โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2 เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรผ่านกระบวนการฝึกฝน พัฒนา รู้จักใช้ “ความคิดเชิงออกแบบ” หรือ Design Thinking ผ่านการออกแบบบอร์ดเกมการเรียนรู้เพื่อร่วมกันหาวิธีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมในมิติต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ชุมชน การศึกษา สังคม หรือมิติอื่นๆ รอบตัวที่ผู้เข้าร่วมโครงการสนใจหยิบยกมาพัฒนา สื่อสารประเด็นปัญหาและวิธีการแก้ไขไปยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ ทีม Herb Herb ที่ประกอบไปด้วยนางสาวพัชรา นวลหุ่น, นางสาวชลาลัย แหลมกล้า, นางสาวกุลยา เกิดมงคล และนายพงศธร กัลยานุกูล จากโรงเรียนปราจีนกัลยาณี ที่เข้าร่วมโครงการและเป็นผู้ออกแบบเกม ‘Pick Herb Up’ บอร์ดเกมสมุนไพรไทย ที่หยิบเอาภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นเกมที่ทั้งให้ความสนุกและความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ เรามาทำความรู้จักกันเลยดีกว่าว่า บอร์ดเกม ‘Pick Herb Up’ มีความเจ๋งและน่าสนใจอย่างไร ทำไมต้องเป็น ‘Pick Herb Up’ และสมุนไพรไทยเกี่ยวข้องกันอย่างไร ? จากโจทย์ของโครงการออกแบบ ออกแบบสังคม ที่ให้แต่ละทีมออกแบบบอร์ดเกมเพื่อพัฒนาสังคมจากประเด็นใกล้ตัว น้องๆ ทีม Herb Herb เล่าว่า เดิมทีไม่ได้คิดว่าจะออกแบบบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับสมุนไพร แต่หลังจากได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนถึงจุดเด่นและเอกลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ก็ได้รับคำตอบว่า “สมุนไพร” เป็นของดีใกล้ตัวแต่เพื่อนๆ เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าใจเกี่ยวกับสรรพคุณและการนำสมุนไพรไทยมาใช้ประโยชน์ได้จริง “พวกเราเริ่มศึกษาและเจาะลึกลงไปในประเด็นสมุนไพรไทย และพบว่ามีสมุนไพรเป็นของใกล้ตัว แต่เราไม่เคยทราบว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงหรือบรรเทาโรคต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้เราตระหนักได้ว่าสมุนไพรเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจากธรรมชาติ แต่เยาวชนและคนรุ่นใหม่กลับไม่ค่อยให้ความสนใจ พวกเราจึงต้องการสร้างบอร์ดเกมที่มุ่งเน้นให้เยาวชนในท้องถิ่นได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพร รู้สรรพคุณของยาสมุนไพรแต่ละชนิด และตระหนักถึงคุณค่าของสมุนไพร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นและผลิตขึ้นได้จากในชุมชนของตนเอง” จากกลุ่มเด็กผู้ไม่รู้จักบอร์ดเกมสู่นักออกแบบเกมเยาวชนไทย คุณครูปิญานันท์ ศรีสันเทียะ คุณครูอุไรวรรณ สุขขา อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองคนบอกเราว่า น้อง ๆ จากโรงเรียนปราจีนกัลยาณีเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่คุ้นเคยกับการเล่นบอร์ดเกมมากเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบเล่นบอร์ดเกม และเห็นว่าบอร์ดเกมเป็นสิ่งที่ช่วยให้พัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้นักเรียนได้มากมาย จึงนำบอร์ดเกมมาประยุกต์ใช้กับการสอน ประจวบกับได้ทราบข่าวการเปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคมรุ่น 2 จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีจึงส่งนักเรียนเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ น้อง ๆ ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า แม้ว่าก่อนเข้าร่วมโครงการจะไม่คุ้นเคยกับบอร์ดเกม แต่คิดว่าเป็นโอกาสอันดีในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งทางโครงการฯ ได้ทำให้รู้จักบอร์ดเกมแนวต่างๆ กลไกของเกม รวมไปถึงวิธีการทำเกม ทั้งจากการอบรมโมดูลต่างๆ ที่มีเหล่ากูรูวงการบอร์ดเกมมืออาชีพมาถ่ายทอดความรู้กันอย่างเข้มข้น