20 สิ่งที่คนทำ E-Commerce ต้องรู้ บทสรุปจากงาน Priceza E-Commerce Awards 2017

Writer : Sam Ponsan

: 29 พฤศจิกายน 2560

priceza-e-commerce-awards-2017-cover

Priceza ผู้ให้บริการแอป และเว็บไซต์ค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา จัดงาน ‘Priceza E-Commerce Awards 2017’ ปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งงานนี้เป็นงานมอบรางวัลให้กับอีคอมเมิร์ช ที่ประสบความสำเร็จในรอบปี 

อีกทั้งยังจัดงานเสวนาอัปเดทสิ่งที่คนทำอีคอมเมิร์ชต้องรู้ ซึ่งเราได้สรุปสิ่งที่สำคัญในงานนี้ไว้แล้วโดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่อีคอมเมิร์ช ควรรู้จากสามเวทีเสวนาเรื่อง อีคอมเมิร์ช, อีลอจิสติกส์ และอีเพย์เมนต์

การเติบโตของ Priceza ในรอบปี

priceza-e-commerce-awards-2017-1

ในช่วงแรกของงาน ‘Priceza E-Commerce Awards 2017’ นั้น Priceza ในฐานะผู้ที่ให้บริการเว็บไซต์และแอปสำหรับเปลี่ยนเทียบข้อมูลสินค้าและราคาบนออนไลน์ของร้านค้าต่างๆ ใน Priceza ซึ่งมีข้อมูลสินค้าอยู่ในเว็บหลายล้านรายการให้ลูกค้าได้เลือก และแต่ล่ะวันมีจำนวนคนเข้ามาใช้งานหลายแสนคนในไทย มีการซื้อขายเกิดขึ้นทุกวันบนออนไลน์จากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน Priceza

ทำให้ Priceza มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของแวดวงอีคอมเมิร์ชมาตลอดทุกปีในไทย จึงได้สรุปการเติบโตของ Priceza ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงมอบรางวัล และงานเสวนาในครั้งนี้ โดยมี ‘ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด มาสรุปเรื่องการเติบโตของ Priceza ที่สะท้อนให้เห็นถึงวงการอีคอมเมิร์ชไทย

priceza-e-commerce-awards-2017-2

  • ทุกวันนี้มีนักช้อปออนไลน์สูงถึง 12.1 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ 38 ล้านคน สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่พัฒนา และนโยบายจากภาครัฐที่ผลักดันในเรื่องการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เกิดการจับจ่ายที่ง่ายขึ้น
  • ข้อมูลล่าสุดจาก ETDA ได้สรุปพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อปี 2016 พบว่าเติบโตขึ้นมาก โดย 4 ช่องทางที่คนไทยใช้ในการซื้อสินค้ามากที่สุดก็คือ โซเชียลมีเดีย 40% E-Marketplace 29% Online Retail – Brand.com 27% และ Cross Border 4%
  • Top 5 ช่องทางในการที่พาลูกค้าเข้าสู่เว็บอีคอมเมิร์ช ในประเทศคือ Google, เว็บโดยตรงของแบรนด์, อีเมลล์, โซเชียลเน็ตเวิร์ค และ Priceza ซึ่ง Priceze ถือเป็นสื่อไทยสื่อเดียวที่ติดอันดับ
  • อัตราเติบโตของผู้ใช้งานใน Priceza เติบโตขึ้น 50% จากปีที่แล้ว โดยปีก่อนมีคนใช้งาน 84 ล้านครั้ง ส่วนปี 2016 มีผู้ใช้งาน 124 ล้านครั้ง เฉลี่ยต่อวัน 4 แสนคน มากกว่าจำนวนคนที่เข้าห้างสรรพสินค้าอย่างสยามพารากอน ต่อวันถึงเท่าตัว
  • ปัจจุบันผู้ใช้งาน Priceza 70% เข้าผ่านสมาร์ทโฟน เทียบตามระบบปฏิบัติการณ์แล้วผู้ใช้ Android อยู่ที่ 60% ส่วน iOS อยู่ที่ 30%

