เพิ่งผ่านการประชุมรัฐสภาครั้งแรกไปหมาดๆ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายจนเรียกได้ว่าแทบจะตามกันไม่ทัน หนึ่งในนั้นคือการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเราว่าน่าจะทำให้หลายคนเริ่มสนใจและสงสัยประเด็นเรื่องการลาออกของส.ส. รวมไปถึงการย้ายพรรคการเมืองที่สังกัด
วันนี้ Mango Zero ชวนดูทุกคนมาเปิดดูข้อกฎหมายเรื่องการสิ้นสภาพของผู้แทนราษฎร จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า การสิ้นสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดได้จากเหตุ เช่น
- เสียชีวิต
- สภาครบวาระ
- ยุบสภา
- ลาออกจากการเป็นส.ส.
- ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก
- ขาดประชุมเกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
โดยในการลาออกมี 2 กรณี คือ
- การลาออกจากการเป็นส.ส. ดังกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลให้ออกจากสภา แต่เนื่องจากเป็นส.ส. บัญชีรายชื่อ ทำให้นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาได้เก้าอี้ในสภาแทน
- การลาออกจากพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ ความเป็นส.ส. จะสิ้นสุดลงทันที โดยไม่สามารถย้ายเพื่อไปสังกัดอีกพรรคได้
การย้ายพรรคการเมือง
ยังมีอีกกรณีที่หลายคนสงสัยว่าแล้ว ส.ส. จะสามารถขอย้ายพรรคการเมืองได้หรือไม่ จริงๆ แล้วสามารถทำได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขต่อไปนี้
- พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ด้วยมติ 3 ต่อ 4 จากคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น โดยหลังจากมีมติให้ออกจากพรรคเก่าแล้ว จะต้องเข้าร่วมสังกัดพรรคใหม่ภายในระยะเวลา 30 วัน
- พรรคที่สังกัดถูกคำสั่งยุบพรรคการเมือง โดยจะต้องเข้าร่วมพรรคการเมืองใหม่ภายในระยะเวลา 60 วัน