Mango Zero

เมื่อโลกหันหลังให้ถุงพลาสติก…มาตรการลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกของ 10 ประเทศทั่วโลก

ช่วงนี้กระแสรณรงค์ลด-ละ-เลิกใช้ถุงพลาสติกกลับมาคึกคักอีกครั้งในบ้านเรา ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างช่วยกันออกแคมเปญให้คนรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงแนะนำวิธีแก้ปัญหา ง่ายสุดก็เช่นให้หันมาใช้ถุงผ้าแทน เวลาไปจับจ่ายซื้อของ

 

แต่ทุกปี ก็ยังมีขยะพลาสติกในปริมาณมากอยู่ดี อาจเพราะวิธีกำจัดถุงพลาสติกนั้นไม่ง่าย แถมต้องใช้เวลาเยอะ นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันต้องใช้ปฏิกิริยาชีวเคมี, ใช้สมบัติการละลายในน้ำ, ใช้ความร้อนหรือแสงแดด หรือรีไซเคิล เมื่อเทียบกับสถิติการใช้ถุงพลาสติกของคนในโลก คือโดยเฉลี่ยต่อวัน คนละ 12 นาที แต่มีการรีไซเคิลถุงพลาสติกที่เราใช้ เพียง 1ถุงจาก 200 ถุง และในหนึ่งปี ก็มีการใช้ถุงพลาสติกแบบ‘ใช้ปุ๊บทิ้งปั๊บ’ ถึง 5 แสนล้านใบ หรือ150 ใบต่อคนต่อปี ใช้วินาทีละ 160,000 ใบ – การกำจัดมันจึงดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

หลายประเทศทั่วโลกจึงออกมาตรการอย่างจริงจัง เข้มงวด และเด็ดขาดให้คนงดใช้ถุงพลาสติก บ้างก็เป็นความผิดทางกฎหมายอย่างรุนแรง บ้างถึงกับเปรียบมันเป็นภัยร้ายเท่ากับยาเสพติดเลยทีเดียว! ซึ่งก็มีเกิน 120 ประเทศแล้วที่ประกาศอย่างเป็นทางการ Mango Zero ขอยกตัวอย่างมาให้รู้กันสัก 10 ประเทศ ว่าแล้วก็อย่าลืม ร่วมเป็นหนึ่งแรงในการลดละเลิกใช้ถุงพลาสติก คว้าถุงผ้าออกไปข้างนอกกันเถอะ!

Kenya 

เคนย่าประกาศตัวเป็นศัตรูกับถุงพลาสติกในปี 2017 โดยบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดเข้มงวด ใครจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 เหรียญฯ หลังปัญหาขยะล้นเมืองจากการใช้ถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างสาหัส เคยมีการคาดการณ์ว่า ชาวเคนยาใช้ถุงพลาสติกแต่ละเดือนมากถึง 24 ล้านใบ! จนมีแคมเปญรวมพลังจริงๆ จังๆ ผ่านแฮชเท็ก #ISupportBanPlasticsKE เริ่มจากช่างภาพ เจมส์ วากิเบีย ในปี 2015 ก่อนมีกฎหมายออกมาในที่สุด

ที่มา: https://www.dw.com/en/visiting-kenya-a-year-into-its-plastic-bag-ban/a-45254144

 

Bangladesh

บังคลาเทศเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกมาตรการแบนถุงพลาสติกอย่างเด็ดขาดในปี 2002 ประกาศกฎหมายห้ามผลิตและให้ถุงพลาสติกแก่คนซื้อ ฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ 2,000 เหรียญฯ ที่ต้องเด็ดขาดขนาดนี้ ก็เพราะขยะตัวร้ายนี่แหละที่ไปอุดตันในท่อระบายน้ำ จนเป็นสาเหตุให้บังกลาเทศเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 1988 กับ 1998 และพอบังคลาเทศแสดงท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ ก็มีอีกหลายประเทศที่ออกมาตรการงดใช้ถุงพลาสติกอย่างเข้มงวดตามมา อาทิ รวันดา, เคนย่า, จีน, ไต้หวัน หรือ มาซีโดเนีย

ที่มา: https://www.worldatlas.com/articles/which-countries-have-banned-plastic-bags.html

 

