ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่แสนเร่งรีบเวลานับเป็นสิ่งมีค่าอย่างมาก และในชีวิตประจำวันการเดินทางไปกลับบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ก็นับเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เราต้องการไปถึงจุดหมายให้ไวที่สุด แต่โชคยังดีคนกรุงเทพฯ มีทางแก้ไขการเดินทางให้แม่นยำและว่องไวขึ้น ทั้งรถไฟฟ้า,รถใต้ดิน และที่ขาดไม่ได้คือมอเตอร์ไซ์รับจ้าง หรือพี่วินนั้นเอง !! พี่วินตัวช่วยเวลาตื่นสาย หรือเข้าตรอกซอกซอยที่ขี้เกียจเดิน พี่วินมักมาช่วยเราเสมอ โดยค่าโดยสารของพี่วินแต่ละที่หลากหลายแล้วแต่เกณฑ์ในแต่ละพื้นที่ แต่รู้หรือไม่ว่ากฎกระทรวงของกระทรวงคมนาคม ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 59 ลองมาดูกันสิว่า พี่วินที่เราใช้บริการเป็นประจำหรือพี่วินที่เราเคยใช้บริการใช้อัตราตามกฎหมายในการคิดค่าโดยสารกันบ้างหรือเปล่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงของกระทรวงคมนาคม ว่าด้วยเรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ.2559 ที่ระบุให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ.2548 และกำหนดอัตราจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะใหม่ ดังนี้ 1. ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท 2. ระยะทางเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท 3. ระยะทางเกินกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกัน ก่อนทําการรับจ้าง หากไม่ตกลงกันก่อนทําการรับจ้าง อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท โดยทางทีมงาน Mango Zero ได้ยกตัวอย่างเส้นทางและราคาตามกฏหมายมาให้ดูกันว่าราคาแต่ละเส้นทางมีค่าบริการเท่าไหร่กันบ้าง ตัวอย่างค่าบริการพี่วินตามกฎหมายในเส้นทางยอดนิยม หัวลำโพง ไป เยาวราช = 25 บาท อนุเสาวรีย์ ไป สยาม = 30 บาท อนุเสาวรีย์ ไป สนามหลวง = 60 บาท BTS สนามกีฬา ไป สนามหลวง = 40 บาท ถนนข้าวสาร ไป สนามหลวง = 25 บาท Airport Link รามคำแหง ไป สนามราขมังคลากีฬาสถาน = 35 บาท BTS หมอชิต ไป ขนส่งหมอชิต = 25 บาท BTS หมอชิต ไป อิมแพคเมืองทองธานี = 150 บาท (ในกรณีไม่ตกลงกันก่อนทําการรับจ้าง อัตราค่าโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท [15×10=150]) โดยหมายเหตุในตอนท้ายของประกาศได้ระบุว่าเหตุผลในการเปลี่ยนจากกฎกระทรวงปี 2548 มาเป็นฉบับนี้ เพราะฉบับในปี พ.ศ. 2548 ยังขาดความเหมาะสมและเป็นธรรมในบางกรณีนั่นเอง ที่มา: เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา