หน้าร้อนนี้เราจะพาชาวมะม่วงไปสัมผัสบรรยากาศประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวไทใหญ่ ณ บ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ “ปอยส่างลอง” หรือ งานบวชลูกแก้วของชาวล้านนา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี และในปีนี้เราได้มีโอกาสเก็บภาพบรรยากาศประเพณีอันงดงามมาฝากทุกคนกัน
ที่มาของคำว่า ‘ปอยส่างลอง’
ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทใหญ่ มาจากคำว่า “ปอย” นั่นหมายถึง งาน คำว่า “ส่าง” หมายถึง สามเณร ส่วนคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อลอง” ซึ่งหมายถึง พระโพธิสัตว์ ดังนั้น “ปอยส่างลอง” จึงเปรียบเทียบได้กับงานบวชลูกแก้วของชาวล้านนา
ตามความเชื่อหากบ้านไหนมี “ลูกชาย” อายุ 10 ขึ้นไปจะให้บวชลูกแก้ว เพื่อได้ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา ส่างลองจะบวชเป็นระยะเวลา 15 วัน ถึง 1 เดือน และสามารถเลือกวัดได้ตามความสะดวกของแต่ละครอบครัว
วันฮับส่างลอง
ส่วนใหญ่นิยมจัดงานเป็นระยะเวลา 3 วันด้วยกัน วันแรกเรียกว่า วันฮับส่างลอง เป็นวันที่ “อลอง” (ผู้ที่จะบวช) ไปขออนุญาตต่อบิดา มารดา สมาทานเบญจศีล โดยเริ่มเข้าพิธีตั้งแต่รุ่งเช้าเพื่อแต่งองค์ทรงเครื่อง คล้ายเจ้าชายไทยใหญ่
ส่างลองแต่ละคนจะมี “ตะแป” เป็นบริวารที่จะมาทำหน้าที่ดูแลส่างลองตลอดทั้งงาน อาจเป็นญาติพี่น้องของส่างลองก็ได้ ตะแปจะช่วยดูแลตั้งแต่เรื่องแต่งหน้า แต่งตัว และยังเป็นม้าให้ส่างลองขี่คอ เพราะมีความเชื่อว่าห้ามเท้าส่างลองแตะดินจนกว่าจะถึงวันบรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อส่างลองแต่งตัวเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่พิธี “กั่นตอพระสงฆ์”เพื่อขอขมาพระสงฆ์ ต่อจากนั้นตะแปจะพาส่างลองมาฟ้อนรำหน้าวัดเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองต้อนรับ
โดยบรรดาพ่อแม่ และญาติพี่น้องจะโปรยข้าวตอกดอกไม้ เป็นการอนุโมทนาสาธุ และจะแห่ขบวนมาทำพิธีปางเจ้าเมืองต่อที่ศาลเจ้าเมืองประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ และขอความคุ้มครองป้องกันอย่าให้มีภยันอันตรายใดๆ มากล้ำกลาย และอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
จากนั้นส่างลองจะเคลื่อนขบวนไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดต่างๆในหมู่บ้าน และเคลื่อนขบวนกลับพักผ่อน และเยี่ยมญาติพี่น้อง
ตกเย็นจึงเริ่มพิธีอีกครั้งด้วยการแสดงจากชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ที่ลานกิจกรรม ณ วัดผาบ่องเหนือ
ผู้เฒ่าผู้แก่จะทำพิธีผูกข้อมือ มอบเงิน พร้อมอวยพรให้แก่ส่างลอง และส่างลองจะให้พรกลับ ในฐานะหน่อพุทธางกูร
ต่อด้วยพิธีเรียกขวัญส่างลอง และเข้าสู่พิธีป้อนข้าว 12 หมี่ โดยให้ตัวแทนพ่อแม่เป็นผู้ป้อนข้าวให้ส่างลอง เพื่อความเป็นสิริมงคล
วันแห่โคหลู่
วันแห่โคหลู่ หรือการแห่เครื่องไทยธรรม เป็นพิธีสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในงาน เป็นวันที่ชาวบ้านและส่างลองทุกคนจะจัดเต็มที่สุดในวันนี้เพื่อร่วมกันเดินขบวนแห่
เปิดหัวขบวนด้วยผู้สูงอายุชุดขาวอุ้มขันข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีศีลมีธรรม ถัดมาเป็น จีเจ่ (กังสดาลใหญ่) ตีเป็นระยะ เพื่อเป็นการบอกกล่าวถึงเทวดาอารักษ์ให้ทราบถึงบุญใหญ่ของชุมชน
ตามด้วยขบวนอุ๊ป (เครื่องสักการะพระพุทธ) ต่อด้วยม้าเจ้าเมือง เป็นม้าทรงของเจ้าเมืองที่จะต้องอัญเชิญมาร่วมประเพณีด้วยทุกครั้ง
ต่อด้วยต้นตะเป่ส่า (เครื่องใช้สำหรับวัด) ตามด้วยขบวนโควหลู่ (เครื่องอัฐบริขารที่ใช้ในการบรรพชา) ขบวนกลองมองเชิง ขบวนเครื่องไทยธรรม และปิดท้ายด้วยขบวนส่างลอง ขบวนจะแห่รอบหมู่บ้านและไปสิ้นสุดที่วัด ถือเป็นอันสิ้นสุดพิธี
สรุป
- ประเพณีปอยส่างลอง (งานบวชลูกแก้ว)
- เป็นประเพณีของชาวไทใหญ่
- บ้านไหนที่มีลูกชายอายุ 10 ปีขึ้นไปจะบวชเป็นส่างลอง
- จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม – เมษายนของทุกปี
- ปีนี้จัดขึ้นตั้งแต่ 20 มีนาคม – 13 เมษายน 2562
- จัดขึ้นในอำเภอเมือง,อำเภอขุนยวม,อำเภอแม่สะเรียง,อำเภอปางมะผ้า,อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่พาชาวมะม่วงไปร่วมประสบการณ์ที่น่าประทับใจในประเพณีอันแสนงดงามครั้งนี้ หากคนไหนสนใจ สามารถร่วมเข้าชมประเพณีปอยส่างลองได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปีต่อๆไป
รับรองว่าจะได้ชมบรรยากาศพื้นบ้านแบบชาวไทใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนแน่นอนนนน