เคยมั้ย? ที่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่รู้ว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถวอยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนของคนข้างหน้าเข้ามาเนียนแซงคิวไปซะดื้อๆ หรือจ่ายค่าแท็กซี่ก็โดนคนขับปัดเศษขึ้นหน้าตาเฉย เรื่องพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันและเป็นเรื่องที่เรามีสิทธิ์แย้งได้ทั้งนั้น แต่เพราะอะไรถึงทำให้หลายคนเลือกที่จะปล่อยผ่านมากกว่า เรามักได้ยินประโยคที่บอกว่า “หยวนๆ ไปเถอะ” อยู่บ่อยๆ ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลของการยอมปล่อยสิทธิ์ของตัวเอง จนบางทีเราก็หยวนกันจนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่เหตุผลที่ทำให้เรายอมเสียเปรียบจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองให้กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ์มากขึ้น ลองมาดูที่สาเหตุกันก่อนดีกว่าว่าเพราะอะไร ความเกรงใจ คนไทยส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้มีความเกรงใจที่ฝังลึกไปถึงจิตสำนึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีก็จริงแต่ถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้ตัวเองถูกเอาเปรียบได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจขอบเขตของคำว่าเกรงใจใหม่ซะก่อนว่ามันคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือการที่ไม่อยากให้คนอื่นต้องรู้สึกลำบาก หรือเสียน้ำใจเพราะเรา แต่ด้วยความเกรงใจที่ถูกนำมาใช้จนชิน ทำให้เราเลือกที่จะปล่อยสิ่งที่ควรจะได้รับไป เช่น สั่งกับข้าวอีกอย่างแต่ได้อีกอย่างนึง แต่ไม่กล้าบอกให้แม่ค้าทำใหม่ เพราะคิดว่าไหนๆ ก็ทำมาแล้ว บวกกับเกรงใจที่เขาจะต้องเสียเวลา เสียวัตถุดิบเพิ่ม การไปซื้อของแต่ไม่กล้าขอพนักงานดูเยอะเพราะเกรงใจ กลัวจะไปรบกวนเขา หรือที่เห็นกันบ่อยคือการเกรงใจเวลาที่ต้องทวงเงินจากคนรู้จัก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่ตีความคำว่าเกรงใจด้วยความรู้สึกกลัวหรือไม่กล้า เช่น ไม่กล้าแย้งสิ่งที่ถูกต้องกับคนที่มีความรู้ มีอำนาจหรืออาวุโสมากกว่า เพราะคิดว่าตัวเองด้อยกว่าจนไม่กล้าพูดอะไรออกไป ไม่อยากทำให้ยุ่งยาก เหตุผลเบสิกอื่นๆ ก็คือเสียเวลา ด้วยสภาพสังคมที่ค่อนข้างเร่งรีบ ทำให้ไม่มีเวลามากพอในการมานั่งเคลียร์ให้ยุ่งยากเลยเลือกที่จะช่างมันแทน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนอีกว่าถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียเปรียบอะไรมากถึงขั้นที่จะสละเวลาก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าอะไรที่มันไม่โอเคกับตัวเองก็ไม่ควรฝืน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการซื้อขายด้วยแล้วล่ะก็ เรามีสิทธิ์ตามสัญญาตกลงซื้อขายเต็มๆ เพราะการที่เราจ่ายเงินไปแล้วก็ควรจะได้ของตามที่เราต้องการอย่างครบถ้วน อย่างสั่งของออนไลน์ไป แต่แม่ค้าส่งมาผิดชิ้นนึง บางคนก็เลือกที่จะไม่เปลี่ยนเพราะขี้เกียจส่งกลับไปกลับมาให้ยุ่งยาก และการขอเปลี่ยนสินค้าก็อาจขึ้นอยู่กับการให้บริการของทางร้านด้วย ไม่อยากมีปัญหา บางสถานการณ์ถึงจะรู้ว่าถูกเอาเปรียบและอยากแย้งมากเท่าไหร่ แต่ก็รู้ว่าถ้าพูดออกไปคงเสี่ยงต่อเราเกินไป เกิดเราท้วงแล้วมีปากเสียงกลับมาลามไปสู่การทะเลาะเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตขึ้นมาคงจะไม่คุ้ม หลายคนเลยเลือกที่จะยอมไปก่อน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ เวลาโดนแซงคิว