การลองเล่นบอร์ดจริงทั้งเกมที่มีกลไกต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมไปถึงบอร์ดเกมจากโครงการฯ รุ่นที่ 1 ซึ่งทำให้เข้าใจถึงวิธีการคิด วิธีการเล่น ซึ่งช่วยจุดประกายการออกแบบบอร์ดเกมได้ รวมไปถึงยังทำให้เห็นว่าสามารถนำบอร์ดเกมมาใช้เป็น “เครื่องมือการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา” ได้อีกด้วย เสริมทักษะ Design Thinking ออกแบบบอร์ดเกมแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไอเดียสำคัญของโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม คือ ‘การส่งเสริมความเป็นนวัตกร’ โครงการฯ จึงได้เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นนวัตกรให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการโดยการใช้กระบวนการออกแบบเกมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ หนึ่งในทักษะสำคัญคือ “การคิดเชิงออกแบบ” หรือ Design Thinking ที่ช่วยให้เรามีความคิดแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ มีกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และกระตุ้นการตั้งคำถามต่อสิ่งรอบตัว น้องๆ ทีม Herb Herb เล่าว่า “ช่วงเริ่มพัฒนาบอร์ดเกม Pick Herb Up เรามีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรน้อยมาก เราจึงต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก ลงพื้นที่หาข้อมูลทั้งที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศและสวนสมุนไพรหลายแห่งในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพอเราได้ข้อมูลที่มีความรู้เชิงลึกที่ซับซ้อนมากขึ้นในปริมาณมาก การพัฒนาเกมของเราก็ยากขึ้นด้วย เพราะเราอยากใส่ข้อมูลที่เราหาได้ลงไปเยอะๆ ซึ่งนั่นทำให้การออกแบบเกมมีความติดขัด แต่พอเราเริ่มเรียนรู้ Design Thinking ก็ทำให้เราสามารถจัดการความคิดของเราเป็นระบบได้มากขึ้น เห็นภาพกว้างของเกม ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาบอร์ดเกมให้ต่างออกไปจากเดิมและกลับมาโฟกัสวัตถุประสงค์ที่เราตั้งต้นไว้ได้มากยิ่งขึ้น” นอกจาก Design Thinking แล้ว น้องๆ ก็ยังได้เรียนรู้ทักษะและความรู้อีกมากมายตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งหลังจากที่ได้ความรู้อย่างเต็มที่และได้พัฒนาบอร์ดเกมของตนเองอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ละทีมต้องนำเกมของตนไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายในกิจกรรม “On-Site Implementation” เพื่อทดสอบว่าเกมที่ออกแบบนั้น สามารถสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก หรือวิธีการแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมกับการประเมินผลจากเหล่าคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของนวัตกรและคุณภาพของบอร์ดเกมที่พวกเขาสร้างขึ้น จากเยาวชนผู้พัฒนาบอร์ดเกม สู่การเป็นนวัตกรในอนาคต นอกจากน้องๆ ทีม Herb Herb จะได้สร้างสรรค์บอร์ดเกมเพื่อสร้างความตระหนักถึงสมุนไพรไทยตามวัตถุประสงค์และความตั้งใจของน้องๆ ซึ่งทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่าการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมนั้น สามารถเริ่มได้จากการลงมือทำของตัวเราเอง อีกสิ่งสำคัญที่น้องๆ ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ในครั้งนี้คือ การพัฒนาตนเองด้านตรรกะความคิดผ่านการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งทักษะเหล่านั้นล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นแก่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ โดยโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ตั้งใจบ่มเพาะให้เหล่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทุกคนมีทักษะเหล่านี้ติดตัวไป ถือได้ว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองเพื่อเป็นนวัตกรที่ดีของสังคมไทยในอนาคตต่อไป