priceza-e-commerce-awards-2017-12

  •  หมวดสินค้าที่คนไทยนิยมที่สุด 5 อันดับใน Priceza  คือ สินค้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง, Gadget, สมาร์ทโฟน, รถและยานพาหนะ
  • จำนวนเงินที่ใช้ช็อปปิ้งออนไลน์ ผ่านเดสท็อป หรือโน้ตบุ๊คอยู่ที่ 2,008 บาทต่อออเดอร์ ส่วนการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 1,177 บาทต่อออเดอร์
  • sale conversion rate หรือจำนวนคนที่ตัดสินใจซื้อสินค้าบนออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.81% ขณะที่ปีที่แล้วเติบโตเพียง 1.72%
  • เป้าหมายของ Priceza ในปี 2017 คือจะผลักดันให้ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ 1 ล้านเจ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ประเทศที่ Priceza ให้บริการทำกำไร ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และ ฟิลิปปินส์ โดยเชื่อว่าถ้า 1 ร้านค้าทำกำไร จะเกิดการจ้างงานขึ้น 10 ตำแหน่ง ถ้าช่วยได้ 1 ล้านเจ้าตามเป้าจะเกิดการจ้างงานขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ล้านตำแหน่ง
  • ปีหน้า Priceza ตั้งเป้าจะสร้างลูกค้าในไทยที่เข้าใช้งานเว็บ 18 ล้านคนต่อเดือน

20 สิ่งที่คนทำอีคอมเมิร์ช ต้องรู้ปีหน้ามีอะไรที่ต้องปรับตัว 

priceza-e-commerce-awards-2017-5

จากภาพรวมทั้งหมดที่ได้ฟังมาพบว่าตอนนี้ สงครามการแข่งขันของร้านค้าต่างๆ ในโลกออนไลน์สูงมาก ขณะเดียวกันก็มีการปรับตัวที่ผันผวนไปตามเทคโนโลยีโดยเฉพาะเรื่องความสะดวกสบายทั้งในมุมของผู้ขาย และผู้ซื้อ

อนาคตเทรนด์ของอีคอมเมิร์ช จะมีสิ่งใดที่จะเปลี่ยนไปบ้าง ทั้งในเรื่องการค้าขายออนไลน์, การขนส่งสินค้า และระบบจ่ายเงิน เราสรุปมาให้อ่าน 20 ประเด็นจาก 3 เซคชั่นดังนี้

E-Commerce and The Future of Retail 2018

priceza-e-commerce-awards-2017-3

ช่วงแรกเป็นการพูดถึงอนาคตของ ‘คนขาย’ ซึ่งก็มีผู้ที่มากประสบการณ์ในแวดวงอีคอมเมิร์ช มาแลกเปลี่ยนความเห็น และแชร์ความรู้ได้แก่ ‘ศิวัตร เชาวรียวงษ์’ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย), ‘ผรินทร์ สงฆ์ประชา’ ผู้ก่อตั้ง และประธานบริหาร บริษัท นาสเก็ต รีเทล จำกัด,

ศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์’ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ช้อปปี้ ประเทศไทย, ‘ยุทธนา จิตจรุงพร’ VP-ecommerce online business เทสโก้ โลตัส และ ‘ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด สาระสำคัญในช่วงนี้คือเทรนด์ที่คนทำอีคอมเมิร์ชไทย จะไปในทิศทางไหนบ้าง

  • คนไทยซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะทาง Market Place รวมถึง IG Facebook Line เราเห็นความนิยมในการใช้บริการผ่านแอปของคนไทยเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • อีคอมเมิร์ชแบบ C2C (Customer to Customer) หรือการซื้อขายกันเองของลูกค้าจะเกิดขึ้น ความสำคัญของการเติบโตของการขายของแบบ C2C จะทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หลังจากนั้นการขายของแบบ B2C (Business-to-Consumer) จะตามมาเอง
  • Market Place Online เจ้าใหญ่เข้ามาแข่งขันกับเจ้าเดิมในปีหน้า เมื่อมีการแข่งขันกันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์แล้วมีการอัดโปรโมชั่น ให้ระวังพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนไปตามโปรโมชั่นที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เช่นส่งฟรี หรือส่วนลด หากผู้บริโภคยึดกับโปรโมชั่นนั้น อาจจะเกิดปัญหาในมุมของผู้ประกอบการที่ไม่มีโปรที่ลูกค้าคุ้นชินได้ ผู้บริโภคจะเกิดอาการ Price Sensitive