แต่คนที่มาแทรกดูไม่ค่อยเป็นมิตร ก็อาจทำให้เราไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวจะมีปัญหา หรือการทวงเงินทอนในขณะที่อยู่บนแท็กซี่สองคนตอนกลางคืน บางครั้งเราต้องได้เงินทอน 3 บาท 5 บาทก็ว่ากันไป แต่แท็กซี่บางคนกลับตีเนียนไม่ทอนซะงั้น ไม่ใช่ไม่มีทอนแต่ตั้งใจจะไม่ทอนเลยต่างหากล่ะ! แต่แย่ที่สุดเมื่อพอทวงกลับโดนตอกกลับมาว่า “เงินแค่นี้เอง ขี้งกจังเลย” นั่นจึงอาจเป็นสาเหตุให้หลายคนไม่อยากที่จะต่อความยาวสาวความยืดต่อไปให้เป็นปัญหา เพราะห่วงความปลอดภัยของตัวเองด้วย ไม่รู้ว่าเขาจะมาไม้ไหน ในกรณีนี้ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยคงจะไม่รู้สึกเสียหายอะไรมากใช่มั้ยล่ะ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนอื่นเอาเปรียบ อาจทำให้เราต้องยอมไปเรื่อยๆ ถ้าลองมองในภาพรวมว่าทุกคนในสังคมค่อยๆ ชินชาและปล่อยมันไปจนกลายเป็นเรื่องปกติทั้งที่มันไม่ควรจะปกติ วันนั้นจะเป็นยังไง? คนที่ท้วงคือคนเรื่องมาก เมื่อทุกคนปล่อยเบลอกันจนชิน พอมีคนที่ลุกขึ้นท้วงสิทธิ์ของตัวเอง คนนั้นก็อาจกลายเป็นคนเรื่องมากไปโดยปริยาย อาจโดนมองด้วยสายตาไม่เข้าใจ ถูกตั้งคำถามว่าทำไมแค่นี้ถึงยอมไม่ได้ จึงสุดท้ายก็ทำให้ชุดความคิดนี้ใช้ได้ผลไปเรื่อยๆ และทำให้คนเห็นความสำคัญของสิทธิ์ตัวเองน้อยลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน และพอทุกคนคิดว่าการท้วงสิทธิ์เป็นเรื่องแปลก คนในสังคมก็จะเริ่มไม่มีใครกล้าท้วงสิทธิ์มากขึ้นไปอีก เพราะไม่อยากเป็นจุดเด่น หรือโดนมองว่าแปลก ท้วงสิทธิ์แบบสบายใจและไม่เป็นภัยต่อตัวเอง การปกป้องสิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องที่ควรทำให้เป็นปกติอย่างมาก ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเหตุผลต่างๆ ในการปล่อยละเลยไปดังข้างตนก็ตาม แต่เราก็มีวิธีที่พอให้ทุกๆ คนนำไปปรับใช้กันเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ชีวิตต้องอยู่กับความไม่กล้าในการท้วง! พัฒนาบุคลิกภาพ พยายามเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะจะทำให้เราไม่ติดอยู่กับความรู้สึกเกรงใจมากจนเกินไป จนทำให้ผู้อื่นเอาเปรียบอยู่บ่อยๆ นึกถึงตัวเองให้มากขึ้น การนึกถึงตัวเองและสิ่งที่โดนเอาเปรียบมากขึ้น จะทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลยที่เราต้องมาเจออะไรแบบนี้ และทำให้เรามีความกล้าที่จะพูดตรงๆ เพื่อแก้ผิดให้เป็นถูก ตราบใดที่เราถูกและใช้คำพูดให้เหมาะสมเท่านี้ก็ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว ลองพูดตรงๆ บ้าง หากเป็นคนที่ขี้เกรงใจมากๆ หรือไม่มีความกล้า อย่านิ่งเฉย แต่ควรลองเอ่ยปากดูบ้าง ปฏิเสธหรือแย้งให้เป็น จะทำให้กลายเป็นคนที่กล้าที่จะพูดทักท้วงมากขึ้น และคนอื่นก็จะเข้าใจเรามากขึ้นอีกด้วย อย่าเป็นคนที่ใจดีจนเกินไป บางทีคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าคนที่ใจดีมักจะไม่คิดอะไรมาก ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดและไม่ควรคิดอย่างมาก แต่ในที่นี้ก็ไม่หมายความว่าให้เปลี่ยนเป็นคนที่ใจร้ายใจดำนะ ที่ไม่ให้ใจดีเกินเพราะจะโดนเอาเปรียบกันง่ายๆ นี่แหละ เพราะฉะนั้นมีขอบเขตชัดเจน คนอื่นจะได้ไม่กล้าล้ำเส้น การปกป้องและท้วงสิทธิ์ในบางเรื่องอาจดูยุ่งยากและต้องใช้ความกล้ามากไปสักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่าดีกว่าปล่อยไปเฉยๆ แน่นอน เพราะถ้ามีครั้งแรกมันอาจมีครั้งต่อๆ ไปตามมา สิทธิ์ของเราถ้าเราไม่รักษาแล้วใครจะมาท้วงให้ล่ะจริงมั้ย?