ปัญหาโลกแตกของข้าวโพดคั่วไมโครเวฟที่ทุกคนต้องเคยเจอกันบ้างแหละ บางทีก็ออกมาเป็นก้อนดำเมี่ยงควันขโมง ติดกลิ่นไหม้จนไม่อร่อยไปเลย บางทีก็คิดว่าดีแล้ว แต่เอ๊ะ ทำไมมีเมล็ดอยู่ก้นชามเต็มไปหมดเลยหว่า (ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่าแบบหลังยังดีกว่าแบบแรก)
แต่ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาถ้าเราคำนึงถึงปัจจัยสำคัญเวลาทำข้าวโพดคั่วไมโครเวฟ (นอกจากอ่านวิธีทำข้างกล่อง) เช่นเวลาและความร้อน ถ้าเราสามารถควบคุมปัจจัยสองจุดนี้ได้ การทำป๊อบคอร์นจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป! เตรียมเข้าสู่คอร์สป๊อบคอร์นเร่งด่วนได้เล้ย!
ประเภทของข้าวโพดคั่ว
ป๊อบคอร์นที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้มีอยู่สองประเภทหลักๆ คือ Butterfly (หรือ Snowflake) กับ Mushroom ซึ่งสองประเภทนี้นอกจากจะแตกต่างกันทางหน้าตาแล้ว ยังแตกต่างกันในแง่ของการใช้งานอีกด้วย! ถึงแม้ว่าจะเป็นข้าวโพดคั่วเหมือนกัน แต่รสสัมผัสและรูปร่างของแต่ละชนิดทำให้เหมาะกับรสชาติใดรสชาติหนึ่งมากกว่า และความแตกต่างในอายุขัยของแต่ละประเภทอีกด้วย
Butterfly หรือข้าวโพดคั่วปกติที่เรามักจะเห็นในป๊อบคอร์นไมโครเวฟหรือตามโรงหนังทั่วไป รูปทรงของข้าวโพดคั่วแบบผีเสื้อเหมาะกับการรับประทานทันทีหลังคั่วร้อนๆ ด้วยสัมผัสที่บอบบางทำให้แบบ Butterfly ไม่เหมาะกับการเคลือบน้ำตาล คาราเมลหรือซอสอื่นๆ เท่าไรนัก แต่เหมาะกับผงปรุงรสมากกว่า หรือจะแค่โรยเกลือก็เด็ดแล้ว!
Mushroom มักจะเป็นที่คุ้นเคยเวลาเราเห็นป๊อบคอร์นแบบกูร์เมต์ พื้นผิวและสัมผัสที่หนาแน่นกว่าแบบ Butterfly และด้วยรูปทรงโดมทำให้เหมาะกับการเคลือบคาราเมล ราดซอสหวานโดยที่ยังคงความกรอบของข้าวโพดคั่วได้อยู่ ข้าวโพดคั่วแบบเห็ดสามารถเก็บได้นานกว่าแบบผีเสื้อ จึงเป็นที่นิยมสำหรับป๊อบคอร์นประเภทสำเร็จรูป หรือซื้อกลับบ้านไปกินได้โดยไม่เสียรสสัมผัสง่ายๆ
Microwave Popcorn 101
จำข้อความนี้ไว้ให้ดีแล้วลืมปุ่มป๊อบคอร์นที่มากับไมโครเวฟได้เลย ไฟแรง สองนาทีครึ่งคือเซ็ตติ้งไมโครเวฟที่ผ่านการลองผิดลองถูกมานักต่อนักแล้วว่าอันนี้แหละเซฟสุด! แต่อย่าตั้งทิ้งไว้แล้วเดินไปทำอย่างอื่นเชียว ป๊อบคอร์นไมโครเวฟแต่ละถุงใช้เวลาในการคั่วไม่เท่ากัน ระหว่างสองนาทีครึ่งก็ต้องเฝ้าดีๆ หน่อยนะ
เสียงและกลิ่นเป็นสัญญาณสำคัญเวลาอบป๊อบคอร์นไมโครเวฟ แบรนด์ข้าวโพดคั่วไมโครเวฟ Pop Secret ได้บอกเคล็ดลับไว้ว่าให้จับสังเกตเสียงข้าวโพดคั่วไว้ให้ดี ถ้าระยะระหว่างเสียง “ป๊อบ” เริ่มห่างกันถึง 2-3 วินาที ให้ดับไฟและเอาถุงออกได้เลย เพราะนานกว่านี้บอกเลยว่าไหม้แน่ๆ!
