category จบคอนเสิร์ตแล้วเศร้า นี่เราเป็นอะไร? POST CONCERT DEPRESSION IS REAL


: 27 มีนาคม 2562

จะว่าไปนี่ก็เป็นอีกปีที่ศิลปินจากทั่วโลกเหมือนพร้อมใจยกขบวนกันมาถล่มประเทศไทย ทำให้สาวกน้อยใหญ่เสียทรัพย์ซื้อสุขกันไปกันแบบรัว ๆ แต่บางคนอาจจะพบเจอกับอาการซึม ๆ เศร้า ๆ มันดูเหงา ๆ หลังคอนเสิร์ตจบ ใครเกิดอาการแบบนี้ต้องระวังไว้เลยนะ เพราะคุณอาจจะกำลังมีอาการซึมเศร้าหลังคอนเสิร์ต หรือ Post Concert Depression (PCD) เรามารู้จักกับอาการนี้รวมไปถึงวิธีเอาตัวรอดกันเถอะ!

Post Concert Depression คืออะไร?

Post Concer Depression หรือ PCD คืออาการซึมเศร้าหลังจากจบคอนเสิร์ตนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะ ทุกคนมีอาการนี้กันได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลาอาจจะแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากจบคอนเสิร์ต ไปจนถึงหลายเดือนเลยก็ได้

 

 

Post Concert Depression มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุของอาการ PCD ก็ง่าย ๆ และสมเหตุสมผล นั่นคือเวลาที่เราดูคอนเสิร์ตนักร้องคนโปรดของเรา ร่างกายเราจะมีการหลั่งสารแห่งความสุขต่าง ๆ ออกมาอย่างมากมายจนถึงขั้นท่วมท้นในระยะเวลาสั้น ๆ แบบนี้ร่างกายก็ปรับตัวไม่ทัน พอจบคอนเสิร์ตและรู้ตัวว่าความสุขที่ท่วมท้นเหล่านั้นจะหายไปแล้ว และเราต้องกลับไปใช้ชีวิตปกติ ก็เลยทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นกลุ่มของ PCD นั่นเอง

 

สังเกตตัวเอง เคยมีอาการแบบนี้ไหม?

ใครที่สงสัยว่าเอ๊ะ นี่เรากำลังเจอกับอาการนี้อยู่หรือเปล่านะ หรืออยากรู้ว่าเราเคยเป็นไหมก็ลองมาเช็กดูกันได้ตามลิสต์นี้ได้เลย

  • เปิดเพลงฟังวน ๆ ซ้ำ ๆ อยู่แบบนั้น
  • นึกถึงภาพในคอนเสิร์ตบ่อย ๆ หรือบ่อยจนเกินไป
  • ดูวิดิโอและภาพถ่ายตอนไปคอนเสิร์ตอย่างไม่รู้เบื่อ
  • ใช้สินค้าหรือสิ่งของที่ได้มาจากคอนเสิร์ตเป็นเดือน ๆ
  • หยุดหาคอนเสิร์ตที่อื่นไม่ได้ อยากไปดูอีก

 

PCD รู้สึกเหมือนการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

คงจะไม่น่าแปลกใจถ้าจะบอกว่าการก้าวข้ามผ่านอาการ PCD ก็มีขั้นตอนเหมือนกับการก้าวข้ามผ่านการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อย่างการเลิกกับคนรักที่คบกันมาเป็นสิบปี การสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รัก หรือการสูญเสียคนในครอบครัวกันเลยทีเดียว

 

ก้าวข้าม PCD ด้วย 5 Stages of Grief

กว่าจะผ่านอาการ PCD ทั้งหมดไปได้ ทุกคนก็ต้องผ่าน 5 Stages of Grief ก่อน มาดูกันว่าเราจะผ่านแต่ช่วงไปได้อย่างไร

  1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับว่าคอนเสิร์ตจบลงไปแล้ว และศิลปินบินกลับไปแล้ว เราจะไม่ได้เจอเขาอีกเร็ว ๆ นี้แน่นอน ปฏิเสธทุกอย่าง ไม่อยากยอมรับความจริง
    วิธีรับมือ : หาอย่างอื่นทำที่ดึงดูดความสนใจเราได้ อย่างการดูหนัง ออกไปอีเว้นท์อื่น ๆ ให้เราได้อยู่กับอย่างอื่นบ้าง
  2. โกรธ ช่วงนี้เราจะโกรธ ๆ อ่ะนะเวลามีคนเข้ามาถามว่า “คอนเสิร์ตวันก่อนเป็นไงบ้าง ดีไหม” เราก็จะคิดในใจว่าถามอะไรเนี่ย ยิ่งพูดยิ่งอยากดูอีก โถ่ ไม่น่ามาถามเลย หรือบางทีโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดีย แล้วคนกดไลก์ไม่เยอะ ก็พาลโมโหอีกว่าทำไมคนไม่สนใจเลย นี่มันวงโปรดของเราเลยนะ
    วิธีรับมือ : มีสติเข้าใจ ไว้เย็น ๆ เพื่อน ๆ ถามก็เพราะเขาอยากดูนั่นแหละแต่ไม่ได้ไปดู และเห็นว่าเราชอบวงนี้มาก มีสติเข้าไว้ แล้วจะดีเอง
  3. ต่อรอง ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราได้ดูคอนเสิร์ตนั้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสียเงินซื้อตั๋วเครื่องบินแพง ๆ เพื่อให้ได้ไปดูคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศอีกครั้งเพียงเพราะแค่อยากมีความสุขแบบนั้นอีก
    วิธีรับมือ : นิ่งไว้ ถ้าต้องถึงขั้นฝากบัตรทีใ่ช้จ่ายเงินไว้กับแม่ก็เอาไปฝากไว้เถอะ ไม่งั้นสติหายขึ้นมากดจองตั๋วไปนี่คงแก้ยาก ถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ เอาเงินไปซื้อแฟนอาร์ต สติ้กเกอร์ ถุงผ้าสกรีนหน้าศิลปินยังจะดีกว่าอีก
  4. ช่วงซึมเศร้า ช่วงนี้เรียกว่าหนักหน่วงที่สุดแล้วใน 5 ช่วง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือชีวิตเรามันช่างไม่มีความสุขเอาซะเลยเมื่อเทียบกับช้วงเวลาที่เราไปดูคอนเสิร์ต (แน่ล่ะสิ ช่วงนั้นอะดรีนารีนหลั่งสูงปรี๊ดซะขนาดนั้น) เอาแต่คิดถึงช่วงคอนเสิร์ตว่ามันดีมาก ๆ มากเกินกว่าที่จะเป็นความจริงได้ เราจะได้รู้สึกแบบนั้นอีกไหม และอีสารพัด
    วิธีรับมือ : พยายามทำตัวให้เป็นเหมือนกับตอนก่อนจะได้ดูคอนเสิร์ต ค่อย ๆ ปรับวงจรชีวิตให้กลับไปเหมือนช่วงนั้น รับรองว่าช่วยได้แน่นอน
  5. ยอมรับ แน่นอนว่าช่วงสุดท้ายก็คือการที่เรายอมรับได้แล้วว่าวงอันเป็นที่รักของเราก็ต้องเดินหน้าไปสร้างความสุขให้กับคนอื่น ๆ และเราก็มีหน้าที่ของเรา ทำงานเก็บเงินไว้ดูคอนเสิร์ตครั้งต่อไป แถมมองกลับมาช่วงคอนเสิร์ตที่ไรก็ก็ยิ้มทุกที
    วิธีรับมือ : ไม่มีอะไรมาก หวังว่ามาถึงตรงนี้ ทุกคนจะมีความสุขกับสุดยอดความทรงจำของตัวเองกันนะ

 

สรุป PCD อันตรายไหม?

บอกตรงนี้เลยว่าการที่ร่างกายเราผลิตสารแห่งความสุขต่าง ๆ ออกมาสูงมาก ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ หรือกระทันหันเนี่ย ก็มีความเสี่ยงทำให้เกิดอาการหัวใจวายเหมือนกันนะ และถ้ารอดมาได้และมาเจอกับอาการ Post Concert Depression แทนก็บอกเลยว่าไม่อันตราย แต่ถ้าคิดว่ามันทำให้ใช้ชีวิตลำบาก ทางที่ดีก็ควรไปพบแพทย์นะจ๊ะ

 

Writer Profile : มะขิ่น
Content Creator ที่ชอบอ่านหนังสือ รักการฟังเพลง และบูชาภาพยนตร์ ใช้เวลาว่างในการทำช่องยูทูปสอนภาษาอังกฤษ
Blog : Pumkinz's Area Social Media : Facebook, Twitter
View all post

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save