เรามองเห็นตัวเองในวัย 30 เป็นอย่างไร? บางคนวางแผนไว้แล้ว บางคนยังนึกภาพไม่ออก แต่เริ่มเห็นคนรอบข้างประสบความสำเร็จ ก็อดคาดหวังไม่ได้ว่าชีวิตในวัยผู้ใหญ่จะต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกับเขาบ้าง Quarter-life Crisis อธิบายง่ายๆ ก็คือวิกฤติที่คนมักจะเจอตอนช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เรียนจบ เริ่มหางานทำ หรือช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ใหญ่นั่นเอง มักจะเกี่ยวกับความกังวลเกี่ยวกับการวางแผนชีวิต และคุณภาพชีวิตของตัวเอง สัญญาณของการอยู่ในช่วง Quarter-life Crisis Work ไร้ Balance ยิ่งพยายามจะมี Work-Life Balance หรือแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวให้สมดุลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลจากคำนี้มากเท่านั้น เพราะเมื่อทุ่มเทไปกับอะไร ก็จะไม่มีเวลาให้กับอีกอย่างหนึ่ง และยิ่งรู้สึกว่าการเต็มที่กับงานและมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้นช่างยากลำบากเหลือเกิน อาจเป็นเพราะมีงานจำนวนมาก หรือเราไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ อยากเกิดมาบนกองเงินกองทอง การใช้ชีวิตแต่ละวันมันบั่นทอนร่างกายและจิตใจ จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดมาร่ำรวยก็คงสบายกว่านี้ ไม่ต้องทำงานให้ลำบาก และใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย สุขไม่สุด รู้สึกเหมือนมีเมฆฝนครึ้มๆ อยู่บนหัวตลอดเวลา แม้จะไม่ได้รู้สึกซึมเศร้ามากมาย แต่ก็ไม่เคยได้สัมผัสถึงความสุขอย่างแท้จริง ความรู้สึกแย่จะหายไปตอนได้ปรับทุกข์กับคนหัวอกเดียวกัน แต่มันก็กลับมาอีกตอนอยู่คนเดียว สิ่งที่รักกับงานที่ทำไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แม้จะเกลียดเช้าวันจันทร์ (ถึงศุกร์) มากแค่ไหน ก็ไม่ลาออกจากงาน ด้วยความคิดที่ว่าเราจะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองให้ได้ แต่บางครั้งก็นั่งคิดกับตัวเองว่าเราจะใช้ชีวิตไปเพื่ออะไรถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่มีเป้าหมาย ใช้ชีวิตวันต่อวัน ถ้าถามว่าวางแผนอนาคตไว้อย่างไร ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะแค่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันก็ยากลำบากแล้ว บวกกับความสับสนและค้นหาสิ่งที่ชอบจริงๆ วิธีรับมือกับ Quarter-life Crisis ค้นหาตัวเอง ฟังดูทำได้ยาก แต่จริงๆ แล้วการค้นหาตัวเองสังเกตได้จากตอนเราทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เราอาจมีความสุขตอนได้ทำงานศิลปะ เพราะเรามีความคิดสร้างสรรค์ กระตือรือร้นเวลาต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะเป็นคนชอบการแข่งขัน หรือรู้สึกดีเวลาทุกอย่างเป็นระเบียบ เพราะเราเป็นคนชอบจัดระเบียบสิ่งต่างๆ อีกวิธีคือลองถามคนรอบตัวว่ามองเราอย่างไร เห็นจุดเด่นอะไรในตัวเรา ก็จะช่วยให้เราค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้น เลือกเป้าหมาย และมีความสุขกับระหว่างทาง เมื่อเริ่มค้นหาตัวเองและสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเจอแล้ว ลองจินตนาการภาพตัวเองในอนาคต ว่ากำลังทำอะไร อยากยืนอยู่จุดไหน แล้ววางแผนทางเดินเพื่อพาตัวเองไปยังจุดนั้น แต่อย่าตั้งหน้าตั้งตาพุ่งเข้าหาเป้าหมายมากเกินไป มีความสุขและเก็บรายละเอียดระหว่างทาง เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นบทเรียนและประสบการณ์ให้เราไปสู่จุดหมายอย่างแข็งแกร่ง รักตัวเองเข้าไว้ อย่าใจร้ายเกินไป บางครั้งชีวิตอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดวางแผนไว้ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดหรือโทษตัวเองทุกครั้งไป อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะการคาดหวังตัวเองโดยใช้คนรอบข้างเป็นบรรทัดฐาน เพราะแต่ละคนมีปัจจัยแวดล้อมต่างกัน ในวันที่เจอสิ่งกีดขวาง ให้หยุดพัก รักตัวเอง แล้วค่อยเดินต่อก็ได้ ที่มา medium lifehack