ส่วนกลิ่นเองก็เป็นสัญญาณที่ชัดอยู่แล้ว ถ้าเริ่มได้กลิ่นหอมลอยออกมา ก็แปลว่าสามารถเอาออกจากไมโครเวฟได้แล้วเร็วๆ นี้ (หรือจะทิ้งไว้อีกสักหน่อยเพื่อความชัวร์) แต่ถ้านานกว่านี้คงไม่ไหว เพราะป๊อบคอร์นอาจจะแห้งหรือไหม้ได้นะ
แบบนี้สุกแล้วหรือยัง?
จากการทำข้าวโพดคั่วไมโครเวฟมาแล้วนับกว่าหลายครั้ง ผลลัพธ์หลังจากเปิดซองออกมาก็มีอยู่ไม่กี่แบบ แต่หลักๆ แล้วมีอยู่สี่จำพวกด้วยกัน ซึ่งเราได้แบ่งมาเป็นสี่ระดับง่ายๆ ให้ดูกันตามนี้
- ดิบ: รสชาติกำลังอร่อย แต่มีจำนวนเมล็ดเหลืออยู่ก้นถุงมาก
- สุก: จุดสูงสุดของข้าวโพดคั่วไมโครเวฟ กลิ่นหอม สีเหลืองสวยและยังคงรสชาติไว้อยู่ จำนวนเมล็ดดิบเหลืออยู่ก้นถุงน้อยหรือไม่มีเลย
- สุกมาก: ข้าวโพดคั่วที่เริ่มอยู่ในไมโครเวฟนานกว่าปกตินิดหน่อย มีเมล็ดเหลือก้นถุงน้อย แต่แลกมากับรสชาติและกลิ่นที่ออกจะชืดๆ ไปบ้างแล้ว
- ไหม้: แห้ง ร่วน และสภาพเกินเยียวยา ข้าวโพดคั่วจับตัวกันเป็นก้อนไหม้ดำๆ มีกลิ่นควันฉุน ทำถุงใหม่เลยก็ได้แบบนี้
ข้าวโพดคั่วไมโครเวฟ DIY
เอาเข้าจริงข้าวโพดคั่วไมโครเวฟที่เราซื้อกันตามร้านค้าทั่วไปก็ใช่ว่าจะถูก ถ้าเรามองในแง่ค่าใช้จ่ายก็ดูไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไรนักสำหรับการซื้อมากินบ่อยๆ จีงได้ผลสรุปว่าทำเองน่าจะคุ้มกว่า โชคดีที่วิธีทำก็ไม่ยาก ใครๆ ก็ทำได้ ซึ่งมีอยู่สองวิธีด้วยกันคือการทำในชาม หรือทำในถุงกระดาษ
ทำข้าวโพดคั่วไมโครเวฟในชาม
- ใส่น้ำมันหรือเนย 1 ช้อนโต๊ะในชามที่ใส่ไมโครเวฟได้ ใส่เกลือปรุงรสตามอัธยาศัย
- ใส่เมล็ดข้าวโพดดิบ 4 ช้อนโต๊ะลงในชาม คลุกให้เข้ากัน
- วางจานครอบชามไว้ก่อนนำเข้าไมโครเวฟ อย่าปิดปากชามสนิท ให้เหลือพื้นที่ระบายอากาศไว้ หรือ นำกระดาษไขมาครอบปากชามไว้ รัดให้แน่นด้วยหนังยางแล้วเจาะรูระบายอากาศ
- นำเข้าไมโครเวฟตามเวลาที่กำหนด (ไฟแรง 2.30 นาที) จนกว่าจะสุกหรือได้ยินเสียงป๊อบห่างกันถึง 2 วินาที
ทำข้าวโพดคั่วในถุงกระดาษคราฟต์
- ใส่น้ำมันหรือเนย 1 ช้อนชาในชาม ใส่เกลือปรุงรสตามอัธยาศัย
- ใส่เมล็ดข้าวโพดดิบ 8 ช้อนโต๊ะลงในชาม คลุกให้เข้ากัน
- ตักทั้งหมดใส่ถุงกระดาษคราฟต์ พับปากถุงสองทบ
- นำเข้าไมโครเวฟตามเวลาที่กำหนด (ไฟแรง 2.30 นาที) จนกว่าจะสุกหรือได้ยินเสียงป๊อบห่างกันถึง 2 วินาที
ทำป๊อปคอร์นกินเองแบบจุใจได้ที่บ้าน -> ไมโครเวฟป๊อปคอร์นนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา