พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทย อยู่ด้วยความเร่งรีบ การใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารจึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็จะทิ้งทันที น้อยครั้งที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านตัน หรือประมาณ 12% ของขยะทั้งหมด แต่พบว่ามีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เพียง 0.5 ล้านตัน ส่วนอีก 1.5 ล้านตัน จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอย พบว่าเป็น ถุงร้อน ถุงหูหิ้ว แม้จะมีวิธีการจัดการด้วยขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่กลับพบว่าขยะพลาสติกถูกทิ้งเกลื่อนกลาดให้ย่อยสลายด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ใช้ระยะเวลาถึง 400 ปีเลยทีเดียว
“ขยะพลาสติก” กับการจัดการ
1.การฝังกลบ
ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน และไม่คุ้มกับต้นทุนในการจัดเก็บ/ล้างทำความสะอาด พบว่า เป็นถุงร้อน ถุงเย็นที่ใช้บรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว ถุงซองพลาสติก แต่วิธีนี้เป็นปัญหาต่อระบบการจัดการขยะมูลฝอย เนื่องจากขยะดังกล่าวมีความคงทน ย่อยสลายตามธรรมชาติยาก ทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ฝังกลบและงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอย
2.การนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล (Recycle) และ การใช้ซ้ำ(Reuse) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ให้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่ปัจจุบันมีการนำกลับเข้าสู่ โรงงานเพื่อรีไซเคิลเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่งผลให้มีถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในรูปแบบต่างๆ คงอยู่ใน สภาพแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
พลาสติกกับประเทศไทย
ปริมาณความต้องการและการใช้งานพลาสติกเกิดขึ้นเกือบทุกสาขา แบ่งออกเป็น
- บรรจุภัณฑ์ (Packaging)
- เฟอร์นิเจอร์ (Furniture)
- ขนส่งยานยนต์ (Transport)
- ก่อสร้าง (Construction)
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ (Electrical & Electronics)
- เครื่องใช้ในครัวเรือน (Housewares)
สถิติการผลิตพลาสติก ในประเทศไทย
มีสัดส่วนการใช้พลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) มากที่สุด และเป็นการใช้ใน ระยะสั้นก่อให้เกิดขยะมากที่สุด โดยในปี 2558 มีการการใช้พลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) สูงถึง 2.048 ล้านตัน
- ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทถุง 0.476 ล้านตัน
- ผลิตถาดโฟม 0.09 ล้านตัน
- บรรจุ ภัณฑ์อื่น (กล่อง ถ้วย ฯลฯ) 1.482 ล้านตัน
ที่มา : กรมควบคุมมลพิษ
หากเราสามารถ ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกลงได้ ปริมาณขยะพลาสติกก็จะลดตามไปด้วยและไม่ส่งผลกระทยต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมแน่นอน ดูวิธีลดถุงพลาสติกได้ ที่นี่ นะคะ