หงุดหงิดเพราะมีประจำเดือนไม่ใช่ข้ออ้าง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้หญิง ทั้งอาการทางกายและทางใจ ไม่ว่าจะอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย ไม่สบายตัว
PMS หรือ Premenstrual Syndrome จะเกิดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-10 วัน บางคนอาจจะลากยาวไปจนกว่าจะหมดวันแดงเดือด เรียกได้ว่าเดือนนึงมี 30 วัน อารมณ์แปรปรวนไปแล้ว 15 วัน ถึงจะไม่ได้เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายทุกวัน แต่ถ้าวันไหนทำตัวไม่น่ารักไปบ้าง ก็อยากให้คนรอบข้างเข้าใจ
PMS คืออะไร
PMS หรือ Premenstrual Syndrome กลุ่มอาการที่จะเกิดก่อนมีประจำเดือน ประมาณ 5-10 วัน แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแล้วไม่หาย เพราะอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อมีประจำเดือนไปแล้ว 4-7 วัน
PMS เกิดจากอะไร
ในช่วงของการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน ซึ่งก็คือก่อนวันแดงเดือดจะมาถึงประมาณ 7-10 วัน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะมีการเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุหนึ่งของอารมณ์แปรปรวน รวมไปถึงสารเคมีในสมอง ยิ่งถ้ามีความเครียด หรือภาวะไม่ปกติของสภาพจิตใจอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้นไปอีก
อาการ PMS มีอะไรบ้าง
อาการทางกาย
- รู้สึกตึงหรือเจ็บบริเวณเต้านม
- อ่อนล้า ไม่มีแรง
- หิวบ่อย อยากอาหารตลอดเวลา
- อาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัว ปวดตัว ปวดหลัง
อาการทางความรู้สึกและอารมณ์
- หงุดหงิดง่าย
- เครียด
- ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
ไม่อยากหงุดหงิดง่าย ทำอย่างไรได้บ้าง?
อาการทางกายที่มีสาเหตุมาจาก PMS อาจไม่สามารถแก้ไขได้ 100% เพราะเป็นเรื่องของร่างกาย ส่วนอาการทางใจ แม้จะห้ามกันไม่ได้ แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในช่วงที่มีประจำเดือนอาจออกกำลังกายหักโหมไม่ได้ ที่ทำได้ก็คือการออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ แต่ก่อนหน้านั้นควรจะออกกำลังกายที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ยิ่งช่วงมีประจำเดือนร่างกายจะอ่อนล้าง่ายกว่าปกติ ไม่ควรหักโหมใช้ร่างกายหนักเกินไป นอนหลับให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน
- ทำงานอดิเรก อาจเป็นกิจกรรมที่ชอบ หรือกิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์ วิตามินสูง เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว อาหารทะเล ปลา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อาการทางกายและใจแย่ลงไปอีก
ที่มา
https://www.paolohospital.com/