั้น ส่วนชาวต่างชาติ ต้องแสดงพาสปอร์ตเพื่อเข้าใช้บริการ
(สอดบัตรแบบนี้เลย)
ตกแต่งภายในเป็นกันเอง และร่วมสมัย
ห้องสมุดแห่งนี้ถูกจัดวางพื้นที่ตามรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม ทุกชั้นจึงมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่มีความคล้ายกันคือการตกแต่ง ทุกชั้น จะเน้นความโปร่ง เดินสบายไม่อึดอัดเหมือนห้องสมุดทั่วๆ ไปที่คุ้นเคย แต่เหมือนนั่งอ่านหนังสือที่บ้านมากกว่า ซึ่งโคตรดี แสงภายในห้องสมุดสีเหลืองนวลดูผ่อนคลายสบายตา อีกทั้งยังเงียบสงบเหมาะกับการมานั่งทำงาน หรืออ่านหนังสือเงียบๆ ก็ได้เพราะมีมุมส่วนตัวเยอะมากๆ
แบ่งพื้นที่ 4 ชั้นเพื่อการใช้งานหลายรูปแบบ
ทุกพื้นที่ถูกจัดสรรเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการเดินสำรวจทั้ง 4 ชั้นเราพบว่าทุกชั้นมีแนวทางในการจัดตกแต่ง และมีแนวทางในการใช้งานที่ชัดเจนส่วนรายละเอียดแต่ละชั้นแบ่งออกได้ดังนี้
- ชั้นที่ 1 : พื้นที่ด้านล่างสุดเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ และนิตยสาร หนังสือในโซนของพื้นที่ชั้นหนึ่ง จะเน้นหนังสือท่องเที่ยว หนังสืออาหาร หนังสือเพื่อสุขภาพ ส่วนนิตยสารจะมีโซนแบ่งออกไว้ต่างหากชัดเจน แต่ละสัปดาห์จะมีการอัปเดตนิตยสารใหม่ๆ เสมอ สำหรับผู้พิการทางสายตาจะมีโซนอ่านหนังสือเสียงแยกไปต่างหากเพื่อความคล่องตัวของผู้พิการทางสายตา และมีห้องฉายวิดีโอ ขนาดเล็กความจุไม่เกิน 40 คนให้บริการอยู่ด้วย มีคอมพิวเตอร์สำหรับใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี แต่ต้องขอรหัสที่ประชาสัมพันธ์ก่อน
- ชั้น M : ชั้นนี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ หนังสือทั้งโซนเต็มไปด้วยหนังสือที่เหมาะกับเด็กทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ และยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมของเด็กต่างหากแยกออกมาด้วยในกรณีที่ผู้ปกครองพาลูกหลานมาแล้วอยากให้พวกเขาอ่านหนังสือเงียบๆ หรือเล่นสนุกโดยที่ไม่รบกวนคนอื่น
- ชั้น 2 : สำหรับชั้นนี้มีหนังสือที่หลากหลายแนว และแตกต่างว่าชั้นหนึ่งชัดเจน คือมีหนังสือเยอะมากกว่าชั้นแรกโซนพื้นที่ให้บริการแบ่งตามลักษณะของหนังสือเป็นโซน ได้แก่โซนหนังสือดังในอาเซียน, โซนหนังสือเกี่ยวกับเมืองหลวงต่างๆ ของโลก รวมถึงประเทศไทย, โซนหนังสือหายาก, โซนนวนิยาย เรื่องสั้น,โซนหนังสืองานศพ (อ้าว งงล่ะสิ ที่ต้องมีโซนหนังสืองานศพ เพราะทางห้องสมุดฯ ให้เหตุผลว่าหนังสืองานศพเป็นหนังสือที่มีคุณค่า และพิมพ์แค่ครั้งเดียว) โซนหนังสือร่วมสมัยที่มีทั้งบทความ ความเรียง หรือหนังสือภาพ และโซนสุดท้ายคือหนังสือต่างประเทศ
ความเจ๋งคือบนชั้นสองก็ยังจัดพื้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านมากๆ โดยเฉพาะโซนอ่านหนังสือที่เป็นโซฟา แวรี่กันเองสุดๆ นอนอ่านก็ยังได้ และไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่อ่านหนังสือเท่านั้น แต่ยังมีห้องส่วนตัว 4 ห้องสำหรับรวมกลุ่มอ่านหนังสือเงียบๆ ซึ่งใครก็สามารถใช้ได้ไม่ต้องจอง ถ้าว่างเข้ามาได้เลย
- ชั้น 3 : พื้นที่นี้เป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และยังมีโซนหนังสือเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ที่น่าสนใจ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติ, หนังสือโครงการในพระราชดำริ, หนังสือพระบรมวงศานุวงศ์, หนังสือราชวงศ์จักรี และหนังสือประวัติศาสตร์ที่สำคัญของราชวงศ์จักรี
อีกโซนจะเป็นหนังสือสำคัญที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ รวมถึงหนังสือของหน่วยงานอื่นในกรุงเทพฯ ที่พิมพ์ขึ้นมาเฉพาะกิจ นอกจากโซนหนังสือแล้ว ยังมีห้อง ‘จดหมายเหตุ’ ที่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เป็นนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อไว้อาลัยแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดแสดงอยู่
รายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้บริการ
- ห้องสมุดเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง แต่เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 21.00 น. สำหรับวันอังคาร – เสาร์ ส่วนวันอาทิตย์เปิด 09.00 – ถึง 20.00 น.
- หยุดทุกวันจันทร์
- จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 28 เมษายนนี้
- เนื่องจากเป็นห้องสมุดประชาชน จึงไม่เสียค่าเข้า
- ผู้เข้าใช้บริการต้องมีบัตรประชาชน หรือมีพาสปอร์ต (กรณีที่ไม่ใช่คนไทย)
- หากต้องการยืมหนังสือต้องสมัครสมาชิกรายปี ปีละ 10 บาทเท่านั้น!! (โคตรถูก)
- หนังสือที่ยืมได้อยู่บริเวณชั้น 1 – 2 เท่านั้น ส่วนหนังสือที่ชั้น 3 อนุญาตให้อ่านแค่ภายในพื้นที่เท่านั้น
- ควรแต่งกายสุภาพ และไม่นำอาหารเข้าไปภายใน
- ห้ามมาจัดกิจกรรมเสวนาขายตรง หรือแอบสอนหนังสือเพื่อเก็บเงินเด็ดขาด
- อย่าส่งเสียงดัง แม้จะเป็นห้องสมุดร่วมสมัย แต่ไม่ใช่ว่าใครก็มาทำอะไรโหวกเหวกได้
- ทุกพื้นที่ในห้องสมุดสามารถใช้งานเพื่อการเรียนรู้ฟรี แต่ห้ามทำกิจกรรมเพื่อหาเงิน
- มีปลั๊กไฟให้ชาร์จบริเวณโต๊ะอ่านหนังสือ (ฟรีแลนซ์กรี๊ดแน่ๆ)
- มีร้านกาแฟโบราณให้บริการที่ชั้น 1
- หนังสือยังน้อยอยู่
- มีคอมพิวเตอร์ให้บริการที่ชั้นหนึ่งสำหรับหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือ และสามารถยืมอีบุ๊คมาอ่านได้
- มีอินเทอร์เน็ตใช้ฟรี
- ฝากสัมภาระทุกครั้งก่อนเข้าไปใช้บริการ
- ห้องน้ำสะอาดมาก
- ไม่มีที่จอดรถ
- ดูรายละเอียดเกี่ยวได้ที่ ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ’
วิธีการเดินทาง
หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน การเดินทางสามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
– รถประจำทางที่ผ่านสนามหลวง อาทิ สาย 2 ,2ส ,15, 32 ,33ร ,35ร ,44ร ,47,59 ,60 ,68 ,70 ,79 ,82 ,157ร ,171ร ,183ร ,201ร ,203 ,503 ,509 ,511,511ส และ 556 ลงป้ายสี่แยกคอกวัว
– หากนั่ง BTS ให้ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัย ต่อรถเมล์สาย 59 ,157 ,159 ,171,183 ,201,503 ,509 ลงป้ายสี่แยกคอกวัว
– หากนั่ง MRT ลงที่สถานีหัวลำโพง แล้วต่อรถเมล์สาย 159 มาลงที่สี่แยกคอกวัว