priceza-e-commerce-awards-2017-4

  • แบรนด์เล็กหากอยู่รอดต้องใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อโปรโมทตัวเองให้เป็น แล้วเลือกเจาะในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ ถ้าทำดีๆ รักษาลูกค้าและพื้นที่ของตัวเองได้ แบรนด์ใหญ่ก็เจาะไม่เข้า
  • อีคอมเมิร์ช เติบโตขึ้นมาก แต่ไม่กระทบในตลาดออฟไลน์ อีคอมเมิร์ชก็คือช่องทางเสริมที่ช่วยให้ลูกค้าซื้อของได้มากขึ้น สุดท้ายสิ่งที่ลูกค้าต้องการก็คือความสะดวกไม่ใช่ช่องทางการขาย ช่องทางไหนสะดวกก็เลือกทางนั้น หากทำให้ลูกค้าไม่สะดุดในการซื้อสินค้าหรือ Seemless Experience ลูกค้าจะไม่หนีไปไหน
  • ทุกธุรกิจต้องเก็บ Data ของลูกค้า เนื่องจากปัจจัยในการแข่งขันบนตลาด E-Commerce คือราคา จะลดราคาได้ต่ำกำไรอาจน้อย ถ้ากำไรน้อยจะอยู่ได้ก็ต้องลดต้นทุน ถ้าลดต้นทุนก็ต้องทำงานให้ฉลาด ถ้าจะทำงานให้ฉลาดก็ต้องใช้ Data มาวิเคราะห์ เช่นการลงโฆษณาให้ถูกจุดจริงๆ
  • อีคอมเมิร์ช ต้องรู้จักกับคำว่า PPC มาจากคำว่า Platform จะเป็นช่องทางในการสร้างคอมมูนิตี้ของตัวเองเพื่อสร้างฐานลูกค้าของตัวเองให้เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องไอทีเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงองค์ความรู้ที่มี หรือคิดธุรกิจอะไรได้ก็นับเป็นแพลตฟอร์ม ส่วน Partner หากคุณมีแพลตฟอร์มที่แข็งแรงแล้วต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และ Customer ต้องรู้จักลูกค้าและขีดวงให้แม่นว่าจะเจาะลูกค้ากลุ่มไหน

ELogistics : Trends to Follow

priceza-e-commerce-awards-2017-7

เวทีเสวนาที่ 2 ว่าด้วยเรื่องอีลอจิสติกส์ หรือ ‘ผู้ส่งสินค้า’ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่สำคัญไม่แพ้กันเพราะเมื่อลูกค้าสั่งของแล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าไปถึงมือลูกค้าให้ไว้ที่สุด ก็ต้องพึ่งระบบขนส่ง แต่ในอนาคต ระบบขนส่งในยุคออนไลน์จะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้ทันการเติบโตของอีคอมเมิร์ช

นี่คือมุมมองจาก ‘สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, ‘สันทิต จีรวงศ์ไกรสร’ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน บริษัท ลาล่ามูฟ (ประเทศไทย) จำกัด และ ‘โยจิ ฮามานิชิ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส

priceza-e-commerce-awards-2017-6

  • ลอจิสติกส์ มีความสำคัญในการส่งของถึงมือผู้บริโภค ตอนนี้มีอีคอมเมิร์ช หลายเจ้าทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ ต่อสู้กับคู่แข่งด้วยการส่งเร็ว เพราะนี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก ดังนั้นต้องเลือกพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเหลือด้านการขนส่งให้ถูก 
  • อีคอมเมิร์ช ไม่จำเป็นต้องมีลอจิสติกส์ของตัวเอง แต่ควรไปเน้นกับธุรกิจแล้วใช้ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าเนื่องจากธุรกิจลอจิสติกส์ นั้นต้องใช้ความเชียวชาญและลงทุนสูง
  • การส่งแบบ Same Day Delivery เป็นตลาดใหม่ของธุรกิจลอจิสติกส์ ที่เติบโตตามความต้องการของอีคอมเมิร์ช ปัจจุบันร้านไหนมี Same Day Delivery ลูกค้าก็ชอบ ซึ่งสิ่งนี้กำลังมีความต้องการเยอะในหมู่อีคอมเมิร์ช 
  • อนาคตอาจจะเห็นการพัฒนาด้านการการส่งสินค้าด้วย Drone ในเมืองไทย แต่จะเป็นการส่งไปยังพื้นที่ที่เข้าถึงยาก และหากส่งแบบปกติจะสิ้นเปลืองกว่า แต่ในเมืองไทยยังติดกฎหมายเรื่องการใช้ Drone ดังนั้นต้องรอเรื่องความชัดเจนของกฎหมายก่อน
  • ที่ญี่ปุ่นมีการจัดส่งแบบพิเศษซึ่งเป็นการส่งสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิ ทำให้ตลาดสินค้าของสดเติบโต แต่เมืองไทยไม่มีการขนส่งลักษณะนี้ หากระบบขนส่งในเมืองไทยเปิดบริการแบบนี้อาจจะทำให้อีคอมเมิร์ช ที่ขายสินค้าที่จำเป็นต้องรักษาอุณหภูมิเติบโตได้
  • อนาคตสิ่งที่ลอจิสติกส์ ต้องคิดคือจะทำบริการอย่างไรให้ตอบโจทย์ลูกค้า อันหมายถึงผู้ประกอบกิจการอีคอมเมิร์ช ที่อยากได้การบริการที่เร็วขึ้น แต่ราคาถูกลง สิ่งนี้คือการบ้านที่ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ ต้องคิดต่อ
  • ตลาดลอจิสติกส์ ไทยยังโตได้อีก เนื่องจากไทยมีพัสดุที่ต้องส่งต่อวัน 1.5 ล้านชิ้น แต่ที่ญี่ปุ่นส่งกันวันล่ะ 10 ล้านชิ้น หากเปรียบเทียบปริมาณกันโอกาสที่ไทย จะเติบโตในธุรกิจขนส่งมีอีกมากมาย ดังนั้นต้องคิดเรื่องรูปแบบการขนส่งใหม่ๆ ขึ้นมาซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้ธุรกิจขนส่งเติบโต แต่อีคอมเมิร์ชยังเติบโตตามไปด้วย

EPayment : The Present & Future

priceza-e-commerce-awards-2017-8

เวทีเสวนาสุดท้ายของวันนี้คือการพูดถึงระบบปลายทางที่สำคัญที่สุดของอีคอมเมิร์ช ซึ่งก็คือการ ‘ชำระเงินออนไลน์’ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการเชื่อมระหว่างการจ่ายเงินของผู้ซื้อและผู้ขายหลายช่องทาง

ซึ่งเจ้าของเทคโนโลยีก็มีทั้ง Bank และ Non-Bank ยิ่งรัฐบาลไทยพยายามทำให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสดเพื่อความสะดวกหลายอย่าง การมาถึงของระบบ E-Payment ที่เสถียร และสะดวกสบายจึงสำคัญ

priceza-e-commerce-awards-2017-9

เวทีนี้เราจะได้เห็นว่าเทคโนโลยี E-Payment ในอนาคตจะทำอะไรได้บ้าง ผ่านสายตาของ ‘สมคิด จิรานันตรัตน์’ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด, ‘ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน’ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด, ‘กิติพงศ์ มุตตามระ’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด และ ‘สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี’ ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย

  • รอบปีที่ผ่านมา COD หรือ Cash on Delivery (จ่ายเงินสดตอนรับสินค้า) ในเมืองไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดซึ่งช่วยให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ชสูงมาก
  • ผู้ให้บริการ E-Payment และร้านค้าไม่ค่อยชอบ  COD เพราะระบบนี้ตอบโจทย์ในบางเรื่องเท่านั้นเช่นเรื่องความมั่นใจในการซื้อสินค้าออนไลน์ ถ้าคนซื้อสินค้าออนไลน์ไม่มั่นใจอยากเห็นสินค้าก่อนค่อยจ่าย COD เลยเติบโต แต่ปีต่อไป COD จะลดน้อยลง เนื่องจากต้นทุนแพง และจะผลักดันให้เกิดการจ่ายเงินแบบ E-Payment
  • ผู้ค้ารายย่อยจะมีปัญหามากที่สุดหากต้องใช้ระบบเก็บเงินปลายทางเพราะมีค่าใช้จ่ายในการส่งเพิ่มขึ้น ขณะที่รายใหญ่อาจไม่ใช่ปัญหา แต่ก็ไม่ชอบ COD เช่นกัน ผู้ค้ารายย่อยจึงพยายามหาแพลตฟอร์ตให้เกิดการชำระเงินก่อนแล้วค่อยส่งของมาช่วยในการขาย และปัจจุบันก็มีหลายแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยตรงจุดนี้
  • ไทยมีการจ่ายเงินผ่านออนไลน์เพื่อซื้อของสัดส่วนที่ 30% ส่วนจ่ายเงินสดอยู่ที่ 70% ปีหน้าคาดว่าการจ่ายเงินผ่านออนไลน์จะโตขึ้น
  • E-Wallet กำลังเติบโตขึ้นในเมืองไทยโดยมีหลายเจ้าเข้ามานำเสนอบริการของตัวเอง และมีบทบาทมากในชีวิตประจำวันเนื่องจากการมีพร้อมเพย์ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ข้ามธนาคาร หรือข้ามแพลตฟอร์มง่ายขึ้น
  • อนาคตเมืองไทยจะมี QR Code มาตรฐานที่แบงก์ชาติระบุให้สามารถใช้ได้ในทุกบริการ ซึ่งใน QR Code นี้สามารถใส่รูปแบบการโอนเงินได้อย่างไม่จำกัด โดยลูกค้าเพียงแค่สแกน QR Code ของร้านค้า หรือบริการนั้นๆ แล้วระบบการโอนเงินจะเกิดขึ้นทันทีโดยที่ไม่เกี่ยงวิธีการว่าจะโอนผ่านเบอร์โทรศัพท์, โอนเงินผ่านเลขบัตรประชาชน, โอนเงินผ่านเลขบัญชี, หักผ่านบัตรเครดิต หรือโอนงานเข้า E-Wallet

บทสรุปรางวัล Priceza E-Commerce Awards 2017

priceza-e-commerce-awards-2017-10

ช่วงสุดท้ายในฐานะที่ Priceza เป็น Shopping Search Engine หนึ่งในฟันเฟืองหลักของวงการอีคอมเมิร์ช และมองเห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ชไทย จึงมอบรางวัล ‘Priceza E-Commerce Awards 2017‘ ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนร้านค้า และ Market Place ที่ดี โดยไม่แบ่งว่าเป็นแบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ใหญ่

priceza-e-commerce-awards-2017-11

การมอบรางวัลนั้นผ่านการประมวลผลข้อมูลกว่า 55 ล้านคลิกที่ Priceza เก็บข้อมูลตลอดทั้งปี และการตอบแบบสอบถามของผู้ใช้บริการกว่าหมื่นคน Priceza นำข้อมูลสองส่วนนี้มาร่วมกันเพื่อหาว่าร้านค้าไหนที่อยู่ในใจของผู้บริโภคจนได้ออกมาเป็นผลรางวัล 10 สาขา 18 รางวัล ดังนี้

  • รางวัล Most Trusted Brand ได้แก่ Apple
  • รางวัล Most Popular Brand ได้แก่ Samsung
  • รางวัล Top Retailer ได้แก่ ShopAt24 และ Central
  • รางวัล Top Marketplace ได้แก่ Lazada และ Shopee
  • รางวัล Top Car Insurance ได้แก่ Frank และ ANC Broker
  • รางวัล Top – E Commerce Fashion & Beauty ได้แก่ LookSi และ Konvy
  • รางวัล Top – E Commerce IT & Electronics ได้แก่ SuperTstore และ Advice
  • รางวัล Top – E Commerce Home & Decor ได้แก่ HomePro และ DoHome
  • รางวัล Top – E Commerce Grocery Retailer ได้แก่ Tops และ TESCO LOTUS
  • รางวัล Top – E Commerce Book Seller ได้แก่ Kinokuniya และ SE-ED

 

Writer Profile : Sam Ponsan
นักเขียนหนุ่มสุดเท่ที่ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นชีวิตจิตใจ ขนาดฝนตกยังยอมขี่รถตากฝนเลยเพราะคิดว่าทำแล้วเท่ งานอดิเรกของเขาคือการไปออกกำลังกายเพราะเชื่อว่าทำแล้วเท่ ปัจจุบันก็ยังชอบทำ Content อะไรเท่ๆ ลงเว็บ Mango Zero ด้วย แหม่...เท่จริงๆ
Blog : Social Media : Facebook, Twitter
View all post

[ไม่มีสปอยล์] 5 ความเจ๋งของ Stranger things ทำไมใครๆ ก็ต้องดู ??


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save