South Korea 

เกาหลีใต้คือน้องใหม่ในเรื่องนี้ เพราะเพิ่งบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง เมื่อต้นปีนี้เอง โดยสั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ทั่วประเทศใช้ถุงพลาสติก มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายกว่า 2,000 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 165 ตารางเมตรขึ้นไป อีกเกิน 11,000 แห่ง ถ้าฝ่าฝืนอาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 3 ล้านวอน (ราว 87,500 บาท) โดยกฎหมายนี้ นอกจากจะเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ยังเพื่อสนับสนุนการรีไซเคิลขยะด้วย

ที่มา: https://resource.co/article/south-korea-latest-country-ban-single-use-plastic-bags-13028

 

Rwanda

รวันดามีสิทธ์จะเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศปลอดการใช้ถุงพลาสติกประเทศแรกในโลกได้อย่างเต็มปาก เพราะเป็นเวลา 10 ปี มาแล้วที่มีคำสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกทั่วประเทศ ไม่พอ ยังห้ามนำเข้าถุงพลาสติกจากต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังรวันดา จะได้รับคำเตือนในเรื่องนี้ และต้องปฏิบัติตาม ไม่งั้นจะถูกห้ามเข้าประเทศ (ยกเว้นว่าจะใช้ในอุตสาหกรรมที่จำเป็นต่อชีวิตเท่านั้น เช่น ในโรงพยาบาล)

ใครฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ทั้งจำคุกสูงสุด 6 เดือนในกรณีที่ลักลอบนำเข้ามา ผู้บริหารในบริษัทที่ใช้ถุงพลาสติกก็อาจถูกจำคุกนาน 1 ปี และในบางกรณี ผู้ทำผิดกฎหมายยังต้องเขียนจดหมายประจานความผิดตัวเองด้วย!

เคร่งครัดขนาดนี้ ทำให้ผ่านไป 4 ปี “กรุงคิกาลี” เมืองหลวงของรวันดา เลยกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสุดสะอาดและปลอดการใช้ถุงพลาสติกไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ถุงพลาสติกก็กลายเป็นสินค้า ‘เถื่อน’ ที่มีคนรับจ้างขนมาจากประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมาย คล้ายยาเสพติดก็มิปาน

ที่มา: http://america.aljazeera.com/articles/2016/2/25/rwanda-plastic-bag-ban.html

 

Canada 

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เผยเองว่าขยะพลาสติกในประเทศ ถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 10% ปริมาณขยะเลยมากจนกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ไหนจะขยะที่ถูกโยนทิ้งลงทะเลจนไปเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอีก แคนาดาจึงประกาศแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่เป็นอัยตรายต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2021 เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเด็ดขาด ของอย่างถุง หลอด ช้อนส้อม จานชาม และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เข้าข่ายนี้หมด

ทรูโดมองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเร่งด่วนที่แคนาดามุ่งมั่นจะแก้ไขให้สำเร็จให้ได้ เป็นอันดับต้นๆ

ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48477087

 

France

เมืองน้ำหอมออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก และผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ใส่อาหารทุกชนิด โดยเริ่มจากใช้กับซูเปอร์มาเก็ตก่อน แล้วภายในปี 2020 (เลื่อนมาจากปี 2017) จะให้คนในประเทศหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถย่อยสลายได้แทนพลาสติก เพื่อก้าวไปเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ลบล้างภาพของประเทศที่เคยมีตัวเลขที่มีการทิ้งแก้วพลาสติกถึง 4.73 พันล้านใบ และใช้ถุงพลาสติกในซูเปอร์มาเก็ตถึง 1.7 หมื่นล้านถุง ในปี 2015

ที่มา: https://hipparis.com/2018/12/06/france-expands-single-use-plastic-ban-for-2020/

 

China 

แดนมังกรมหาอำนาจของโลก เริ่มใช้กฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติกในปี 2008 โดยห้ามห้างร้านหรือร้านค้าให้ถุงพลาสติกที่มีความบางกว่า 0.25 มิลลิเมตรแก่ผู้ซื้อ หรือต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียมจาการใช้ถุง หนึ่งปีผ่านไป ห้างใหญ่ๆ ในจีนลดการใช้ถุงได้ถึง 60-80 % ลดถุงพลาสติกไปประมาณ 40 ล้านใบ รวมถึงยังมีมาตรการสมัครใจให้คนลดใช้ถุงพลาสติกในวันปลอดการใช้ถุงพลาสติก และมีแคมเปญรณรงค์มาตลอด

แต่อาจเพราะเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรเยอะ เลยยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการสร้างขยะถุงพลาสติกมากที่สุดในโลกอยู่ดี และการบังคับใช้กฎหมายนี้ก็ยังมีปัญหา ในร้านค้าปลีกเล็กๆ ยังมีให้ถุงพลาสติกแก่ผู้ซื้ออยู่

ที่มา: http://www.chinadevelopmentbrief.cn/articles/10-years-on-from-the-ban-on-free-plastic-bags/

 

India 

อีกประเทศใหญ่ของโลกอย่างอินเดีย ก็เริ่มสั่งแบนใช้ถุงพลาสติกที่หนากว่า 20 ไมโครเมตร ตั้งแต่ปี 2002 ปีเดียวกับบังคลาเทศเลย เพราะอย่างที่ทราบ อินเดียมีประชากรมากติดอันดับโลก เป็นรองแค่จีน ขยะถุงพลาสติก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนใช้โดยทั่วไป จึงมากตาม มากถึงขั้นมีเกลื่อนพื้นที่ ไปอุดตันตามท่อจนน้ำท่วม ทั้งยังส่งผลให้วัว ซึ่งเป็นสัตว์มงคลของผู้นับถือศาสนาฮินดู เสียชีวิตจากการเผลอกินถุงพลาสติกที่ปะปนอยู่กับอาหาร

ในปี 2009 กรุงเดลี เมืองหลวง ก็ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในร้านค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านอาหาร ร้านขายของชำ และโรงพยาบาลขนาด 100 เตียงขึ้นไป หรือปี 2016 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินเดีย ก็ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกโพลิเอทิลีนที่บางกว่า 50 ไมโครเมตร และหลายๆ รัฐก็ออกระเบียบบังคับใช้เองในระดับเทศบาล

ที่มา: https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/02/india-single-use-plastic-bans-maharashtra-tamil-nadu/

 

Morocco

แอฟริกาเป็นทวีปที่เอาจริงเอาจังเรื่องงดใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดทวีปหนึ่งในโลก เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาก็เป็นทวีปที่ผลิตและใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดในโลกเช่นกัน อย่างในโมร็อกโก ที่นี่เคยมีอัตราการใช้ถุงพลาสติกสูงถึงปีละ 3 พันล้านใบต่อปี สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จนรัฐบาลโมร็อกโกต้องออกประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี 2009 แล้วค่อยห้ามผลิต ซื้อขาย นำเข้า และส่งออกถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

นอกจากจะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติกภายในประเทศ ยังเพื่อเป้าหมายในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประเทศสีเขียวที่สะอาดและน่าอยู่

ที่มา: https://www.getaway.co.za/travel-news/countries-that-have-banned-plastic/

 

Thailand 

แม้จะไม่มีนโยบายหรือข้อบังคับจากรัฐที่ชัดเจน แต่เอกชน ศูนย์การค้าใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ก็มีการณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก เพื่อสร้างพฤติกรรมการงดใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนทัศนคติและความเคยชิน

อย่างในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล (International Plastic Bag Free Day) หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงห้างสรรพสินค้า ก็ร่วมกันรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติก

ห้างในเครือเดอะมอลล์ ประกาศกร้าวขอเป็นห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตปลอดถุงพลาสติกแห่งแรกในไทย ผ่านโครงการTHE MALL GROUP GO GREEN: GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน

หรืออย่าง 7-Eleven ก็มีโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้” ถ้าลูกค้าไม่รับถุง จะนำเงินค่าถุง 20 สตางค์ไปสมทบทุนบริจาค 77 โรงพยาบาลทั่วไทย, Family Mart จำหน่ายถุงกระดาษ โดยหักรายได้จากค่าใช้จ่ายไปมอบให้กับมูลนิธิอนุรักษ์สัตว์ทะเล หรือ Max Value ก็มีแคมเปญรณรงค์ให้ลูกค้าใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก

เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติก โดยไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมถึง 2.7 ล้านตัน (เฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน) แบ่งเป็นถุงพลาสติก 80% (ประมาณ 2 ล้านตัน) ขยะโฟมประมาณ 700,000 ตัน ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี!

ที่มา: https://www.th.undp.org/content/thailand/en/home/presscenter/pressreleases/2019/no-place-for-plastics-in-sustainable-cities.html

https://www.bltbangkok.com/CoverStory/ถุงพลาสติก-ขยะพลาสติก-ถุงผ้า-ถุงรีไซเคิล-ภาวะโลกร้อน